Sunday, May 4, 2008

วิกฤติพลังงานและอาหารมีพื้นฐานจากวิกฤติทางจริยธรรม

ผู้เขียนเคยวิพากษ์มาหลายครั้งเกี่ยวกับวิกฤติพลังงานและวิกฤติอาหารในแง่มุมต่าง ๆ และเมื่อพอพิจารณาให้ถึงรากของปัญหาแล้วสามารถแยกสาเหตุของปัญหาออกเป็นสองส่วน
- ส่วนแรกคือสาเหตุอันเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับ Demand และ Supply ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่ออุปสงค์กับอุปทานไม่สอดคล้องกันก็เกิดปัญหา อันนี้ยังเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น Demand-side Strategy ที่แก้หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ขาดแคลน เช่น ลดการเดินทางที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนมากินกาแฟดำไม่ต้องใส่น้ำตาล เป็นต้น หรือ Supply-side Strategy คือการเพิ่มปริมาณของสิ่งที่ขาดแคลนให้เพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เพิ่มการผลิตน้ำมัน เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวและอ้อย เป็นต้น ซึ่งปัญหาในส่วนแรกนี้เป็นเรืองตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เห็นกับชัด ๆ ว่าปริมาณสิ่งที่มนุษย์ต้องการกับสิ่งที่มนุษย์ผลิตได้ไม่สอดคล้องกัน ก็ทำให้มันสอดคล้องเท่านั้น
- ส่วนที่สองคือสาเหตุอันเกิดจากจริยธรรมของมนุษย์ ที่มุ่งที่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่ตนเองและพรรคพวก คนอื่นจะเดือดร้อนอย่างไรฉันไม่สนใจ ดังนั้น เมื่อเห็นว่าเกิดวิกฤติพลังงานและอาหาร คนกลุ่มนี้ก็หาทางทำให้ตนเองได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนต่าง ๆ เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูง ผนวกกับเศรษฐกิจของประเทศอเมริกามีปัญหา ก็ถอนเงินออกจากหน่วยลงทุนในอเมริกา มาสู่ตลาดน้ำมันด้วยการซื้อแบบล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นไปอีก เพราะมี Demand ที่ไม่มีความต้องการในการใช้จริงเข้ามาเพิ่มกับ Demand ใช้จริงที่มากกว่า Supply อยู่แล้ว ทีการประเมินไว้ตอนที่น้ำมันดิบบาร์เรลละ ๑๑๐ ดอลลาร์ว่า ราคาตาม Demand จริงอยู่ที่แปดสิบกว่าเหรียญเท่านั้น ส่วนต่างอีกเกือบสามสิบเหรียญเกิดจากการเก็งกำไร นั่นหมายความว่า เราใช้น้ำมันในราคาที่เกินกว่าที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ ๓๐ ซึ่งพฤติกรรมการเก็งกำไรไม่ได้มีอยู่แต่ในตลาดน้ำมันเท่านั้น ตลาดสินค้าอื่น ๆ ก็เป็นแบบเดียวกัน

ผู้เขียนมีความเห็นว่าปัญหาส่วนที่สองเป็นเรื่องวิกฤติกว่าวิกฤติใด ๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ยอมรับได้กับสาเหตุของปัญหาส่วนที่หนึ่ง ที่มี Supply น้อยเมื่อเที่ยบกับ Demand แล้วทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่สาเหตุจากจริยธรรมเป็นเรื่องทีสังคมยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการได้ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector) แต่เกิดจากการบิดเบือนกลไกตลาด สร้างความต้องการที่เกินกว่าความต้องการที่แท้จริง คนที่ต้องการใช้จริง ๆ ไม่มีโอกาสได้ใช้สินค้าเหล่านั้นเพราะมีคนที่ไม่ต้องการใช้เอาไปเก็บไว้จนสินค้าขาดตลาดและมีราคาสูงเกินกว่าที่ผู้ที่มีรายได้ไม่มากนักจะซื้อหามาใช้งานได้ และผลกระทบไม่ได้จบแค่นั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงความแตกต่างระหว่างรายได้ ชนชั้น กลุ่มบุคคล ไปถึงการต่อต้านระบบทุนนิยม และความขัดแย้งในระดับโลก