ผู้เขียนมักจะติดตามดูรายการข่าวด้านเศรษฐกิจอยู่เสมอ ๆ เมื่อติดตามหลายปีเข้าก็เกิดข้อสงสัย ลองสังเกตดูว่าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน คริสต์มาส ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากกว่าปกติเพื่อไปสนองพฤติกรรมที่ผูกพันมากับเทศกาลเหล่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว นักข่าวโทรทัศน์มักจะออกไปสัมภาษณ์แม่ค้าพ่อค้าตามตลาดหรือย่านการค้าสินค้าสำคัญต่าง ๆ เพื่อสอบถามว่า สถานการณ์การค้าขายสินค้าในช่วงเทศกาลเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในหัวของคนทั่วไปก็จะคิดว่าต้องมีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมากมายแน่นอน แต่ผลของการสัมภาษณ์นั้นมักจะแตกต่างจากความคิดที่อยู่ในหัวของคนทั่วไป แม่ค้าพ่อค้าจะตอบในทำนองว่า "ค้าขายได้ไม่ดี" "ปีนี้ไม่มีคนซื้อเท่าไหร่นัก" พอติดตามข่าวหลายปีเข้า ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมแม่ค้าพ่อค้าเขาตอบว่า "ขายไม่ดี" ได้ทุกปี ไม่ว่าปีนั้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดีหรือไม่ดีก็ตาม คำตอบจะเป็นอย่างเดิมเสมอ กลายเป็นความสงสัยติดอยู่ในใจของผู้เขียนว่า ถ้าไม่เห็นมีปีไหนที่เขาขายดี แล้วเขาขายอยู่ทำไม ทำไมจึงไม่เลิกขายของที่ขายไม่ดีแล้วไปทำอย่างอื่นเสียล่ะ
เมื่ออดกลั้นเอาความสงสัยไว้ไม่ได้ ก็เลยไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพาณิชย์ เขาหัวเราะหึหึกับความไม่เดียงสาของผู้เขียน เขาตอบว่า ไม่มีใครเขาตอบว่าขายดีหรอก อาจจะเป็นเพราะวิถีคนไทย ต้องบอกว่าไม่ได้ ไม่ดี ไม่สะดวกเอาไว้ก่อน เป็นสันดาน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามเขาว่าสบายดีไหม เรามักจะได้คำตอบว่าป่วยนู่นนิดนี่หน่อย ทั้ง ๆ ที่คนตอบไม่ได้เป็นอะไรหรอก และอาจจะเป็นเพราะถ้าบอกว่าขายดีจะโดนสรรพากรมาถามหาก็เป็นได้ แล้วคนที่กรุณาให้ความกระจ่างกับผู้เขียนได้ถอดรหัสคำตอบของแม่ค้าพ่อค้าเอาไว้ดังนี้
- ถ้าปากบอกว่า "ขายได้เรื่อย ๆ ไม่ได้มากมายอะไรนักหรอก" ความเป็นจริงคือ "ขายดีมาก ขายเป็นเทน้ำเทท่าเลยหละ"
- ถ้าปากบอกว่า "ไม่ค่อยดี" หรือ "ไม่ดีเท่าปีที่แล้ว" ความเป็นจริงคือ "ขายดีพอควร ตามที่คาดหวังเอาไว้ (ซึ่งมักจะคาดหวังไว้สูง"
- ถ้าปากบอกว่า "ขายไม่ดีเลย ปีนี้ลำบากจริง ๆ " ความเป็นจริงคือ "ขายได้บ้าง ไม่ขาดทุน" ถ้าขาดทุนฉันก็เลิกไปแล้ว ไม่หน้าด้านขายอยู่หรอก
- ถ้าขายไม่ดีจริง ๆ จะไม่ตอบ หรือด่าให้ด้วยซ้ำ
เมื่อผู้เขียนได้ความดังนั้น ก็เลยมาคิดต่อว่ารหัสที่แม่ค้าพ่อค้าได้คิดค้นขึ้น ถ่ายทอดมาจากสันดานของคนไทย ที่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าตนเองมีปัญหา มีอุปสรรค ไม่สมบูรณ์อยู่นะ เพื่อจะได้รับความเห็นใจ ความช่วยเหลือ (โดยเฉพาะจากภาครัฐ) และป้องกันตนเองจากการหมั่นไส้ เพราะคนไทยเห็นใครได้ดี จะต้องหาข้อเสียของเขามาพูดคุย (ใครดี จะพูดถึงสิ่งไม่ดี แต่ถ้าใครไม่ดีจะพยายามไปหาสิ่งดีของเขาให้ได้) ซึ่งดูแปลกดี แต่คนไทยก็อยู่กันได้ เพราะเราคุ้นเคยกับมัน แล้วก็เห็นเป็นเรื่องปกติ