ผู้เขียนได้หลงทางไปนั่งในที่ประชุมเสวนาของนักวิชาการเกี่ยวกับความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาแสดงความเห็นเพื่อเป็นตัวตั้งสำหรับกระบวนการพัฒนาของประเทศต่อไป ผู้เขียนพยายามสรุปความอย่างอคติ เพราะอาศัยพื้นฐานของตัวเองเป็นที่ตั้ง ได้ความดังนี้
- คำว่า "พัฒนาอย่างยั่งยืน" กำลังกลายเป็นสินค้าแบบสมัยนิยม ใคร ๆ ก็กระโดดเข้าใส่การพัฒนาอย่างยั่งยืนกันหมด เหมือนกับเมื่อสามปีที่แล้ว ผู้เขียนกลับมาประเทศไทยหลังจากไม่ได้อยู่มาห้าปี เจอกระแสชาเขียวเข้าอย่างจัง ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทยต้องมีชาเขียวเข้ามาประกอบด้วยเสมอ ตั้งแต่ของกิน ไปจนถึงเสื้อผ้าและของใช้ บางคนที่หยาบคายหน่อยถึงกับบอกว่า "ห่าอะไรก็ต้องเอาชาเขียวมาเป็นส่วนประกอบไว้ตลอด" ต่อมาก็เป็นกระแสนาโนเทคโนโลยี และตอนนี้จะเป็นกระแสโลกร้อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนไม่ลืมหูลืมตา และกลายเป็นแฟชั่นและสนใจแต่เพียงเปลือกนอก ไม่ได้สนใจแก่นแท้และองค์รวมทั้งหมด เช่น วัสดุก่อสร้างที่ออกมาโฆษณาว่ากันความร้อน ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม สินค้าเหล่านี้บางตัวประหยัดแค่ตัวผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ขั้นตอนอื่น ๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการทำลายเมื่อหมดอายุหรือเลิกใช้งานแล้ว สิ้นเปลืองพลังงานและทำลายสภาพแวดล้อมมากกว่าวัสดุประเภทอื่นที่เทียบเคียงกันได้ แต่ประหยัดพลังงานที่ขั้นตอนการใช้น้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น
- จะให้สังคมพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องชี้ให้ได้ว่า "ยั่งยืน" แล้วดีกว่าไม่ยั่งยืนอย่างไร เพราะธรรมชาติของมนุษย์แล้วจะทำอะไรอย่างหนึ่งเพราะดีกว่าไม่ทำ หรือทำอย่างอื่นเท่านั้น การที่คนในสังคมไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็เป็นเพราะการมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืน "ถูกกว่า" "ดีกว่า" "สะดวกกว่า" "สบายกว่า" การมีพฤติกรรมอย่างยั่งยืน เช่น การแยกขยะยุ่งยากกว่าทิ้งขยะรวมกันไปเลย เป็นต้น นั่นหมายความว่า จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จะต้องทำให้คนในสังคมได้รับประโยชน์จากความยั่งยืนอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเอาหลักการง่าย ๆ ว่าจะให้ใครทำอะไรตามที่เราต้องการ เราจะต้องมีอำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจในการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ แสดงว่า ต้องเอาแนวความคิดเรื่อง "ความยั่งยืน" ไปใส่ไว้ในกฎหมายและงบประมาณเป็นลำดับแรก
- คนในสังคมตีความหมายของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปต่าง ๆ นานา แตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง สนับสนุนไปด้วยกันได้บ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ซึ่งจะต้องหาจุดร่วมที่เป็นทิศทางเดียวกัน หรือมีพื้นฐานอย่างเดียวกันให้ได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องมีความหมายเหมือนกันทุกประการ แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกันจนเกิดปัญหา และที่สำคัญคือต้องเป็นความหมายที่มาจากพื้นฐานของวิถีไทย ไม่ใช่ลอกมาจากประเทศอื่น แล้วมาครอบหรือตีขลุมเอาเองว่าประเทศไทยต้องคิดแบบเดียวกับเขา แต่จะต้องสร้างความหมายของการพัฒนอย่างยั่นยืนที่สอดคล้องกับบริบทและตัวตนของคนไทย
- อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า ในประเทศอเมริกา กลายเป็นภาคเอกชนเป็นผู้ผลักดันด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวความคิด CSR (Corperate Social Responsibility) โดยเอามาเป็นประเด็นเพื่อแข่งขันกันทางธุรกิจ เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันคู่แข่งมีความสามารถเทียบเท่ากันทุกอย่างจนไม่มีประเด็นที่จะเอาชนะกันได้แล้ว ก็เลยต้องหาช่องทางการเอาชนะในรูปแบบใหม่ โดยเอากระแสโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมมาเป็นจุดขาย
นั่งฟังความเห็นต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็เกิดคำถามขึ้นกับตนเองว่า มนุษย์ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริง ๆ หรือ เป็นเพราะว่าสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืนแล้ว "แพงกว่า" การมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืนแค่นั้นแหละ เพราะที่เขาพูดกัน ก็พูดแต่ว่า ทำอย่างนู้นอย่างอย่างนี้แล้วประหยัดกว่าไม่ทำ เช่น ใช้วัสดุกันความร้อนแล้วประหยัดค่าไฟฟ้าลง การมีบ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทำให้ลดค่าเดินทางลง ก็คงเพราะทุกคนคิดแต่ Out-of-Pocket Cost หรือต้นทุนที่ตัวเองต้องจ่ายเป็นหลัก เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็เลยได้ข้อสรุปที่ถ่ายทอดออกมาจากสันดานของคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างผู้เขียนว่า ไอ้กระแส "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" และ "การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ก็เป็นแค่เรื่องลวงโลกที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาโดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดใหม่ของวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแหละ ผู้บริโภคไม่ได้สนใจหรอกว่าพฤติกรรมของฉันจะทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ยั่งยืนแค่ไหนก็ตาม แต่ขอให้ฉันจ่ายเงินน้อยลง แต่ยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิมได้เท่านั้นเอง เมื่ิอคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนจึงเขียนบนกระดาษว่า "Bull Shit" ตัวใหญ่ ๆ วางไว้บนโต๊ะแล้วเดินคอตกกลับบ้านไปนอนเปิดแอร์เบอร์ห้าให้ตัวเองเย็นสบาย แล้วปล่อยความร้อนผ่าน Condensing Unit ไปสู่สภาพแวดล้อมเมืองเหมือนเดิม