Saturday, May 31, 2008

วิกฤติพลังงาน ประเทศไทยติดบ่วงการบิดเบือนกลไกตลาด

ขอเขียนเรื่องวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะยิ่งสืบค้นและติดตามพัฒนาการของการบริโภคพลังงานในประเทศไทยไปลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นรูรั่วเต็มไปหมด และเมื่อหลายวันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ใช้รถกระบะที่เติมน้ำมันดีเซล เขาบอกว่าตอนนี้ลำบากมากเพราะน้ำมันดีเซลแพงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐจะให้เงินสนับสนุนเพื่อตรึงราคาให้อยู่ในระดับที่ประชาชนแบกรับไหว อีกทั้งจะเปลี่ยนหนีไปใช้พลังงานทดแทนแบบอื่นก็เป็นไปไม่ได้เสียอีก เพราะเครื่องยนต์ดีเซลไม่มีหัวเทียน จะติดแก๊สไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ CNG ก็ต้องปรับแต่งลูกสูบซึ่งมีต้นทุนสูงเกินกว่าที่จะใช้งานแล้วคุ้มทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม

พอไปนั่งอ่านหนังสือซื้อขายรถมือสอง ก็พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือโฆษณาขายรถเครื่องดีเซลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะหรือรถตรวจการณ์ จะมีข้อความระบุไว้ว่า "ไม่เคยบรรทุกหนัก" หรือ "ไม่เคยลุย" ประกอบอยู่ในโฆษณาหลายชิ้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า อ้าวแล้วซื้อรถที่ใช้เครื่องดีเซลมาใช้ทำไม เพราะหลักการของการใช้งานรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคือใช้กับงานหนัก เช่น งานบรรทุก งานที่จะต้องวิ่งบนพื้นที่มีความต่างระดับกันมาก ดังนั้นเมื่อเป็นรถที่ใช้งานหนักจึงต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงอย่างเครื่องยนต์ดีเซล และที่ตามมากกับกำลังที่สูงขึ้นก็คือราคาน้ำมันดีเซลก็ต้องสูงตามไปด้วย

เมื่อไปสืบค้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็พบว่าในปัจจุบันน้ำมันเบนซินราคาบาร์เรลละ ๑๒๐ เหรียญปลาย ๆ ในขณะที่น้ำมันดีเซลราคาบาร์เรลละ ๑๖๐ เหรียญปลาย ๆ และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ ก็ล้วนแต่ตั้งราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าน้ำมันเบนซิน เพราะน้ำมันดีเซลใช้งานในภาคการขนส่ง รถที่ใช้ก็ต้องใช้กำลังมาก จึงต้องเอาไว้ใช้สำหรับการขนส่งเท่านั้น ไม่นำมาใช้กับการขนส่งบุคคลแบบส่วนบุคคล เช่น รถยนต์ส่วนตัว

แต่สำหรับประเทศไทย เรายอมรับว่ารายได้ของประชาชนต่ำเกินกว่าที่จะแบกรับค่าขนส่งแบบไม่มีการชดเชยได้ ภาครัฐจึงเอาภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาเป็นเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ใช้กับการขนส่งเท่านั้น เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้รถหรือไม่ใช้รถก็ตาม ก็จะได้ซื้่อสินค้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการคิดตามราคาจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งผู้ซื้่อและผู้ขายรถยนต์ก็เห็นช่องทางดังกล่าวว่าจะเอาภาษีของประชาชนที่ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาเป็นประโยชน์กับตนเองได้ จึงมีการผลิตรถยนต์และรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลออกมาจำหน่าย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้สำหรับการขนส่ง แต่ใช้เหมือนกับรถยนต์ส่วนตัว คือมีคนนั่งคนเดียวหรือไม่เกินสองสามคน และไม่เคยขนของหนักหรือวิ่งลุยในป่าในเขา ผลที่ตามมาก็คือ มีความต้องการสูงขึ้นในการใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาต้นทุนจริงสูงอยู่แล้ว เมื่อ Demand มาก และ Supply น้อย ราคาก็สูงขึ้นตามธรรมชาติ เงินที่ภาครัฐต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแทนที่จะใช้ในภาคการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนเท่านั้นก็ต้องมาใช้ในการขนส่งบุคคลแบบส่วนตัว ผู้ที่ใช้รถกระบะแบบสี่ประตูวิ่งในเมือง ไม่เคยขนสินค้าหนัก ๆ หรือที่ใช้รถ SUV ที่วิ่งในเมืองเพื่อให้ดูเป็นหนุ่มสาวสปอร์ต มีรสนิยมสูงจงสำเหนียกเอาไว้เถิดว่าท่านเอาเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาใช้เพื่อสนองตัณหาตนเองเท่านั้น ท่านก็ไม่ได้ต่างจากนักการเมืองที่ท่านด่าเช้าด่าเย็นแต่อย่างใด

ในทางวิชาการด้านการขนส่งระบุเอาไว้ว่า โครงสร้างต้นทุนของการขนส่งประกอบด้วยสามส่วน คือ ต้นทุนที่เกิดกับผู้ใช้งาน/ผู้เดินทาง ต้นทุนที่เกิดกับผู้ให้บริการ และต้นทุนที่เกิดกับสาธารณะ (คนทั้งหมดไม่ว่าจะเดินทางหรือไม่เดินทางก็ตาม เช่น สภาพอากาศที่เสียไปจากควันของรถ เป็นต้น) สำหรับประเทศไทยแล้่ว เรา "ติดบ่วงตนเอง" เพราะการที่ภาครัฐชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเป็นการลดต้นทุนของผู้ใช้งานให้เล็กลง เพื่อให้ใช้งานได้ถูกลง แต่ต้นทุนทั้งหมดไม่ได้ลดไปด้วย เมื่อลดราคาที่ผู้ใช้งาน ต้นทุนที่ผู้ใช้งานไม่ได้แบกรับไปก็ต้องไปตกอยู่กับผู้ให้บริการและสาธารณะ แล้วปล่อยให้เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี จะมาแก้ไขตอนนี้ก็ไม่ทันเสียแล้ว ตอนนี้ก็เลยได้แต่สมน้ำหน้าคนใช้รถเครื่องดีเซลที่เอามาใช้ในเมือง ไม่เคยขนของ ไม่เคยลุยในป่า ก็แบกรับราคาไปแล้วกัน

อีกเรื่องที่อยากจะบันทึกไว้คือการใช้แก๊ส CNG ตอนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ภาครัฐก็พยายามสนับสนุนให้มีการใช้รถ CNG ให้มากที่สุด และเปิดปั๊มแก๊สให้มากขึ้นและทั่วทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาว่าจะเติมแก๊สแต่ละทีหาปั๊มยาก และถ้าเจอก็มักจะแก๊สหมดเสมอ แต่การขนส่งด้วยรถบรรทุกคงใช้ไม่ได้ในอนาคตเมื่อมีความต้องการในการใช้งานสูงขึ้นมาก (ขนาดจะเข้ามาแทนน้ำมันให้ได้) ดังนั้นการขนส่งแก๊สต้องคิดใหม่ เอาแบบที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การขนส่งด้วยระบบท่อไปยังศูนย์กลางภาคหรืออนุภาค (Regional / Sub-Regional Hub) แล้วจากนั้นก็อาจใช้รถบรรทุกขนส่งระยะสั้นไปยังปั๊มแก๊สในขอบเขตให้บริการของศูนย์กลาง พอหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เลยทราบว่า ตอนนี้มีโครงการจะสร้างท่อขนส่งแก๊ส CNG ไปยังศูนย์กลางภาค ๑๓ แห่ง "แต่ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม" สาธุ

ความสับสนแห่งทิศทางการพัฒนาประเทศไทย

ผู้เขียนในฐานะประชาชนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์ มีอิทธิพลต่การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด กำลังเกิดความสับสนอย่างมากต่อทิศทางการพัฒนาประเทศไทย หลายครั้งหลายหนที่จับพลัดจัดผลูเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ และตัวแทนของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแสดงความเห็น ผู้เขียนนั่งเกาหัวฟังพวกเขาแสดงวิสัยทัศน์อันเฉียบคมแล้วก็กลับบ้านไปด้วยความงง ไม่มีครั้งใดที่ผู้เขียนจะสรุปได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร นี่ขนาดผู้เขียนเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นข้าราชการที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบให้สอดคล้องกับทิศทางการก้าวไปของประเทศ และไม่ได้เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะต้องพึ่งพาความเสถียรของทิศทางการพัฒนาเพื่อการตัดสินใจในการลงทุน

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนพยายามจะจับจากวิสัยทัศน์ที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย ฟังแล้วน่าเชื่อถือ ก็ได้ความว่า คนบางกลุ่มกำลังกังวลถึง "ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" คนกลุ่มนี้มักจะบ่นว่า ในอดีตเราเคยแข่งกับญี่ปุ่น ต่อมาก็ลดระดับลงมาแข่งกับสิงคโปร์ และตอนนี้กำลังจะแพัเวียดนาม ต่อไปก็คงจะแพ้ลาวและกัมพูชา ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งก็กำลังกล่าวถึงความสุขของประชาชน ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจในวาทกรรมของ "เศรษฐกิจพอเพียง" แล้วตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ที่น่าสับสนกว่านั้นก็คือ ผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยเองก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหนกันแน่ และสองทิศทางนี้แตกต่างกันอย่างไร เพราะมีบางครั้งที่ผู้พูดคนเดียวกัน ตอนต้นบ่นว่าเรากำลังแพ้ประเทศอื่น ๆ เขาทั้งหมด แล้วอีกไม่กี่นาทีถัดมาก็พูดว่าเราจะต้องพัฒนาด้วยแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้าเราตั้งเอาว่า ทิศทางในการพัฒนาประเทศจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญสามอย่าง คือ หนึ่งต้องทำให้ประเทศชาติและประชาชนพัฒนาไปในทางที่ดี สองคือสามารถทำได้จริงตามศักยภาพของประเทศและประชาชน และที่สำคัญที่สุด คือ สาม ประชาชนคนปกติที่มีระดับสติปัญญาไม่ทึบต้องเข้าใจได้ว่ามีทิศทางอย่างไร จะได้เดินไปหาจุดหมายเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงและไม่เหยียบเท้ากันเองเพราะเดินกันคนละทิศ แล้วถ้าประชาชนยังสับสนระหว่าง "แข่งขัน" กับ "พอเพียง" อยู่จะเดินไปด้วยกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนา ลองคิดดูว่า ถ้าจะวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า จะวางแผนแบบ "พอเพียง" เพื่อให้ถนนสีลมมีไฟฟ้าใช้อย่างประหยัด รองรับธุรกิจภายในประเทศเท่านั้น ติดต่อกับต่างประเทศนิดหน่อยเท่าที่จำเป็น กับจะวางแผนแบบ "แข่งขัน" เพื่อให้ถนนสีลมเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางสองทางนี้ต้องการระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีวิธีการที่แตกต่าง มีการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็แตกต่างกัน และถ้าคิดไปในโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างระบบคมนาคมขนส่ง การวางแผนระบบคมนาคมภายในประเทศเพื่อภายในประเทศเอง กับการวางเพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก็แตกต่างกันอีก

เมื่อสับสนมากมากเข้า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนก็คือ ช่วยกรุณาเลือกว่าจะเอาทางใดทางหนึ่ง (อย่างน้อยก็ควรจะบอกได้ว่า แนวทางใดเป็นหลัก แนวทางใดเป็นแนวทางรอง) จะทางไหนก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทิศทางเพื่อ "แข่งขัน" หรือ "พอเพียง" ต่างก็สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้เช่นกัน เพียงแต่จะสุขแบบใดเท่านั้น แต่ถ้าไม่เลือกทางใดทางหนึ่งให้ชัด การเดินหน้าก็จะไปคนละทาง แถมยังขัดแย้งกันอีกด้วย ซึ่งจะต้องมาแบกรับต้นทุนของความขัดแย้งมากขึ้นอีก เลยขอฝากทุกท่านที่หลงเข้ามาอ่านช่วยบอกผู้ใหญ่ผู้โตและผู้มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทีเถิดว่าจะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง อย่างเหยียบเรือสองแคมกันอยู่เลย

Friday, May 30, 2008

ถอดรหัสแม่ค้า

ผู้เขียนมักจะติดตามดูรายการข่าวด้านเศรษฐกิจอยู่เสมอ ๆ เมื่อติดตามหลายปีเข้าก็เกิดข้อสงสัย ลองสังเกตดูว่าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน คริสต์มาส ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากกว่าปกติเพื่อไปสนองพฤติกรรมที่ผูกพันมากับเทศกาลเหล่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว นักข่าวโทรทัศน์มักจะออกไปสัมภาษณ์แม่ค้าพ่อค้าตามตลาดหรือย่านการค้าสินค้าสำคัญต่าง ๆ เพื่อสอบถามว่า สถานการณ์การค้าขายสินค้าในช่วงเทศกาลเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในหัวของคนทั่วไปก็จะคิดว่าต้องมีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมากมายแน่นอน แต่ผลของการสัมภาษณ์นั้นมักจะแตกต่างจากความคิดที่อยู่ในหัวของคนทั่วไป แม่ค้าพ่อค้าจะตอบในทำนองว่า "ค้าขายได้ไม่ดี" "ปีนี้ไม่มีคนซื้อเท่าไหร่นัก" พอติดตามข่าวหลายปีเข้า ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมแม่ค้าพ่อค้าเขาตอบว่า "ขายไม่ดี" ได้ทุกปี ไม่ว่าปีนั้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดีหรือไม่ดีก็ตาม คำตอบจะเป็นอย่างเดิมเสมอ กลายเป็นความสงสัยติดอยู่ในใจของผู้เขียนว่า ถ้าไม่เห็นมีปีไหนที่เขาขายดี แล้วเขาขายอยู่ทำไม ทำไมจึงไม่เลิกขายของที่ขายไม่ดีแล้วไปทำอย่างอื่นเสียล่ะ

เมื่ออดกลั้นเอาความสงสัยไว้ไม่ได้ ก็เลยไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพาณิชย์ เขาหัวเราะหึหึกับความไม่เดียงสาของผู้เขียน เขาตอบว่า ไม่มีใครเขาตอบว่าขายดีหรอก อาจจะเป็นเพราะวิถีคนไทย ต้องบอกว่าไม่ได้ ไม่ดี ไม่สะดวกเอาไว้ก่อน เป็นสันดาน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามเขาว่าสบายดีไหม เรามักจะได้คำตอบว่าป่วยนู่นนิดนี่หน่อย ทั้ง ๆ ที่คนตอบไม่ได้เป็นอะไรหรอก และอาจจะเป็นเพราะถ้าบอกว่าขายดีจะโดนสรรพากรมาถามหาก็เป็นได้ แล้วคนที่กรุณาให้ความกระจ่างกับผู้เขียนได้ถอดรหัสคำตอบของแม่ค้าพ่อค้าเอาไว้ดังนี้

- ถ้าปากบอกว่า "ขายได้เรื่อย ๆ ไม่ได้มากมายอะไรนักหรอก" ความเป็นจริงคือ "ขายดีมาก ขายเป็นเทน้ำเทท่าเลยหละ"
- ถ้าปากบอกว่า "ไม่ค่อยดี" หรือ "ไม่ดีเท่าปีที่แล้ว" ความเป็นจริงคือ "ขายดีพอควร ตามที่คาดหวังเอาไว้ (ซึ่งมักจะคาดหวังไว้สูง"
- ถ้าปากบอกว่า "ขายไม่ดีเลย ปีนี้ลำบากจริง ๆ " ความเป็นจริงคือ "ขายได้บ้าง ไม่ขาดทุน" ถ้าขาดทุนฉันก็เลิกไปแล้ว ไม่หน้าด้านขายอยู่หรอก
- ถ้าขายไม่ดีจริง ๆ จะไม่ตอบ หรือด่าให้ด้วยซ้ำ

เมื่อผู้เขียนได้ความดังนั้น ก็เลยมาคิดต่อว่ารหัสที่แม่ค้าพ่อค้าได้คิดค้นขึ้น ถ่ายทอดมาจากสันดานของคนไทย ที่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าตนเองมีปัญหา มีอุปสรรค ไม่สมบูรณ์อยู่นะ เพื่อจะได้รับความเห็นใจ ความช่วยเหลือ (โดยเฉพาะจากภาครัฐ) และป้องกันตนเองจากการหมั่นไส้ เพราะคนไทยเห็นใครได้ดี จะต้องหาข้อเสียของเขามาพูดคุย (ใครดี จะพูดถึงสิ่งไม่ดี แต่ถ้าใครไม่ดีจะพยายามไปหาสิ่งดีของเขาให้ได้) ซึ่งดูแปลกดี แต่คนไทยก็อยู่กันได้ เพราะเราคุ้นเคยกับมัน แล้วก็เห็นเป็นเรื่องปกติ

Sunday, May 25, 2008

ทำไมอยู่ในอาคาร ยังต้องกางร่มกันอีก

มนุษย์สร้าง "สิ่งกำบัง" (Shelter) ก็เพื่อปกป้องตนเองจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสิ่งกำบังที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คืออาคาร ที่ทำหน้าที่กันแดด กันฝน อาคารบางประเภทก็มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้มนุษย์ที่อยู่ด้านในมีความสะดวกสบายมากขึ้น และ "ท่าอากาศยาน" ก็นับเป็นอาคารประเภทหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระหว่างยานพาหนะทางบกกับทางอากาศ และมีฐานะเป็นสิ่งกำบังอย่างหนึ่ง ที่เราคาดหวังว่าอาคารแห่งนี้จะป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี




แต่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ น่าสงสัยว่าอยู่ในอาคารทำไมเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ก็ยังมีร่มสนามอยู่แทบทุกเคาน์เตอร์ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นการสร้างบรรยากาศแบบตะวันตกให้กับท่าอากาศยานที่ทึกทักตนเองว่าเป็นศูนย์กลางของเอเชีย แต่พอสืบค้นเข้าจริง ๆ กลับไม่ใช่เหตุผลนั้น แต่การที่มีร่มก็เพราะว่าอาคารหลังนี้มีพื้นที่ต่อเนื่องขนาดใหญ่เพื่อรองรับคนจำนวนมาก จึงต้องมีปริมาตร (Volume) ขนาดใหญ่ตามไปด้วย อาคารจึงมีระยะจากพื้นถึงเพดานสูงมาก และผนังก็เป็นกระจกทั้งหมด ผลก็คือ แสงแดดส่องเข้ามาในอาคารได้อย่างสะดวกโยธิน ผู้โดยสารที่ไปใช้งานสนามบินคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะอยู่เพียงชั่วคราว เคลื่อนที่อยู่ตลอด และสามารถย้ายตัวเองหลบแดดได้ แต่พนักงานในเคาน์เตอร์บริการเหล่านั้นต้องนั่งทำงานทั้งวัน และย้ายหลบแดดก็ไม่ได้ จึงต้องเอาร่มมาตั้งเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก น่าสงสัยว่า ผู้ออกแบบอาคารทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้อย่างไร อย่าไปโทษ Helmut Jahn สถาปนิกผู้ออกแบบเพียงคนเดียวเลย พวกสถาปนิกผู้ประสานงานคนไทยก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้ด้วยเช่นกัน

นึกภาษาไทยไม่ออก

ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีป้ายบอกทางไว้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทาง และเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีคนหลายชาติหลายภาษามาใช้งาน จึงจำเป็นต้องทำป้ายบอกทางเป็นสองภาษา โดยศัพท์บางคำก็เป็นภาษาไทยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ และบางคำก็ต้องแปลภาษาอังกฤษกลับมาเป็นภาษาไทย


ผู้เขียนไปสะดุดกับป้ายบอกตำแหน่งป้ายรถโดยสารสาธารณะประเภทต่าง ๆ ในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เห็นได้ว่าเขาพยายามจะใช้ทั้งสองภาษาโดยไม่ใช้คำทับศัพท์ Shuttle Bus ก็ใช้คำว่า "รถเวียน" Public Bus ใช้กับ "รถโดยสาร ขสมก." แต่ก็มีรถอยู่ประเภทเดียวที่นึกคำภาษาไทยไม่ออก ต้องใช้คำทับศัพท์ คือ "รถแอร์พอร์ต เอ็กซ์เพรส" คิดไปคิดมา ก็น่าจะแปลได้ว่า "รถด่วนสนามบิน" แต่ก็คงไม่สื่อว่าจะวิ่งไปไหน เพราะคนที่จะเห็นป้ายนี้จะออกจากสนามบิน ไม่ได้เข้ามาสนามบิน แล้วรถด่วนสนามบินเขาจะวิ่งออกจากสนามบินไปไหนกันนะ

มหาวิทยาลัยกับสุขอนามัยของบุคลากร

ในความคิดของคนทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ทั้งเป็นแหล่งความรู้ ความคิด และตัวอย่างทางสังคมในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น คนในสังคมจึงตั้งความหวังไว้สูงยิ่งกับมหาวิทยาลัย ว่าจะเป็นสถานที่ที่ดี มีมาตรฐานสูงในทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านความสะอาดและสุขอนามัย


แต่ภาพด้านบนนี้ได้ล้มล้างความคาดหวังของคนในสังคมลงอย่างสิ้นเชิง ตู้น้ำดื่มนี้ตั้งอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และโฆษณาตนเองว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ไส้กรองน้ำกลับไม่ได้รับการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง และเปลี่ยนไส้กรองตามวงรอบเวลาที่ถูกต้อง จึงเกิดเป็นตะไคร่เกาะอยู่กับไส้กรองเต็มไปหมด ประสิทธิภาพในการกรองน้ำให้สะอาดคงใช้ไม่ได้ แถมด้วยเชื้อโรคจากตะไคร่เหล่านั้นเข้าไปอีก พิจารณาดูว่าถ้ามีตะไคร่มากขนาดนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นในวันสองวันแน่ แต่ต้องผ่านการเติบโตเป็นเวลานาน น่าสงสัยว่าผู้รับผิดชอบเขาทำอะไรกันอยู่ จึงละเลยเรื่องสุขอนามัยของเด็ก ๆ กันได้ขนาดนี้

Saturday, May 24, 2008

"นักการเมือง" ในสายตาของคึกฤทธิ์

เมื่อก่อนผู้เขียนไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทางธุรกิจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวของผู้เขียนเสียเหลือเกิน การงานก็ผูกพันกับภาครัฐ เคยหยิบมาอ่านแล้วก็ไม่ถูกโรค ไม่เข้าใจข้อเขียนต่าง ๆ ในนั้นเท่าไหร่นัก แต่เมื่อสักสองสามปีที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่และคนรู้จักหลายท่านได้ให้เกียรติผู้เขียนให้เข้าไปช่วยงานด้านธุรกิจต่าง ๆ หลายแห่ง เพราะเห็นว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่แม้ว่าจะอิงอยู่กับงานภาครัฐแต่ก็เป็นประโยชน์ต่องานด้านธุรกิจ เมื่อผู้เขียนเข้าไปทำงานเหล่านั้น ก็กลายเป็นการบังคับให้ติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ โดยผ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร และนิตยสารทางธุรกิจต่าง ๆ แต่การอ่านอย่างมีเป้าหมายคราวนี้ ทำให้ผู้เขียนเห็นประโยชน์ของหนังสือเหล่านั้น ผู้เขียนพบว่า การวิเคราะห์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจของหนังสือด้านธุรกิจเป็นสิ่งที่จับต้องได้และแสดงถึงผลที่เป็นรูปธรรมกว่าหนังสือพิมพ์ธรรมดา เพราะหน่วยธุรกิจต้องการข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีผลต่อองค์กรมากกว่าการอ่านแล้วผ่านไปอย่างการอ่านหนังสือธรรมดา

แล้ววันนี้ ผู้เขียนก็พบบทความที่น่าสนใจอีกหนึ่งบทความ จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ หน้า ๔๒ คอลัมน์ "ประชาชาติปริทัศน์" เรื่องบันทึก-บันทุกข์ ของจรัญ ยั่งยืน ซึ่งเจ้าของบทความได้อ้างถึงหนังสือ "โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล" ของ พลตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักการเมือง คือ อำนาจ แต่นักการเมืองทุกคนจะไม่ยอมรับข้อนี้ แต่ละคนจะต้องอ้างว่าตัวบำเพ็ญกรณีเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง หรือเพื่อแผ่นดิน หรือเพื่อประชาธิปไตย"

ในหนังสือของท่านคึกฤทธิ์ยังเขียนต่อไปว่า "ความจริงนั้น อำนาจเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องการมากที่สุด เมื่ออำนาจเป็นยอดปรารถนาอย่างนี้แล้ว อำนาจจึงเป็นสิ่งที่กำหนดการกระทำของนักการเมืองในทุกกรณี...ความรัก ความโกรธ หรือคุณโทษ อำนาจเหมือนยาเสพย์ติด ถ้าได้มาแล้วก็ย่อมวางไม่ลง และย่อมจะต้องการอยู่เสมอ ไม่มีวันพอได้ ฉะนั้นเราจะเห็นว่านักการเมืองโดยทั่วไปบำเพ็ญกรณีเพื่อแสวงหาอำนาจ เมื่อได้มาแล้วก็อยากได้ต่อไปอีก ในที่สุดอำนาจนั่นเองก็ทำลายตนลงไป"

"อำนาจทำให้คนเปลี่ยนวิสัยจากคนไปเป็นนักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะว่าความใฝ่อำนาจหรือใฝ่สูงนั้นเป็นสัญชาตญาณของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งปวง หากนักการเมืองผู้ใดมาพบเห็นข้อความข้างต้นนี้แล้ว นำไปปรับกับความรู้สึกของตนเอง และเห็นว่าไม่จริงแล้วไซร้ นักการเมืองผู้นั้นพึงรู้ไว้เถิดว่า ตนนั้นมิใช่นักการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่ใช่คนธรรมดาสามัญก็เป็นรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งนอกเหนือไปจากนักการเมือง"

เมื่อผู้เขียนอ่านจบแล้ว ก็มานั่นคิดต่อว่า นี่คือ "สัจธรรม" เพราะแต่ไหนแต่ไรมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากจูเลียส ซีซาร์ ผ่านนโปเลียนมาจนถึงนักการเมืองชื่อดังทั้งหลายที่ยังโลดแล่นอยู่บนถนนสายอำนาจในปัจจุบัน ก็คงมีสันดานไม่ต่างจากข้อเขียนที่ท่านคึกฤทธิ์ระบุไว้ นี่คือคำตอบว่า ทำไมพวกนักการเมืองจึงแย่งกันเป็นรัฐมนตรี เป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นกรรมการธิการต่าง ๆ พวกพรรคฝ่ายค้านขอเป็นรัฐมนตรีเงาก็ยังดี ส่วนพวกที่หมดสิทธิ์ลงสมัครก็ขอเป็นหัวหน้ามุ้ง เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ด้วย "สันดาน" ดังกล่าวที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ผู้เขียนก็เชื่อว่า "สันดาน" นี้ยังคงสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน สมกับการเป็น "เชื้อชั่วไม่มีวันตาย"

Sunday, May 11, 2008

ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ

วันนี้ไปซื้อกล้องดิจิตอลมาใหม่ เป็น Canon IXUS 90 IS ลองเล่นนู่นเล่นนี่ไปเรื่อง รวมถึงการดาวน์โหลดรูปจากกล้องลงคอมพิวเตอร์ ก็เลยได้ไปจัดไฟล์ภาพถ่ายเก่า ๆ ที่เก็บเอาไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ แล้วไปเจอสามรูปนี้เข้า ถ่ายที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อหลายเดือนก่อน



ท่านที่เคยไปดูนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้าที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้คงนึกภาพได้ ว่าพื้นที่จะถูกแบ่งให้ผู้แสดงสินค้ามาเช่า เหลือทางเดินพอที่จะเดินสวนกันได้สองสามคน ซึ่งแน่นอนว่าทางเดินจะต้องแคบที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพราะธุรกิจศูนย์ประชุมคือการให้เช่าพื้นที่แสดงสินค้า ไม่ใช่ให้เช่าทางเดิน และร้านค้าเองก็ต้องพยายามให้กลุ่มเป้าหมายเห็นสินค้าของตนเองได้มากที่สุด จึงต้องเอาสินค้าออกมาวางติดกับทางเดินมากที่สุด ร้านขายเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ก็มีการวางฮวงจุ้ยโดยการเอาน้ำพุมาวางไว้หน้าร้าน แถมยังล้ำเขตทางเดินเท้าเข้ามาอีก นั่นหมายความว่า คนเดินผ่านไปผ่านมามีโอกาสที่จะโดนน้ำพุและส่วนประกอบของมันได้ทั้งโดยตั้่งใจและไม่ตั้งใจ น้ำพุอันนี้เดินเครื่องด้วยไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้ากับน้ำก็อยู่ด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว จึงมีโอกาสไฟรั่วสูง ร้านค้าผู้ใจดีก็เลยเอาป้ายมาติดเตือนให้ระวังถูกไฟฟ้าดูดเอาไว้ แต่นี่ไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบที่เหมาะสมแต่อย่างใด ที่เหมาะสมก็คือร้านค้าไม่ควรเอาสิ่งของที่เป็นอันตรายต่อสาธารณชนมาวางไว้ในที่สาธารณะอย่างนี้ แถมผู้ดูแลศูนย์ประชุมก็คงเห็นว่าติดป้ายแค่นี้เพียงพอแล้วหละ จึงไม่ได้สั่งให้เก็บเข้าไปทั้ง ๆ ที่ติดป้ายเตือนไว้โดดเด่นขนาดนี้ นี่คือความบกพร่องของการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และคนในสังคมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสถานที่ เจ้าของร้านค้า หรือแม้กระทั่งผู้เดินผ่านไปผ่านมาก็ไม่รู้สึกว่ามันไม่ถุกต้องนะ

Friday, May 9, 2008

จงลงทุนกับตนเอง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนนั่งฟังวิทยุรายการหนึ่ง เขาพูดให้ฟังว่า สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์แม็คอินทอชและไอพอด ได้กล่าวไว้ว่า "ชีวิตจะมีความสุขจะต้องทำ ๒ อย่าง คือ ๑.จงอย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต และ ๒.จงลงทุนกับตนเอง" ผู้เขียนก็รับฟังไว้เฉย ๆ เพราะเบื่อกับพวก Big Word เหล่านี้ ที่นิตยสารดัง ๆ มักจะไปสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหลายแหล่ แล้วก็มา re-write ให้มีคำที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนได้ เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ ผู้เขียนกำลังนอนดูหัวแม่เท้าตนเองเล่นไปวันวัน คำพูดของสตีฟ จ็อบส์ก็แวบเข้ามาในหัวอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เขียนต้องเสียเวลาพิจารณามันอยู่นานทีเดียว แล้วได้ข้อสรุปจากการทึกทักเอาเองว่า

- "จงอย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต" หมายถึงการใช้จ่ายอย่างสมกับรายได้และฐานะของตนเอง อย่าใช้จ่ายเกินตัว เพราะพฤติกรรมดังกล่าว จะนำตัวท่านเข้าสู่วงจรอุบาทว์ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องเอาหนี้ก้อนนู้นมาปะหนี้ก้อนหนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหนี้สินมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์ก็จะบีบบังคับให้ต้องทำบางอย่างที่ขัดกับหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย เช่น การเล่นการพนัน การค้ายาเสพติด เพื่อทำให้ตนเองหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน แต่ก็ย้ายไปสู่วงจรธุรกิจนอกกฎหมายแทน ดังนั้น การเริ่มต้นเป็นหนี้บัตรเครดิตก็คือการเริ่มก้าวเข้าสู่ความหายนะของชีวิตนั่นเอง นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ไม่มีบัตรเครดิตสักใบ เวลาที่มีพนักงานขายบัตรเครดิตติดต่อมา ผู้เขียนจะตอบไปตามตรงว่า ผู้เขียนมีเงินเดือนไม่ถึง ๑๕,๐๐๐ บาท (ซึ่งเป็นความจริงตามนั้น) พนักงานขายไม่สามารถตื๊อหรือต่อรองอะไรกับผู้เขียนได้เลย เพราะไม่มีธนาคารหรือบัตรเครดิตใดที่อนุญาตให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ บาทเป็นเจ้าของบัตรเครดิต ผู้เขียนจึงปลอดภัยอย่างถาวรจากหนี้บัตรเครดิต นับว่าเป็นโชคดีของผู้มีรายได้น้อยยิ่งนัก

- "จงลงทุนกับตนเอง" ข้อความนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก ผู้เขียนใช้เวลาคลี่คลายมันอยู่นาน ก็ได้คำตอบว่า การลงทุนกับตนเองคือการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับตนเอง ดีกว่าการลงทุนในหุ้น ทองคำ น้ำมัน สังหาและอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งนอกกาย จะยักย้ายถ่ายเท สูญหาย หรือถูกทำลายไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ผลที่ได้จากการลงทุนกับตนเอง จะอยู่ติดกับตัวผู้ลงทุนไปตลอดชีวิต ไม่มีใครมาแย่งไปจากผู้ลงทุนได้ การลงทุนกับตนเองมีหลายรูปแบบ เช่น การทำให้ตนเองมีความสุข (การดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อนหย่อนใจ) การทำให้ตนเองมีความรู้มากขึ้น (ทั้งในระบบและนอกระบบ) การทำให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรง (การออกกำลังกาย การทานอาหารอย่างถูกหลักสุขอนามัย) การทำให้ตนเองมีจิตใจสูงขึ้น (การฝึกจิตใจ การศึกษาธรรรม) ผลของการลงทุนเหล่านี้ นอกจากติดกับตัวผู้ลงทุนตลอดไปแล้ว ยังทำให้ตัวผู้ลงทุนมีสินทรัพย์ (Asset) ติดตัวมากขึ้นด้วย ส่งผลให้สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและสังคมต่อไป

เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อแล้ว จึงได้ข้อสรุปรวมสั้น ๆ ว่า "มนุษย์จะมีความสุขได้จะต้องไม่ทำให้ตนเองตกต่ำ หรือไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ตนเองเสื่อมลง แต่เท่านั้นยังไม่พอ มนุษย์ยังต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วย" เมื่อสามารถหาคำตอบได้ดังนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงขอขอบคุณท่านนักจัดรายการวิทยุรายการใดก็ไม่รู้ ที่ผู้เขียนบังเอิญไปได้ฟัง ที่ได้มาถ่ายทอดแนวคิดของสตีฟ จ็อบส์ที่เป็นตัวตั้งของความคิดอันวุ่นวาย และยังส่งผ่านความขอบคุณไปยังหัวแม่เท้าข้างขวาของผู้เขียน ที่เป็นตัวจุดประกายให้ผู้เขียนเริ่มพยายามคลี่คลายแนวความคิดดังกล่าว ด้วยพื้นฐานของตัวผู้เขียนเอง สาธุ

เหตุเกิดบนทางหลวงสายประธาน

ถ้าใครติดตามข่าวอยู่เสมอ ๆ จะพบข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การเกิดอาชญากรรมต่อบุคคลและอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เป็นที่น่าสนใจของสังคมมักจะเกิดบนทางหลวงสายประธานของประเทศ เช่น การขว้างหินใส่ยานพาหนะที่วิ่งผ่านไปมาเพื่อปลดทรัพย์หรือจะระบายอารมณ์ก็ตาม อุบัติเหตุรระหว่างยานพาหนะต่างขนาดกันมาก ๆ เช่น ถบรรทุกชนรถจักรยานยนต์พ่วงข้างตายยกครัว เป็นต้น สังคมมักจะตีความสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นที่ตัวบุคคลผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสันดานโจรสำหรับการก่ออาชญากรรม และความประมาทในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุ

แต่ที่น่าสนใจกว่าสาเหตุที่มาจากตัวบุคคลก็คือ ท้องเรื่องน่าเศร้าใจเหล่านั้นมีสถานที่แห่งเดียวกันคือ "ทางหลวงแผ่นดิน" ทำไมปาไข่ ปาหิน ไม่ค่อยเกิดบนถนนซอยหน้าบ้าน และทำไมรถสิบล้อไม่ชนกับมอเตอร์ไซค์ในเมืองบ่อยนัก เมื่อวิเคราะห์โดยเอาพื้นที่เป็นที่ตั้งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า นอกเหนือจากต้นเหตุจากอารมณ์หรือพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว ยังมีสาเหตุเกิดจากการใช้พื้นที่ผิดประเภทมาส่งเสริมให้มีโอกาสและความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายบนทางหลวงแผ่นดินมากขึ้นอีก โดยแยกวิเคราะห์เป็นสองประเด็ตามหลักการการวางแผนการขนส่งด้วยหลักการสำคัญสองประการ คือ ทางหลวงสายประธานต้องเป็นแบบ Limited Vehicle Type และ Limited Access

- Limted Vehicle Type การเกิดอุบัติเหตุรุนแรงระหว่างยานพาหนะต่างประเภท ตามหลักการวางแผนการขนส่งแล้ว ทางหลวงแผ่นดินที่เป็นสายประธานของประเทศ (ทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขเป็นเลขหลักเดียวและสองหลัก เช่น พหลโยธิน (หมายเลข ๑) มอเตอร์เวย์ (หมายเลข ๗) สายเอเชีย (หมายเลข ๓๒)) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระยะไกล ต้องเป็นทางหลวงประเภทจำกัดประเภทยานพาหนะ (Limited Vehicle Type) ดังนั้นทางหลวงสายประธานจึงอนุญาตให้วิ่งได้เฉพาะยานพาหนะขนาดใหญ่เพื่อการเชื่อมโยงระยะไกล สามารถทำความเร็วได้สูง มีความแข็งแรง สามารถให้ความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ได้ในระดับสูง เท่านั้น เพื่อลดความเสียหายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อเสริมความปลอดภัยต่าง ๆ อีกด้วย เช่น การแยกความเร็วในแต่ละช่องทางด้วยการให้รถช้าวิ่งชิดซ้าย การกำหนดให้รถบรรทุกวิ่งในช่องซ้ายมือเท่านั้น การจำกัดความเร็วทั้งความเร็วสูงสุดและความเร็วต่ำสุด (ไม่มีในประเทศไทย) ส่วนยานพาหนะขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น จักรยาน จักรยานยนต์รับจ้าง รถสี่ล้อขนาดเล็ก ไม่สามารถใช้ทางหลวงสายประธานได้ เนื่องจากตามหลักการวางแผนการขนส่งแล้ว ยานพาหนะขนาดเล็กเหล่านี้ถูกพิจารณาว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงระยะใกล้ ด้วยความเร็วต่ำ จึงไม่ต้องวิ่งบนทางหลวงที่เชื่อมโยงระยะไกล แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ทางหลวงสายประธานอนุญาตให้ยานพาหนะทุกประเภทใช้งานได้ แม้กระทั่งการเดินเท้าบนทางหลวงสายประธาน จึงนำมาซึ่งอุบัติเหตุ อีกทั้งอาชญากรมักจะใช้จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการประกอบอาชญากรรม การอนุญาตให้จักรยานยนต์มาวิ่งบนทางหลวงสายประธานได้ เท่ากับเป็นการเพิ่มเส้นทางประกอบอาชญากรรมและเส้นทางในการหลบหนีด้วย

- Limited Access ทางหลวงสายประธานจะต้องสามารถเข้าและออกได้ในจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้เข้าถึงกิจกรรมหรือมีกิจกรรมใด ๆ ในเขตทาง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม เนื่องจากการเข้าและออกจากทางหลวงสายประธานจะมีการเปลี่ยนช่องทางและการเปลี่ยนระดับความเร็วของยานพาหนะจำนวนมาก และการมีกิจกรรมสองข้างทางที่สามารถเข้าออกได้โดยตรงจากทางหลวงแผ่นดินคือการเปิดโอกาสให้อาชญากรเข้าออกมีที่ซุกซ่อนตัวได้อย่างสะดวก แต่ทางหลวงสายประธานในประเทศไทยกลายเป็นทางเข้าออกของแปลงที่ดินตลอดแนวถนน อีกทั้งยังมีร้านค้ามาตั้งอยู่บนเขตทางอีกด้วยทั้ง ๆ ที่ผิดกฎหมาย ผู้เขียนเคยดูข่าวเรื่องการขว้างหินใส่รถยนต์บนถนนบรมราชชนนี เมื่อจับคนร้ายได้ก็มีการไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ภาพข่าวที่เห็นคือคนร้ายใช้ร้านขายส้มโอที่บุกรุกเขตทางเป็นที่ก่อเหตุ ตำรวจไปทำแผนฯ กันอยู่หลายสิบคน แต่กลับไม่สนใจจะจับกุมร้านค้าเหล่านั้นในข้อหาบุกรุกเขตทางแต่อย่างใด เพราะสังคมไทยถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ใครมีที่ดินสองข้างทางหลวงสายประธานก็ร่ำรวยไป ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินก็ใช้การบุกรุกเขตทางเอาก็ได้ เพราะเป็นสังคมแบบใครดีใครได้ ใครเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับเคราะห์กรรมจากอาชญากรก็เป็นความซวยของคนนั้นไปเอง ภาครัฐไม่ผิดที่อนุญาตให้ใช้ทางหลวงสายประธานอย่างผิดหลักการทางการวางแผนระบบขนส่ง เคยมีข่าวว่ากรมทางหลวงไล่รื้อเพิงขายของในเขตทาง แต่เจอเจ้าของร้านประท้วง และนักการเมืองทั้่งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติก็สนับสนุน เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง

เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็ได้ข้อสรุปว่า นี่เป็นเพียงปรากฎการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการของความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน แต่มีหลักการอยู่บนความสะดวกสบายและความพอใจของประชาชนที่เป็นฐานเสียงเป็นหลัก ดังนั้น ความปลอดภัยจึงกลายเป็นเรื่องรองไปตามธรรมชาติ ซึ่งก็คงต้องยอมรับสภาพกันต่อไป

Thursday, May 8, 2008

"วิถีไทย" กับ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน"

ผู้เขียนได้หลงทางไปนั่งในที่ประชุมเสวนาของนักวิชาการเกี่ยวกับความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาแสดงความเห็นเพื่อเป็นตัวตั้งสำหรับกระบวนการพัฒนาของประเทศต่อไป ผู้เขียนพยายามสรุปความอย่างอคติ เพราะอาศัยพื้นฐานของตัวเองเป็นที่ตั้ง ได้ความดังนี้

- คำว่า "พัฒนาอย่างยั่งยืน" กำลังกลายเป็นสินค้าแบบสมัยนิยม ใคร ๆ ก็กระโดดเข้าใส่การพัฒนาอย่างยั่งยืนกันหมด เหมือนกับเมื่อสามปีที่แล้ว ผู้เขียนกลับมาประเทศไทยหลังจากไม่ได้อยู่มาห้าปี เจอกระแสชาเขียวเข้าอย่างจัง ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทยต้องมีชาเขียวเข้ามาประกอบด้วยเสมอ ตั้งแต่ของกิน ไปจนถึงเสื้อผ้าและของใช้ บางคนที่หยาบคายหน่อยถึงกับบอกว่า "ห่าอะไรก็ต้องเอาชาเขียวมาเป็นส่วนประกอบไว้ตลอด" ต่อมาก็เป็นกระแสนาโนเทคโนโลยี และตอนนี้จะเป็นกระแสโลกร้อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนไม่ลืมหูลืมตา และกลายเป็นแฟชั่นและสนใจแต่เพียงเปลือกนอก ไม่ได้สนใจแก่นแท้และองค์รวมทั้งหมด เช่น วัสดุก่อสร้างที่ออกมาโฆษณาว่ากันความร้อน ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม สินค้าเหล่านี้บางตัวประหยัดแค่ตัวผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ขั้นตอนอื่น ๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการทำลายเมื่อหมดอายุหรือเลิกใช้งานแล้ว สิ้นเปลืองพลังงานและทำลายสภาพแวดล้อมมากกว่าวัสดุประเภทอื่นที่เทียบเคียงกันได้ แต่ประหยัดพลังงานที่ขั้นตอนการใช้น้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น

- จะให้สังคมพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องชี้ให้ได้ว่า "ยั่งยืน" แล้วดีกว่าไม่ยั่งยืนอย่างไร เพราะธรรมชาติของมนุษย์แล้วจะทำอะไรอย่างหนึ่งเพราะดีกว่าไม่ทำ หรือทำอย่างอื่นเท่านั้น การที่คนในสังคมไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็เป็นเพราะการมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืน "ถูกกว่า" "ดีกว่า" "สะดวกกว่า" "สบายกว่า" การมีพฤติกรรมอย่างยั่งยืน เช่น การแยกขยะยุ่งยากกว่าทิ้งขยะรวมกันไปเลย เป็นต้น นั่นหมายความว่า จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จะต้องทำให้คนในสังคมได้รับประโยชน์จากความยั่งยืนอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเอาหลักการง่าย ๆ ว่าจะให้ใครทำอะไรตามที่เราต้องการ เราจะต้องมีอำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจในการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ แสดงว่า ต้องเอาแนวความคิดเรื่อง "ความยั่งยืน" ไปใส่ไว้ในกฎหมายและงบประมาณเป็นลำดับแรก

- คนในสังคมตีความหมายของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปต่าง ๆ นานา แตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง สนับสนุนไปด้วยกันได้บ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ซึ่งจะต้องหาจุดร่วมที่เป็นทิศทางเดียวกัน หรือมีพื้นฐานอย่างเดียวกันให้ได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องมีความหมายเหมือนกันทุกประการ แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกันจนเกิดปัญหา และที่สำคัญคือต้องเป็นความหมายที่มาจากพื้นฐานของวิถีไทย ไม่ใช่ลอกมาจากประเทศอื่น แล้วมาครอบหรือตีขลุมเอาเองว่าประเทศไทยต้องคิดแบบเดียวกับเขา แต่จะต้องสร้างความหมายของการพัฒนอย่างยั่นยืนที่สอดคล้องกับบริบทและตัวตนของคนไทย

- อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า ในประเทศอเมริกา กลายเป็นภาคเอกชนเป็นผู้ผลักดันด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวความคิด CSR (Corperate Social Responsibility) โดยเอามาเป็นประเด็นเพื่อแข่งขันกันทางธุรกิจ เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันคู่แข่งมีความสามารถเทียบเท่ากันทุกอย่างจนไม่มีประเด็นที่จะเอาชนะกันได้แล้ว ก็เลยต้องหาช่องทางการเอาชนะในรูปแบบใหม่ โดยเอากระแสโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมมาเป็นจุดขาย

นั่งฟังความเห็นต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็เกิดคำถามขึ้นกับตนเองว่า มนุษย์ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริง ๆ หรือ เป็นเพราะว่าสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืนแล้ว "แพงกว่า" การมีพฤติกรรมอย่างไม่ยั่งยืนแค่นั้นแหละ เพราะที่เขาพูดกัน ก็พูดแต่ว่า ทำอย่างนู้นอย่างอย่างนี้แล้วประหยัดกว่าไม่ทำ เช่น ใช้วัสดุกันความร้อนแล้วประหยัดค่าไฟฟ้าลง การมีบ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทำให้ลดค่าเดินทางลง ก็คงเพราะทุกคนคิดแต่ Out-of-Pocket Cost หรือต้นทุนที่ตัวเองต้องจ่ายเป็นหลัก เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็เลยได้ข้อสรุปที่ถ่ายทอดออกมาจากสันดานของคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างผู้เขียนว่า ไอ้กระแส "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" และ "การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ก็เป็นแค่เรื่องลวงโลกที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาโดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดใหม่ของวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแหละ ผู้บริโภคไม่ได้สนใจหรอกว่าพฤติกรรมของฉันจะทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ยั่งยืนแค่ไหนก็ตาม แต่ขอให้ฉันจ่ายเงินน้อยลง แต่ยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิมได้เท่านั้นเอง เมื่ิอคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนจึงเขียนบนกระดาษว่า "Bull Shit" ตัวใหญ่ ๆ วางไว้บนโต๊ะแล้วเดินคอตกกลับบ้านไปนอนเปิดแอร์เบอร์ห้าให้ตัวเองเย็นสบาย แล้วปล่อยความร้อนผ่าน Condensing Unit ไปสู่สภาพแวดล้อมเมืองเหมือนเดิม

Sunday, May 4, 2008

"ความหมายของการเปิดไฟสูง" กับ "ความปลอดภัย" และ "ความหมายแห่งวัฒนธรรม"

การสื่อสารของมนุษย์ทำได้หลายวิธี ทั้ง การใช้ภาษา สัญลักษณ์ ท่าทาง สีหน้า ฯลฯ ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์และข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับด้านการจราจรซึ่งผู้สัญจรอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำกัด จึงต้องมีการสื่อสารแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องใช้เสียงเข้ามาประกอบ และในกรณ๊ที่ต้องการสื่อสารในเวลาที่ไม่มีแสงธรรมชาติมากนัก ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์ทางแสงเข้ามาเกี่ยวข้อง

สัญลักษณ์ทางการสัญจรส่วนใหญ่จะเป็นสากล อาจเป็นรูปแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อลดข้อจำกัดด้านภาษา ทั้งความเข้าใจและพื้นที่ในการสื่อสาร แต่มีการให้สัญญาณอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยแตกต่างในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการเข้าใจความหมายของประเทศอื่น ๆ ในโลก นั่นคือความหมายของ "การเปิดไฟสูง" ที่เป็นการสื่อสารว่า ไม่ให้เธอไป เพราะฉัน (ผู้เปิดไฟสูง) จะไปนะ ในขณะที่สัญญาณ "การเปิดไฟสูง" ในต่างประเทศ คือ การให้ทาง เป็นการอนุญาตให้อีกฝ่ายหนึ่งไปได้ ฉัน (ผู้เปิดไฟสูง) จะหยุดให้เธอไปก่อน

สำหรับประเด็นด้านความปลอดภัยของการเปิดไฟสูง มีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายว่าการให้สัญญาณไฟสูงแบบประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าวิธีการของประเทศตะวันตก ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
- การเปิดไฟสูงแบบไทย (ผู้ให้สัญญาณเป็นผู้จะไป ไม่อนุญาตให้ผู้รับสัญญาณไปได้) ผู้ให้สัญญาณไฟสูงจะขับขี่ด้วยความเร็วอยู่แล้ว ซึ่งต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ ยังต้องมีภาระมาเปิดไฟสูงอีก อีกทั้งยังต้องพึ่งพากับความเสถียรของการเปิดไฟอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางวัน ผู้ให้สัญญาณไฟสูงจะทราบได้อย่างไรว่า ไฟสูงของตนเองใช้งานได้ดี และผู้ที่เป็นเป้าหมายรับสัญญาณไฟสูงได้รับสัญญาณที่ให้ออกไปอย่างถูกต้อง
- การเปิดไฟสูงแบบตะวันตก (ผู้ให้สัญญาณอนุญาตให้ผู้รับสัญญาณไปได้) ผู้ที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูงไม่ต้องมีภาระเพิ่มจากการต้องให้สัญญาณกับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีปัญหาการสื่อสารถ้าไฟสูงเสียเพราะผู้ให้สัญญาณหยุดอยู่กับที่

สำหรับประเด็นด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงตรงนี้ถูกตีความหมายในเชิงวัฒนธรรมที่กลับทิศทางกัน
- สำหรับวัฒนธรรมไทย พลเมืองทำอะไรได้ทุกอย่างถ้าไม่ถูกห้าม ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้ทำอะไรก็ต้องมีการห้ามปราม ส่งผลให้สิ่งที่เป็นระเบียบสังคมแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วิถีประชา จารีตประเพณี ไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพึ่งพากฏหมายที่มีบทลงโทษถ้าไม่ทำตามข้อห้ามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นำไปสู่การเกิดวัฒนธรรมศรีธนญชัย ที่จะต้องมีการตีความอย่างเข้าข้างตนเองมากมาย เช่น คนที่ประกาศห้ามมีอำนาจหน้าที่ในการห้ามหรือเปล่า การห้ามอย่างนี้เกี่ยวข้องกับฉันด้วยหรือไม่ ฯลฯ เกิดวิถีแบบใครดีใครได้ คนที่มีชั้นเชิงและลูกเล่นมากกว่าก็เอาเปรียบคนอื่น ๆ ได้ จะกอบโกยเอาประโยชน์เข้าตัวมากเท่าไหร่ก็ได้ถ้าหาช่องทางให้ไม่ถูกห้ามได้
- สำหรับวัฒนธรรมตะวันตก จะทำอะไรได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำเท่านั้น โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองเป็นสำคัญ ดังนั้น ทุกคนจะทราบว่าฉันมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง และสิทธิ์นั้นเท่าเทียมกันทุกคน ไม่อนุญาตให้ศรีธนญชัยมาตีความว่าใครคนใดคนหนึ่งจะมีสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันจากรากฐาน และส่งผลให้เกิดการกระจายการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันเป็นกรอบที่อนุญาตให้มาตั้งแต่ต้นแล้ว

พอนั่งคิดเสร็จก็กลับมานั่งกลุ้มใจว่าผู้เขียนคิดมากเกินไปหรือเปล่า กับไอ้แค่ความแตกต่างของการให้สัญญาณไฟสูงแค่นี้ ตีความไปใหญ่โต มันอาจเป็นแค่การเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แล้วก็กลายเป็นการใช้งานที่แตกต่างกัน ไม่เกี่ยวกับรากฐานของความคิดแต่อย่างใดก็ได้

วิกฤติพลังงานและอาหารมีพื้นฐานจากวิกฤติทางจริยธรรม

ผู้เขียนเคยวิพากษ์มาหลายครั้งเกี่ยวกับวิกฤติพลังงานและวิกฤติอาหารในแง่มุมต่าง ๆ และเมื่อพอพิจารณาให้ถึงรากของปัญหาแล้วสามารถแยกสาเหตุของปัญหาออกเป็นสองส่วน
- ส่วนแรกคือสาเหตุอันเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับ Demand และ Supply ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่ออุปสงค์กับอุปทานไม่สอดคล้องกันก็เกิดปัญหา อันนี้ยังเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น Demand-side Strategy ที่แก้หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ขาดแคลน เช่น ลดการเดินทางที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนมากินกาแฟดำไม่ต้องใส่น้ำตาล เป็นต้น หรือ Supply-side Strategy คือการเพิ่มปริมาณของสิ่งที่ขาดแคลนให้เพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เพิ่มการผลิตน้ำมัน เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวและอ้อย เป็นต้น ซึ่งปัญหาในส่วนแรกนี้เป็นเรืองตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เห็นกับชัด ๆ ว่าปริมาณสิ่งที่มนุษย์ต้องการกับสิ่งที่มนุษย์ผลิตได้ไม่สอดคล้องกัน ก็ทำให้มันสอดคล้องเท่านั้น
- ส่วนที่สองคือสาเหตุอันเกิดจากจริยธรรมของมนุษย์ ที่มุ่งที่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่ตนเองและพรรคพวก คนอื่นจะเดือดร้อนอย่างไรฉันไม่สนใจ ดังนั้น เมื่อเห็นว่าเกิดวิกฤติพลังงานและอาหาร คนกลุ่มนี้ก็หาทางทำให้ตนเองได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนต่าง ๆ เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูง ผนวกกับเศรษฐกิจของประเทศอเมริกามีปัญหา ก็ถอนเงินออกจากหน่วยลงทุนในอเมริกา มาสู่ตลาดน้ำมันด้วยการซื้อแบบล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นไปอีก เพราะมี Demand ที่ไม่มีความต้องการในการใช้จริงเข้ามาเพิ่มกับ Demand ใช้จริงที่มากกว่า Supply อยู่แล้ว ทีการประเมินไว้ตอนที่น้ำมันดิบบาร์เรลละ ๑๑๐ ดอลลาร์ว่า ราคาตาม Demand จริงอยู่ที่แปดสิบกว่าเหรียญเท่านั้น ส่วนต่างอีกเกือบสามสิบเหรียญเกิดจากการเก็งกำไร นั่นหมายความว่า เราใช้น้ำมันในราคาที่เกินกว่าที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ ๓๐ ซึ่งพฤติกรรมการเก็งกำไรไม่ได้มีอยู่แต่ในตลาดน้ำมันเท่านั้น ตลาดสินค้าอื่น ๆ ก็เป็นแบบเดียวกัน

ผู้เขียนมีความเห็นว่าปัญหาส่วนที่สองเป็นเรื่องวิกฤติกว่าวิกฤติใด ๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ยอมรับได้กับสาเหตุของปัญหาส่วนที่หนึ่ง ที่มี Supply น้อยเมื่อเที่ยบกับ Demand แล้วทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่สาเหตุจากจริยธรรมเป็นเรื่องทีสังคมยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการได้ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector) แต่เกิดจากการบิดเบือนกลไกตลาด สร้างความต้องการที่เกินกว่าความต้องการที่แท้จริง คนที่ต้องการใช้จริง ๆ ไม่มีโอกาสได้ใช้สินค้าเหล่านั้นเพราะมีคนที่ไม่ต้องการใช้เอาไปเก็บไว้จนสินค้าขาดตลาดและมีราคาสูงเกินกว่าที่ผู้ที่มีรายได้ไม่มากนักจะซื้อหามาใช้งานได้ และผลกระทบไม่ได้จบแค่นั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงความแตกต่างระหว่างรายได้ ชนชั้น กลุ่มบุคคล ไปถึงการต่อต้านระบบทุนนิยม และความขัดแย้งในระดับโลก

lonewolf ตอบปัญหาหัวใจ

ท่านเจ้าของ Blogspot ที่ผู้เขียนอาศัยพื้นที่ของเขาเขียนบ่นเรื่อยเปื่อยมาปีกว่า ๆ เขาได้มี feature ที่ให้ผู้อ่านสามารถเขียนคอมเมนต์หรือฝากข้อความไว้ให้กับผู้เขียนได้ด้วย ซึ่งผู้เขียนเองไม่ค่อยได้ไปดูเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ แต่เพราะไม่ค่อยมีคนคอมเมนต์ ดังนั้น ผู้อ่านท่านใดกรุณาแสดงความเห็นให้กับผู้เขียนจึงมักถูกทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน กว่าผู้เขียนจะไปอ่านเจอ แถมส่วนใหญ่เป็นพวกโฆษณาเวปโป๊ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคอมเมนต์ที่ให้กำลังใจ แสดงความเห็น ขอสมัครอ่านบล็อก ผู้เขียนน้อมรับด้วความเคารพและยินดียิ่ง

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายนที่ผ่านมา มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้โพสข้อความสอบถามความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" กับ "เศรษฐศาสตร์เมือง" ว่าต่างกันอย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ เพียงแค่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เพียงไม่กี่วิชา เนื่องจากสาขาที่เรียนต้องเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาประกอบด้วย จึงไม่แน่ใจว่าจะตอบได้ชัดเจนนัก แต่จะพยายามอย่างดีที่สุด

เรื่องความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" กับเ "เศรษฐศาสตร์เมือง" เป็นความแตกต่างกันของวิธีการแบ่งประเภท โดยหลักแล้วจะแบ่งชนิดของเศรษฐศาสตร์ออกเป็น ๒ ชนิด คือ
- เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ได้แก่พวก คลาสสิก นีโอคลาสสิก เคนเนเซียน
- เศรษฐศาสตร์ทางเลือก ได้แก่พวกแนวมาร์กซ จอร์เจียน ฯลฯ

ส่วน "เศรษฐศาสตร์เมือง" เป็นการเอา "เมือง" มาเป็นเป้าหมายหรือที่รองรับของแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเลือกพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะ Optimize ที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น หาคำตอบว่าจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้แหล่งวัตถุดิบหรือใกล้ตลาดหรือใกล้แหล่งแรงงานจึงจะ Opitmize ทีสุด "เศรษฐศาสตร์เมือง" มีหลายทิศทางจะเป็น "ชนิดของเศรษฐศาสตร์" ใดก็ได้ บางเมืองใช้เศรษฐศาสตร์เมืองแบบกระแสหลัก (ในอเมริกา) ส่วนบางเมืองก็ใช้เศรษฐศาสตร์ทางเลือก (ในยุโรป)

โดยสรุปก็คือ ความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐศาสตร์เมือง" กับ "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" อยู่ที่วิธีการพิจารณาแบ่งประเภทนั่นเอง

ไหน ๆ แล้ว ก็จะเล่าให้ฟังต่อไปว่า คนไทยมักคุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์เมืองแบบนีโอคลาสสิก (กระแสหลัก) ที่ให้ความสำคัญกับทุนนิยมและเทคโนโลยี แต่มีหลายประเทศในโลกที่พัฒนาได้อย่างดีด้วยเศรษฐศาสตร์ทางเลือก เช่น ประเทศเยอรมนีมีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ กลายเป็นระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จ มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเคียงได้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นกัน

ปล. แนวความคิดของมาร์กซไม่ใช่ "คอมมิวนิสต์" แบบที่เราตีความ "คอมมิวนิสต์" ที่ต่อต้านรัฐบาลกลางในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาก แต่เป็น "คอมมูนิซึ่ม" ที่ให้ความสำคัญกับความกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งการกระจายรายได้สามารถทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แนวความคิดของมาร์กซถูกตีความไปต่าง ๆ นานา เช่น สตาลิน เลนิน และเหมา ตีความเป็น "คอมมิวนิสต์" ที่ชนชั้นชาวนาคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ส่วนในเยอรมนีและยุโรปเหนือ แนวความคิดของมาร์กซถูกตีความเป็น "รัฐสวัสดิการแบบประชาธิปไตย"