Sunday, May 4, 2008

lonewolf ตอบปัญหาหัวใจ

ท่านเจ้าของ Blogspot ที่ผู้เขียนอาศัยพื้นที่ของเขาเขียนบ่นเรื่อยเปื่อยมาปีกว่า ๆ เขาได้มี feature ที่ให้ผู้อ่านสามารถเขียนคอมเมนต์หรือฝากข้อความไว้ให้กับผู้เขียนได้ด้วย ซึ่งผู้เขียนเองไม่ค่อยได้ไปดูเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ แต่เพราะไม่ค่อยมีคนคอมเมนต์ ดังนั้น ผู้อ่านท่านใดกรุณาแสดงความเห็นให้กับผู้เขียนจึงมักถูกทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน กว่าผู้เขียนจะไปอ่านเจอ แถมส่วนใหญ่เป็นพวกโฆษณาเวปโป๊ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคอมเมนต์ที่ให้กำลังใจ แสดงความเห็น ขอสมัครอ่านบล็อก ผู้เขียนน้อมรับด้วความเคารพและยินดียิ่ง

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายนที่ผ่านมา มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้โพสข้อความสอบถามความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" กับ "เศรษฐศาสตร์เมือง" ว่าต่างกันอย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ เพียงแค่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เพียงไม่กี่วิชา เนื่องจากสาขาที่เรียนต้องเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาประกอบด้วย จึงไม่แน่ใจว่าจะตอบได้ชัดเจนนัก แต่จะพยายามอย่างดีที่สุด

เรื่องความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" กับเ "เศรษฐศาสตร์เมือง" เป็นความแตกต่างกันของวิธีการแบ่งประเภท โดยหลักแล้วจะแบ่งชนิดของเศรษฐศาสตร์ออกเป็น ๒ ชนิด คือ
- เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ได้แก่พวก คลาสสิก นีโอคลาสสิก เคนเนเซียน
- เศรษฐศาสตร์ทางเลือก ได้แก่พวกแนวมาร์กซ จอร์เจียน ฯลฯ

ส่วน "เศรษฐศาสตร์เมือง" เป็นการเอา "เมือง" มาเป็นเป้าหมายหรือที่รองรับของแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเลือกพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะ Optimize ที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น หาคำตอบว่าจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้แหล่งวัตถุดิบหรือใกล้ตลาดหรือใกล้แหล่งแรงงานจึงจะ Opitmize ทีสุด "เศรษฐศาสตร์เมือง" มีหลายทิศทางจะเป็น "ชนิดของเศรษฐศาสตร์" ใดก็ได้ บางเมืองใช้เศรษฐศาสตร์เมืองแบบกระแสหลัก (ในอเมริกา) ส่วนบางเมืองก็ใช้เศรษฐศาสตร์ทางเลือก (ในยุโรป)

โดยสรุปก็คือ ความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์เมือง" กับ "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" อยู่ที่วิธีการพิจารณาแบ่งประเภทนั่นเอง

ไหน ๆ แล้ว ก็จะเล่าให้ฟังต่อไปว่า คนไทยมักคุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์เมืองแบบนีโอคลาสสิก (กระแสหลัก) ที่ให้ความสำคัญกับทุนนิยมและเทคโนโลยี แต่มีหลายประเทศในโลกที่พัฒนาได้อย่างดีด้วยเศรษฐศาสตร์ทางเลือก เช่น ประเทศเยอรมนีมีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ กลายเป็นระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จ มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเคียงได้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นกัน

ปล. แนวความคิดของมาร์กซไม่ใช่ "คอมมิวนิสต์" แบบที่เราตีความ "คอมมิวนิสต์" ที่ต่อต้านรัฐบาลกลางในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาก แต่เป็น "คอมมูนิซึ่ม" ที่ให้ความสำคัญกับความกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งการกระจายรายได้สามารถทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แนวความคิดของมาร์กซถูกตีความไปต่าง ๆ นานา เช่น สตาลิน เลนิน และเหมา ตีความเป็น "คอมมิวนิสต์" ที่ชนชั้นชาวนาคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ส่วนในเยอรมนีและยุโรปเหนือ แนวความคิดของมาร์กซถูกตีความเป็น "รัฐสวัสดิการแบบประชาธิปไตย"