การสื่อสารของมนุษย์ทำได้หลายวิธี ทั้ง การใช้ภาษา สัญลักษณ์ ท่าทาง สีหน้า ฯลฯ ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์และข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับด้านการจราจรซึ่งผู้สัญจรอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำกัด จึงต้องมีการสื่อสารแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องใช้เสียงเข้ามาประกอบ และในกรณ๊ที่ต้องการสื่อสารในเวลาที่ไม่มีแสงธรรมชาติมากนัก ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์ทางแสงเข้ามาเกี่ยวข้อง
สัญลักษณ์ทางการสัญจรส่วนใหญ่จะเป็นสากล อาจเป็นรูปแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อลดข้อจำกัดด้านภาษา ทั้งความเข้าใจและพื้นที่ในการสื่อสาร แต่มีการให้สัญญาณอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยแตกต่างในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการเข้าใจความหมายของประเทศอื่น ๆ ในโลก นั่นคือความหมายของ "การเปิดไฟสูง" ที่เป็นการสื่อสารว่า ไม่ให้เธอไป เพราะฉัน (ผู้เปิดไฟสูง) จะไปนะ ในขณะที่สัญญาณ "การเปิดไฟสูง" ในต่างประเทศ คือ การให้ทาง เป็นการอนุญาตให้อีกฝ่ายหนึ่งไปได้ ฉัน (ผู้เปิดไฟสูง) จะหยุดให้เธอไปก่อน
สำหรับประเด็นด้านความปลอดภัยของการเปิดไฟสูง มีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายว่าการให้สัญญาณไฟสูงแบบประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าวิธีการของประเทศตะวันตก ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
- การเปิดไฟสูงแบบไทย (ผู้ให้สัญญาณเป็นผู้จะไป ไม่อนุญาตให้ผู้รับสัญญาณไปได้) ผู้ให้สัญญาณไฟสูงจะขับขี่ด้วยความเร็วอยู่แล้ว ซึ่งต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ ยังต้องมีภาระมาเปิดไฟสูงอีก อีกทั้งยังต้องพึ่งพากับความเสถียรของการเปิดไฟอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางวัน ผู้ให้สัญญาณไฟสูงจะทราบได้อย่างไรว่า ไฟสูงของตนเองใช้งานได้ดี และผู้ที่เป็นเป้าหมายรับสัญญาณไฟสูงได้รับสัญญาณที่ให้ออกไปอย่างถูกต้อง
- การเปิดไฟสูงแบบตะวันตก (ผู้ให้สัญญาณอนุญาตให้ผู้รับสัญญาณไปได้) ผู้ที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูงไม่ต้องมีภาระเพิ่มจากการต้องให้สัญญาณกับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีปัญหาการสื่อสารถ้าไฟสูงเสียเพราะผู้ให้สัญญาณหยุดอยู่กับที่
สำหรับประเด็นด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงตรงนี้ถูกตีความหมายในเชิงวัฒนธรรมที่กลับทิศทางกัน
- สำหรับวัฒนธรรมไทย พลเมืองทำอะไรได้ทุกอย่างถ้าไม่ถูกห้าม ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้ทำอะไรก็ต้องมีการห้ามปราม ส่งผลให้สิ่งที่เป็นระเบียบสังคมแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วิถีประชา จารีตประเพณี ไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพึ่งพากฏหมายที่มีบทลงโทษถ้าไม่ทำตามข้อห้ามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นำไปสู่การเกิดวัฒนธรรมศรีธนญชัย ที่จะต้องมีการตีความอย่างเข้าข้างตนเองมากมาย เช่น คนที่ประกาศห้ามมีอำนาจหน้าที่ในการห้ามหรือเปล่า การห้ามอย่างนี้เกี่ยวข้องกับฉันด้วยหรือไม่ ฯลฯ เกิดวิถีแบบใครดีใครได้ คนที่มีชั้นเชิงและลูกเล่นมากกว่าก็เอาเปรียบคนอื่น ๆ ได้ จะกอบโกยเอาประโยชน์เข้าตัวมากเท่าไหร่ก็ได้ถ้าหาช่องทางให้ไม่ถูกห้ามได้
- สำหรับวัฒนธรรมตะวันตก จะทำอะไรได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำเท่านั้น โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองเป็นสำคัญ ดังนั้น ทุกคนจะทราบว่าฉันมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง และสิทธิ์นั้นเท่าเทียมกันทุกคน ไม่อนุญาตให้ศรีธนญชัยมาตีความว่าใครคนใดคนหนึ่งจะมีสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันจากรากฐาน และส่งผลให้เกิดการกระจายการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันเป็นกรอบที่อนุญาตให้มาตั้งแต่ต้นแล้ว
พอนั่งคิดเสร็จก็กลับมานั่งกลุ้มใจว่าผู้เขียนคิดมากเกินไปหรือเปล่า กับไอ้แค่ความแตกต่างของการให้สัญญาณไฟสูงแค่นี้ ตีความไปใหญ่โต มันอาจเป็นแค่การเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แล้วก็กลายเป็นการใช้งานที่แตกต่างกัน ไม่เกี่ยวกับรากฐานของความคิดแต่อย่างใดก็ได้