Friday, May 9, 2008

จงลงทุนกับตนเอง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนนั่งฟังวิทยุรายการหนึ่ง เขาพูดให้ฟังว่า สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์แม็คอินทอชและไอพอด ได้กล่าวไว้ว่า "ชีวิตจะมีความสุขจะต้องทำ ๒ อย่าง คือ ๑.จงอย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต และ ๒.จงลงทุนกับตนเอง" ผู้เขียนก็รับฟังไว้เฉย ๆ เพราะเบื่อกับพวก Big Word เหล่านี้ ที่นิตยสารดัง ๆ มักจะไปสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหลายแหล่ แล้วก็มา re-write ให้มีคำที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนได้ เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ ผู้เขียนกำลังนอนดูหัวแม่เท้าตนเองเล่นไปวันวัน คำพูดของสตีฟ จ็อบส์ก็แวบเข้ามาในหัวอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เขียนต้องเสียเวลาพิจารณามันอยู่นานทีเดียว แล้วได้ข้อสรุปจากการทึกทักเอาเองว่า

- "จงอย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต" หมายถึงการใช้จ่ายอย่างสมกับรายได้และฐานะของตนเอง อย่าใช้จ่ายเกินตัว เพราะพฤติกรรมดังกล่าว จะนำตัวท่านเข้าสู่วงจรอุบาทว์ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องเอาหนี้ก้อนนู้นมาปะหนี้ก้อนหนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหนี้สินมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์ก็จะบีบบังคับให้ต้องทำบางอย่างที่ขัดกับหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย เช่น การเล่นการพนัน การค้ายาเสพติด เพื่อทำให้ตนเองหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน แต่ก็ย้ายไปสู่วงจรธุรกิจนอกกฎหมายแทน ดังนั้น การเริ่มต้นเป็นหนี้บัตรเครดิตก็คือการเริ่มก้าวเข้าสู่ความหายนะของชีวิตนั่นเอง นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ไม่มีบัตรเครดิตสักใบ เวลาที่มีพนักงานขายบัตรเครดิตติดต่อมา ผู้เขียนจะตอบไปตามตรงว่า ผู้เขียนมีเงินเดือนไม่ถึง ๑๕,๐๐๐ บาท (ซึ่งเป็นความจริงตามนั้น) พนักงานขายไม่สามารถตื๊อหรือต่อรองอะไรกับผู้เขียนได้เลย เพราะไม่มีธนาคารหรือบัตรเครดิตใดที่อนุญาตให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ บาทเป็นเจ้าของบัตรเครดิต ผู้เขียนจึงปลอดภัยอย่างถาวรจากหนี้บัตรเครดิต นับว่าเป็นโชคดีของผู้มีรายได้น้อยยิ่งนัก

- "จงลงทุนกับตนเอง" ข้อความนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก ผู้เขียนใช้เวลาคลี่คลายมันอยู่นาน ก็ได้คำตอบว่า การลงทุนกับตนเองคือการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับตนเอง ดีกว่าการลงทุนในหุ้น ทองคำ น้ำมัน สังหาและอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งนอกกาย จะยักย้ายถ่ายเท สูญหาย หรือถูกทำลายไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ผลที่ได้จากการลงทุนกับตนเอง จะอยู่ติดกับตัวผู้ลงทุนไปตลอดชีวิต ไม่มีใครมาแย่งไปจากผู้ลงทุนได้ การลงทุนกับตนเองมีหลายรูปแบบ เช่น การทำให้ตนเองมีความสุข (การดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อนหย่อนใจ) การทำให้ตนเองมีความรู้มากขึ้น (ทั้งในระบบและนอกระบบ) การทำให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรง (การออกกำลังกาย การทานอาหารอย่างถูกหลักสุขอนามัย) การทำให้ตนเองมีจิตใจสูงขึ้น (การฝึกจิตใจ การศึกษาธรรรม) ผลของการลงทุนเหล่านี้ นอกจากติดกับตัวผู้ลงทุนตลอดไปแล้ว ยังทำให้ตัวผู้ลงทุนมีสินทรัพย์ (Asset) ติดตัวมากขึ้นด้วย ส่งผลให้สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและสังคมต่อไป

เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อแล้ว จึงได้ข้อสรุปรวมสั้น ๆ ว่า "มนุษย์จะมีความสุขได้จะต้องไม่ทำให้ตนเองตกต่ำ หรือไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ตนเองเสื่อมลง แต่เท่านั้นยังไม่พอ มนุษย์ยังต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วย" เมื่อสามารถหาคำตอบได้ดังนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงขอขอบคุณท่านนักจัดรายการวิทยุรายการใดก็ไม่รู้ ที่ผู้เขียนบังเอิญไปได้ฟัง ที่ได้มาถ่ายทอดแนวคิดของสตีฟ จ็อบส์ที่เป็นตัวตั้งของความคิดอันวุ่นวาย และยังส่งผ่านความขอบคุณไปยังหัวแม่เท้าข้างขวาของผู้เขียน ที่เป็นตัวจุดประกายให้ผู้เขียนเริ่มพยายามคลี่คลายแนวความคิดดังกล่าว ด้วยพื้นฐานของตัวผู้เขียนเอง สาธุ