Friday, September 21, 2007

ทำไม "ชมพู่เพชร" จึงแพงและอร่อยกว่าชมพู่พันธุ์อื่น ๆ

จังหวัดเพชรบุรีมีชื่อเสียงด้านการผลิตชมพู่ ราคา "ชมพู่เพชร" แพงกว่าชมพู่ชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปดูวิธีการปลูกชมพู่เพชรแล้ว ก็รับได้ว่าเพราะเหตุใดชมพู่เพชรจึงมีราคาแพง



ผู้เขียนได้ไปพบเจ้าของสวนชมพู่แบบพื้นบ้านคนหนึ่ง จึงได้ความรู้มาว่า ชมพู่เพชรมีทรงพุ่มที่ขยายออกข้าง ๆ ไม่ได้โตตรงขึ้นไปแบบต้นไม้ปกติ ทำให้ต้องมีนั่งร้านเพื่อคอยค้ำตัวต้นชมพู่ไม่ให้ล้ม และนั่งร้านยังช่วยให้ชาวสวนสามารถดูแลต้นชมพู่ได้อย่างสะดวก สามารถขึ้นไปห่อชมพู่เพื่อให้โตอย่างเหมาะสมได้ ไม้ไผ่ที่ทำนั่งร้านราคาแท่งละ ๔๐ บาท และใช้ได้ประมาณสามปีก็จะผุหมด ต้องรื้อแล้วเอาไม้ไผ่ชุดใหม่มาทำ วิธีที่ทำให้ชมพู่สวยและมีสีสันสวยงามคือการห่อชมพู่ ซึ่งกระบวนการห่อมีสองขั้นตอน คือขั้นแรกห่อด้วยกระดาษปกติ พวกถุงกระดาษ ซึ่งเป็นวัสดุทึบแสง เพื่อป้องกันแมลงมากินผลชมพู่ และเปลี่ยนห่อใหม่ในช่วงสามวันก่อนเก็บ ให้เป็นถุงพลาสติกใสเพื่อให้ชมพู่โดนแดดแล้วเป็นสีชมพูสวยงาม วิธีการทำให้ชมพู่หวานทำง่ายมากและเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือเอาน้ำตาลมาผสมน้ำแล้วพ่นให้โดนใบชมพู่เลย คุณลุงคนนี้ปลูกอยู่ในบ้าน ๒๐ ต้น ผลผลิตรวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งตัน ไม่เคยมีผลผลิตเหลือ จะมีคนมาซื้อปลีกตลอด (ไม่ขายส่ง) ช่วงเทศกาลอย่างปีใหม่/ตรุษจีน ราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ บาท ส่วนเวลานอกช่วงเทศกาลก็กิโลละ ๕๐ บาทเป็นอย่างต่ำ แนวความคิดของคุณลุงอยู่อย่างเศรษฐกิจโดยสันดาน ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงเพราะแรงโฆษณาตามกระแส งานหลักของคุณลุงคืออาชีพรับจ้าง งานปลูกชมพู่คืองานเสริมที่ใช้แรงงานในครอบครัวเท่านั้น ต่อข้อถามว่า ลุงใช้ยาฆ่าแมลงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่หรอก ต้องแบ่งกันกัน คือไม่ห่อผลชมพู่หมด ต้องเหลือไม่ห่อเอาไว้ให้แมลงกินด้วย

ตรงไปเจออะไร


ในการออกแบบเส้นทางจะต้องคำนึงถึงความสะดวก ความปลอดภัย ความต่อเนื่อง และการง่ายต่อความเข้าใจให้กับผู้ขับชี่ยานพาหนะเป็นหลักสำคัญ แต่ที่สามแยกหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีได้รับการออกแบบให้ผิดไปจากกฏพื้นฐานแห่งการออกแบบถนนโดยสิ้นเชิง บริเวณที่ถ่ายรูปเป็นทางแยกของถนนที่มีหกช่องจราจร (เข้าเมืองสาม ออกจากเมืองสาม) แต่สำหรับขาเข้าเมือง เมื่อผ่านทางแยกนี้จะเหลือแค่สองช่องจราจร เพราะมีเกาะกลางถนนมาอยู่ตรงกลาง คือ ช่องกลางถนนไม่สามารถใช้เดินรถตรงไปได้ ต้องเบี่ยงช่องจราจรเข้าไปยังช่องขวามือสุด ตอนนี้ปริมาณการจราจรยังไม่มากนัก ปัญหาก็เลยยังไม่รุนแรง ต่อเมื่อปริมาณการจราจรมากขึ้นปริมาณอุบัติเหตุเนื่องจากความสับสนก็จะเพิ่มตามไปด้วย เชื่อได้เลยว่า จะไม่มีการแก้ปัญหานี้จนกว่าจะมีอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นก่อนอย่างแน่นอน

บทวิพากษ์ "โครงการพัฒนากทม. ให้เป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค"

โครงการนี้มีชื่อเต็มว่า "การศึกษาเพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค" จัดทำโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ปี ๒๕๕๐ เพื่อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนบังเอิญได้รายงานการศึกษามาฉบับหนึ่ง ก็เลยลองลับสมองตนเองด้วยการวิพากษ์รายงานฉบับนี้เสียเลย โดยมีวัตถุประสงค์ในเชิงวิชาการเป็นพื้น

รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ว่า
จุดเด่น
- ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพโดยภาคเอกชน
- โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาโดยเฉพาะในภาคเอกชน
จุดอ่อน
- สภาพที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น กฎระเบียบต่าง ๆ
- โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจและลักษณะเด่นทางอุตสาหกรรม

เมื่อผู้เขียนวิเคราะห์ในรายละเอียด จึงได้ศักยภาพและข้อจำกัดของกทม. และปริมณฑล ดังนี้
- ตำแหน่งที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีข้อจำกัดทำให้ต้อง “รู้จักเจียมตัว”
ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก อยู่สุดขอบของทวีปเอเชีย
ตามแนวเหนือ-ใต้ มีคู่แข่งที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า ตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
- มีศูนย์กลางการขนส่งระดับนานาชาติ ซึ่งมี Multiplier Effects สูง และมีพื้นที่รองรับกิจกรรมจาก Multiplier Effects ครบสมบูรณ์ ทั้งกิจกรรมที่ต้องการอยู่ในเมือง (กรุงเทพฯ) และกิจกรรมที่ต้องอยู่นอกเมือง (ปริมณฑล) : การผลิตที่ต้องอยู่ใกล้ตลาด เช่น อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี
- ความได้เปรียบของการเป็นเมืองทำให้มีสถาบันการศึกษาชั้นนำอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งของเทคโนโลยีและแรงงานทักษะสูงซึ่งต้องการบริการพื้นฐานแบบเมือง จึงสามารถสนับสนุนความต้องการของอุตสาหกรรมบริการขั้นกลางและขั้นสูง เช่น การฟื้นฟูสุขภาพและการแพทย์แผนไทย
- มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่คุ้มประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตศูนย์กลางเมือง มี F.A.R. ที่ในสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงมีระดับต่ำ และมีปัญหา Super Block ซึ่งมาตรการทางตรง (กฎหมาย) ไม่ประสบความสำเร็จ ควรหันมาใช้มาตรการทางอ้อมแทน
- เริ่มประสบปัญหาความเสื่อมโทรมและการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยของพื้นที่กลางเมืองเดิม ซึ่งมีศักยภาพทางที่ตั้งและระยะทางจากทุกจุดของเมืองที่สั้นที่สุด เช่น ย่านตึกแถวทิ้งร้างบริเวณถนนบำรุงเมืองและถนนเพชรบุรี
- ปัญหาด้านการจราจรและขนส่ง ซึ่งต้นเหตุอยู่ที่การมีอุปทาน (Supply) ที่น้อยกว่ามาตรฐานมาก (มีพื้นที่ถนนเพียง 8-10% เมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมด ในขณะที่เมืองขนาดใหญ่ที่ดีควรมีพื้นที่ถนน 25-30%) มาตรการด้านอุปสงค์ (Demand) จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นเหตุอยู่ที่อุปทานไม่พอ ไม่ใช่มีพอแล้วแต่ใช้ไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ไม่สามารถลอกเลียนวิธีการแก้ปัญหาจากกรณีศึกษาอื่นใดมาใช้แทนกันได้
- ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต่อเนื่องมาจากปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและปัญหาด้านการจราจรและขนส่ง ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง หรือมีบริการเกินกว่าความต้องการของกิจกรรม นำมาสู่การไม่คุ้มประโยชน์ในการให้บริการ
- ความเป็นเมืองใหญ่ทำให้ต้นทุนในการผลิตและบริการสูง และขาดแคลนวัตถุดิบประเภททรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้จำนวนสาขาการผลิตถูกจำกัดลง
- ปัญหาด้านองค์กรผู้รับผิดชอบที่มีจำนวนมากและทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันเป็นปัญหาด้านการจัดการ แต่สามารถจัดการได้ด้วยการประสานงาน ไม่จำเป็นต้องจัดรูปแบบองค์กรใหม่

รายงานฉบับนี้ได้เสนอแนะแนวทาง "การเลื่อนชั้นห่วงโซ่มูลค่า" (Moving up the value chain) ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าแนวความคิดนี้ต้องกการบริหารจัดที่ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรระดับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร
- การเลื่อนชั้นห่วงโซ่มูลค่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำในระดับของการวางแผนพัฒนาประเทศหรือใหญ่กว่านั้น
- การเลื่อนชั้นของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง คือการหายไปของห่วงโซ่หนึ่งชิ้น จำเป็นต้องมีห่วงโซ่ใหม่มาแทน หรือพัฒนาห่วงโซ่เก่าให้รับแรงได้เพิ่มขึ้น
- การเลื่อนชั้นก็ต้องไปเจอคู่แข่งในชั้นที่เลื่อนขึ้นไปอีกด้วย เหมือนกับนักมวยเพิ่มน้ำหนักเพื่อเลื่อนรุ่นขึ้นไป ด้วยลักษณะดังกล่าว จึงต้องการการตัดสินใจและสนับสนุนจากองค์กรที่ใหญ่กว่าองค์กรระดับท้องถิ่น
- การเลื่อนชั้นห่วงโซ่มูลค่าต้องการการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ต่ำกว่า ซึ่งอาจหมายถึงการย้ายฐานซึ่งต้องใช้เวลาการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างนาน

เมื่อ "การเลื่อนชั้นห่วงโซ่มูลค่า" ไม่ใช่ทางออกที่ดี ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางในการพัฒนาเอาไว้ว่า
แนวความคิด Supply Chain กำลังเป็นแนวทางสำคัญในการวางแผนพัฒนาในทุกระดับ เพราะกล่าวถึงว่า จะใช้วัตถุดิบอะไร เพื่อผลิตอะไร ขนส่งจากที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ในเวลาใด ด้วยยานพาหนะอะไร ส่งไปให้ใคร เมื่อถึงมือผู้รับ ก็เริ่มวงจรแบบนี้ใหม่อีกครั้ง ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งแนวทาง supply chain สามารถทำได้ขับเคลื่อนได้โดยระดับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานครสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถแบ่งกลุ่มตามลักษณะของ Supply Chain ได้เป็น ๔ กลุ่ม

กลุ่ม ๑ หมายถึง การผลิตหรือบริการที่มีห่วงโซ่อุปทานจบสมบูรณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นการผลิตที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของการเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เช่น การฟื้นฟูและรักษาสุขภาพโดยภาคเอกชน ซึ่งพึ่งพาความรู้ ความเชี่ยวชาญ และฝีมือของแพทย์และพยาบาลคนไทย ที่มีฝีมือทัดเทียมกับชาติอื่น ๆ แต่มีความเอาใจใส่และบริการที่ดีกว่า ด้วยค่าบริการที่ถูกกว่า
การผลิตกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และดำเนินการพัฒนาได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะอยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรท้องถิ่นเป็นหลัก จึงมีโอกาสที่จะเป็นตัวนำที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้

กลุ่ม ๒ หมายถึง การผลิตหรือบริการที่มีห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย โดยมีกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นศูนย์กลางของการผลิตที่มีห่วงโซ่มูลค่าสูงที่สุดในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่อยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาเรื่อย ๆ จนมาจบที่กรุงเทพฯ เพราะขั้นสุดท้ายคือการออกแบบและประกอบตัวเรือนที่ต้องการความได้เปรียบของการอยู่ในเมือง และการอยู่ใกล้สนามบินเพื่อส่งออกได้รวดเร็วและปลอดภัย กลุ่มนี้เป็นการผลิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาค่อนข้างสูง เนื่องจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อยู่ภายในประเทศทั้งหมด ผลประโยชน์ที่ได้กระจายไปทั่วทั้งประเทศ แต่ต้องการการประสานที่ดีในระดับที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น

กลุ่ม ๓ หมายถึง การผลิตหรือบริการที่มีห่วงโซ่อุปทานบางส่วนอยู่ภายในประเทศและบางส่วนอยู่ในประเทศอื่น โดยมีกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นศูนย์กลางของการผลิตที่มีห่วงโซ่มูลค่าสูงที่สุดในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เช่น การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นประตูเชื่อมต่อกับโลกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ของเมืองในทวีปเอเชีย และเป็นจุดส่งถ่ายนักท่องเที่ยวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น ๆ ในภูมิภาค กลุ่มนี้เป็นสาขาที่มีมูลค่าสูง แต่ศักยภาพของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางได้แค่การผลิตที่จำกัดเพียงแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การผลิตที่มี catchment area ใหญ่กว่านี้ยังไม่สามารถแข่งขันได้

กลุ่ม ๔ หมายถึง การผลิตหรือบริการที่มีห่วงโซ่อุปทานบางส่วนอยู่ภายในประเทศและบางส่วนอยู่ในประเทศอื่น โดยมีศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานอยู่ที่อื่น ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อุตสาหกรรม Animation ระดับนานาชาติ ซึ่งใช้กรุงเทพฯ เป็นแหล่งผลิตบางส่วน แต่มีศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มนี้มีมูลค่าในภาพรวมสูง แต่เม็ดเงินที่ตกอยู่ในกรุงเทพฯ มีไม่มากนัก จึงเป็นการผลิตที่ยังคงให้การสนับสนุน แต่ไม่ใช่สาขาหลัก

เมื่อได้มาสี่กลุ่มแล้ว แนวทางในการพัฒนาควรจะ
- กรุงเทพฯ ยังขีดจำกัดในการพัฒนา ดังนั้น การเป็นศูนย์กลางสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ใช่การเป็นศูนย์กลางในทุก ๆ ด้าน แต่เป็นศูนย์กลางในด้านที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ส่วนด้านที่ไม่เชี่ยวชาญก็ต้องยกให้เมืองอื่นเป็นศูนย์กลางไป
- สำหรับองค์กรท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) การจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา ควรเริ่มจากการผลิตหรือบริการกลุ่ม ๑ ไล่ไปจนถึงกลุ่ม ๔ ซึ่งเรียงตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ผูกพันกับตำแหน่งที่ตั้งและเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ (เน้นที่ supply chain เป็นหลัก)
- สำหรับองค์กรระดับชาติ การจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาจะสวนทิศทางกับท้องถิ่น เพราะต้องเริ่มจากการผลิตหรือบริการที่มีมูลค่ามากกับประเทศมากที่สุด คือ กลุ่ม ๓ ย้อนกลับมาสู่กลุ่ม ๑ ส่วนกลุ่ม ๔ เป็นการผลิตเสริมเท่านั้น (เน้นที่ value chain เป็นหลัก)
- การมีแนวทางกลับทิศทางกันระหว่างระดับท้องถิ่น (มุ่งที่ supply chain) กับระดับชาติ (มุ่งที่ value chain) ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นการแบ่งความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับพันธกิจและหน้าที่ขององค์กรแต่ละระดับ จึงต้องการการประสานที่ดี เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกันได้ แม้ว่าจะมีลำดับความสำคัญแตกต่างกันก็ตาม

สนามบิน Changi ไม่ใช่คู่แข่งของสุวรรณภูมิ

เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอ ๆ ถึงการแข่งขันกันเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างสนามบิน Changi ประเทศสิงคโปร์กับสนามบินสุวรรณภูมิ จากข้อมูลของ wikipedia ระบุไว้ว่า สนามบิน Changi เป็นอันดับที่ ๒๒ ของโลกในแง่ของการรองรับผู้โดยสาร (อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และเป็นอันดับ ๙ ของโลกในการขนส่งสินค้า (อันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิได้อันดับที่ ๑๕ ของโลกในเรื่องจำนวนผู้โดยสาร (อันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และอันดับ ๑๙ ของโลกในด้านปริมาณการขนส่งสินค้า (อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) การที่สนามบินระดับเดียวกันสองแห่งมีที่ตั้งใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นผู้นำในการขนส่งทางอากาศ แต่จากอันดับที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่าการแข่งขันนี้ยังไม่มีผู้ชนะอย่างเด็ดขาด และคงต้องมีการแข่งขันกันอย่างหนักอีกต่อไป

แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดที่เกินกว่าอันดับที่คิดจากตัวชี้วัดเชิงปริมาณแล้ว สองสนามบินนี้อาจจะไม่ได้เป็นคู่แข่งกันเลยก็ได้ เพราะเมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าสุวรรณภูมิจะมีสัดส่วนของการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวสูง ในขณะที่สนามบิน Changi มีสัดส่วนของการเดินทางเพื่อประกอบธุรกิจเป็นหลัก เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวส่วนสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ และในด้านของการขนส่งสินค้า ประเทศไทยมีพื้นที่ด้านใน (Hinterland)ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ตอบสนองกับอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางจำนวนมาก ในขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีพื้นที่เพื่อตั้งอุตสาหกรรมหนัก จึงมีการผลิตในขั้นสูงเป็นหลัก ดังนั้น ประเภทของสินค้าที่จะจัดส่งก็แตกต่างกันอีก นั่นหมายความว่า ทั้งสองสนามบินนี้ต่างก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอันเกิดจากที่ตั้งเฉพาะของตนเอง จึงมีช่องทางการตลาดที่เป็นของตนเองไม่คาบเกี่ยวกับอีกตลาดหนึ่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณอนาคตแล้ว ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงกว่า Changi เพราะจุดเด่นของประเทศไทยอยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ติดกับพื้นที่ และการมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า แต่สิงคโปร์มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีกว่า ซึ่งประเทศไทยจะไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ง่ายกว่าสิงคโปร์พัฒนาหรือจัดหาทรัพยากรธรรมชาติ น่าเสียดายที่คนไทยไม่เห็นศักยภาพของตนเอง มัวแต่ไปเล่นเกมที่สิงคโปร์ได้เปรียบ ไม่ยอมเอาจุดเด่นของตนเองออกมาขาย แต่ไปพัฒนาตามกระแสของคนอื่นเขา ซึ่งทำอย่างไรก็สู้เขาไม่ได้ เพราะเขาพัฒนามาก่อนนานแล้ว มีองค์ความรู้มีต้นทุนที่สั่งสมกันมา สาธุ

Friday, September 14, 2007

East Meets West (Mismatch)



สถาปัตยกรรมไทยกำลังสูญหายไปกับกาลเวลาและกระแสโลกาภิวัฒน์ คนไทยละทิ้งจากบ้านทรงไทยเข้าไปอยู่ในบ้านแบบตะวันตกประยุกต์ไทยด้วยแรงผลักดันของรสนิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สถาปัตยกรรมแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างไทยกับตะวันตกได้ขยายไปสู่อาคารแบบอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่ศาลหรือศาลาสำหรับพระพุทธรูป ผู้เขียนพบศาลแห่งนี้ที่ตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสถาปัตยกรรมโพสโมเดิร์นแบบไทย ๆ คือเอาเสาโรมันมารองรับหลังคาจั่วทรงสูงแบบบ้านไทย (ภาพบน) แต่อาคารแบบนี้รูปเคารพแบบไทยพุทธคงไม่ชอบ เพราะได้ย้ายรูปเคารพนี้ออกไปอยู่ที่อื่นเสียแล้ว ทิ้งไว้แต่เพียงร่องรอยของน้ำตาเทียนเพื่อบันทึกไว้ว่าเคยมีรูปเคารพแบบพุทธมาอยู่ในศาลโพสโมเดิร์นของไทยเท่านั้นเอง แต่อาคารแบบไทยที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน (ภาพล่าง) ยังคงอยู่ใช้งานทางพุทธศาสนาได้อย่างภาคภูมิใจต่อไป

แอบด่าไว้ในห้องน้ำ


สภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมีความกดดันสูง เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถทำทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวคนเดียวหรือครอบครัวเดียวแบบครัวเรือนชนบทในอดีตอีกต่อไปแล้ว มนุษย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างมากขึ้น แต่ต้องพึ่งพามนุษย์คนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญแบบอื่น ๆ มากขึ้น การต้องพึ่งพานี้ก่อให้เกิดการประสานหรือปะทะสัมพันธ์กันระหว่างคนที่ไม่รู้จักกันมากขึ้น กลายเป็นความกดดันหรือความเครียดในจิตใจของมนุษย์ เพราะเป็นการปะทะสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักกันเป็นพื้นฐานมาก่อน ฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถตอบสนองอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างที่ต้องการ 100% นำมาซึ่งความขัดแย้งในความคิดของมนุษย์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้มากที่สุดคือผู้ประกอบอาชีพบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำสำคัญทางการตลาดว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า" ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาให้ตัวลูกค้าเองคิดว่าตนเองจะทำอะไรก็ได้ ส่วนผู้ให้บริการก็มีความรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าตนเองถูกกดขี่ บริการที่ให้กับลูกค้าจึงกลายเป็นบริการแบบมาตรฐาน ไม่ได้มีความเป็นมิตรเข้าไปอยู่ในบริการด้วย ความกดดันดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบอาชีพบริการหาทางออกต่าง ๆ นานา ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่งริมหาดเมืองเพชรบุรี เจ้าของร้านคงจะอึดอัดกับพฤติกรรมของลูกค้าเหลือทนแล้ว จึงทำป้ายด่ากลับเอาไว้ในห้องน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความในบรรทัดสุดท้าย เขียนไว้ว่า "ทำไม่คิดว่าพนักงานเป็นที่กระโถนจะทำอะไรก็ทำได้"

ประกันภัยสำหรับสุนัข


เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป รูปแบบของครอบครัวก็เปลี่ยนตาม จากครอบครัวขยายมาสู่ครอบครัวเดี่ยว คนเริ่มมีคนรู้จักน้อยลง มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงขึ้น แต่มนุษย์ยังคงเป็นสัตว์สังคม จึงมีความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ บางคนหันไปสนใจต้นไม้ ตกแต่งบ้าน รถยนต์ และที่มนุษย์เอาเข้ามาเติมเต็มความเป็นสัตว์สังคมในยุคปัจจุบันคือสัตว์เลี้ยง ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังนิยมการเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อนเป็นอย่างมาก เพราะมีอัตราการเกิดต่ำ ผนวกกับชีวิตเมืองทำให้ต้องอยู่อย่างครอบครัวเดี่ยว ส่งผลให้มีเพียงสามีและภรรยาเพียงสองคนเท่านั้นในครอบครัว สุนัขจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับชาวญี่ปุ่น เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่คลั่งไคล้การเลี้ยงสุนัขเท่ากับประเทศอื่น ๆ แต่ก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ทีเดียว ผู้เขียนพบป้ายโฆษณาประกันสุขภาพสุนัขที่ตลาดเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีบริการถึงสองลักษณะ คือประกันแต่ตัวสุนัขอย่างเดียว หรือประกันทั้งตัวสุนัขและเจ้าของสุนัข การประกันทั้งสองลักษณะมีการตรวจสุขภาพอยู่ในประกันด้วย จึงยังสงสัยอยู่ว่า ประกันแบบทั้งตัวสุนัขและเจ้าของสุนัข เขาตรวจสุขภาพสุนัขอย่างเดียวหรือจะตรวจเจ้าของด้วยนะ

ปัญหาเรื่องผลกระทบทางเสียงจากการบินที่สุวรรณภูมิ ไม่ใช่เรื่องที่ ทอท. ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย

ผลกระทบทางเสียงและของเสียจากการบินในพื้นที่รอบ ๆ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน และในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาเริ่มก้าวไปสู่ทางตัน ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเดินขบวนไปประท้วงที่สนามบิน และขู่ว่าจะปล่อยลูกโป่งเพื่อรบกวนเครื่องบินขึ้นลงเป็นการตอบแทนบ้าง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยถูกเรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่า ถ้าจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณเท่ากับค่าก่อสร้างสนามบินสุวรรรณภูมิเลยทีเดียว

ประเด็นปัญหานี้ สังคมแตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง ในมุมของผู้ได้รับผลกระทบจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความเห็นว่า ทอท.ควรรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในมุมของกลุ่มที่สอง คนจำนวนหนึ่งกลับมองว่า สนามบินแห่งนี้ถูกกำหนดให้อยู่ตรงนี้มาห้าสิบปีแล้ว ตั้งแต่พื้นที่ยังเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านเรือนอยู่เลย แล้วชาวบ้านเหล่านั้นก็อพยพย้ายเข้ามาอยู่ข้างสนามบินเอง แล้วจะมาบ่นทำไมว่าได้รับผลกระทบจากสนามบิน ก็มาอยู่ข้างสนามบินเองนี่หน่า แล้วการที่ ทอท.จะต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านเหล่านั้น ทอท.ก็ต้องหาวิธีเอาเงินมาแทนส่วนที่เสียไปให้ได้ นั่นหมายถึงค่าภาษีสนามบินที่เพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า คนทั้งสองกลุ่มต่างก็ถูกต้องคนละครึ่ง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ควรจะได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม ทาง ทอท.เองก็ไม่ควรจะต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะโครงการสนามบินอยู่ตรงนี้มาก่อนที่ชาวบ้านจะมาอยู่เสียอีก แล้วใครควรจะจ่ายเงินชดเชยล่ะ คำตอบง่าย ๆ คือ ผู้ที่อนุญาตให้หมู่บ้านจัดสรรสร้างขึ้นรอบสนามบิน หรือผู้ทีอนุญาตให้ชาวบ้านสร้างบ้านขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ดินรอบท่าอากาศยาน หรือถ้าไม่ได้อยู่ในเขตที่ต้องขออนุญาต ก็ต้องเป็นเจ้าของหมู่บ้านจัดสรรนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบนี้ เพราะได้เงินจากการซื้อขายบ้านและที่ดินในเขตที่ได้รับผลกระทบจากสนามบิน แถมบางที่ยังเอาการอยู่ใกล้ท่าอากาศยานมาเป็นจุดขายในป้ายโฆษณาเสียอีก จะให้ ทอท.มาเก็บภาษีสนามบินแพงขึ้นเพื่อมาชดเชยนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และยังส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าอากาศยานลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นสนามบินนานาชาติของประเทศอื่น ๆ

ประเด็นในเรื่อปัญหาผลกระทบจากท่าอากาศยาน กลายเป็นประเด็นใหญ่ และ ทอท.ต้องมารับผิดชอบก็เพราะตัว ทอท.เองนั่นแหละที่วางบทบาทตัวเองในเรื่องนี้ผิด แทนที่ตัวเองจะทำตัวเป็นกรรมการ ให้ผู้ได้รับผลกระทบไปทะเลาะกับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรผู้ที่หลอกลวงเขาว่าอยู่ใกล้สนามบินแล้วดี แต่ ทอท.ดันเอาตัวเองไปเป็นคนที่ทะเลาะกับชาวบ้านเสียเอง มีข่าวลือว่าเพราะมีแรงผลักจากการเมืองเข้ามาผลักดันให้ ทอท.เข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะเป็นฐานเสียงทางการเมือง ซึ่งก็คงจะจริง แล้วก็ปล่อยให้ผู้โดยสารที่ไม่ควรจะต้องเสียค่าภาษีสนามบินแพงเกินความจำเป็นมาแบกรับค่าชดเชยแทนเจ้าของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป

บัตรเครดิต ปัจจัยที่ 5 ของคนเมือง

เรามักจะได้ยินปัญหาเกี่ยวกับการเป็นหนี้บัตรเครดิตของคนเมืองอยู่เสมอ ๆ หลายคนฟังข่าวเหล่านั้นด้วยความรู้สึกสมน้ำหน้า คิดว่าก็เป็นคนก่อหนี้เอง ก็ต้องรับกรรมไปสิ แต่ในแง่มุมของคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาก็มีความจำเป็นของเขาเช่นกัน

ผู้เขียนไม่มีบัตรเครดิต เวลาที่ได้รับโทรศัพท์จากพนักงานขายบัตรเครดิต ก็จะบอกเขาไปว่า ผมทำบัตรเครดิตไม่ได้ครับ เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท แค่นี้ก็จบแล้ว เพราะตามระเบียบมันทำไม่ได้จริง ๆ แม้ว่าพนักงานขายจะบอกว่า ได้ข้อมูลมาจากสายการบิน ว่าคุณเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ก็จะตอบไปตามตรงว่า การเดินทางบ่อยไม่ได้หมายความว่า ผมจะมีเงินเดือนถึง 15,000 บาทนี่หว่า พนักงานขายก็จะจนปัญญาไปเอง

ผู้เขียนเป็นผู้ใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย และมักจะรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบด้านราคาอันเนื่องมาจากการยอมรับบัตรเครดิตของร้านค้าอยู่เสมอ เพราะการที่ร้านค้ามีเครื่องรูดบัตรเครดิต ร้านค้าจะต้องจ่ายอย่างน้อย 2-3% ของราคาสินค้าให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเป็นค่าธรรมเนียม และอาจมีค่าธรรมเนียมพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ต้องเช่าเครื่องรูดบัตรจากธนาคาร 3-5 พันบาทต่อเดือนด้วย ปัญหาที่เกิดกับผู้ใช้เงินสดก็คือ ร้านค้าส่วนใหญ่จะต้องตั้งราคาโดยรวมค่าธรรมเนียมของธนาคารไปไว้ในราคาขายแล้ว นั่นหมายความว่า คนที่จ่ายเงินสด แทนที่จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่า เพราะร้านค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต กลับต้องมาจ่ายในราคารเดียวกันกับคนที่ใช้บัตรเครดิต ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนที่ใช้เงินสดเลย แถมยังมีร้านค้าจำนวนไม่มากนักที่ยอมคิดส่วนต่างของบัตรเครดิตไปกับคนที่ใช้บัตร เพราะการกระทำดังกล่าวจะมีผลต่อยอดขาย

เมื่อสามเดือนที่แล้ว ผู้เขียนไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีคนจ่ายเงินที่ cashier ก่อนผู้เขียนแค่คนเดียว แต่ผู้เขียนต้องรอจ่ายเงินอยู่นานมาก เพราะลูกค้าคนก่อนหน้าผู้เขียน (เป็นพนักงานของห้างสรรพสินค้านั้นด้วย)ซื้อสินค้าในราคา 700 บาท แต่ต้องให้ cashier ลองรูดบัตรเครดิตทุกใบที่เขามี (ประมาณ 7 ใบ) เพื่อหาบัตรเครดิตที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่เพียงแค่ 700 บาท เพราะบัตรเกือบทุกใบถูกใช้เต็มวงเงินแล้ว นั่นหมายความว่า ลูกค้าคนนี้ต้องมีหนี้จำนวนมหาศาล เพราะมีบัตรเครดิตที่ผมเห็นอย่างน้อย 7 ใบ แต่วงเงินเต็มไปแล้ว 6 ใบ แล้วแต่ละใบก็มีดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 20% นี่คือปัญหาเมืองที่สำคัญของชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง และเป็นต้นเหตุต่อเนื่องไปถึงปัญหาเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งคงสอดคล้องกับหลักการของสถาบันการเงิน ที่จะต้องปล่อยกู้ให้มากเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้รูปแบบใดก็ตาม

ไม่มีกฎเกณฑ์ในการแข่งขันทางธุรกิจ

การแข่งขันกันทางธุรกิจ คือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดขององค์กรและสมาชิกในองค์กร ใครจะบอกว่าการแข่งขันทางธุรกิจเป็นการต่อสู้ที่มีความยุติธรรมและตรงไปตรงมาก็คงเป็นการกล่าวถึงภาพในอุดมคติเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการแข่งขันทางธุรกิจเป็นการแข่งขันเพื่อการอยู่รอด สู้ไม่ได้ก็ต้องตายในทางธุรกิจ จึงไม่มีกฎกติกาใด ๆ ทั้งสิ้น กฎหมายที่ออกมาควบคุมการแข่งขันเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่มีใครกลัว และมีวิธีการในการหลีกเลี่ยงมากมาย มีคนเปรียบการแข่งขันทางธุรกิจไว้อย่างน่าสนใจว่า เหมือนกับ "หมากัดกัน" เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น บอกให้หยุดก็ไม่หยุด จนกว่าจะต้องเอาน้ำร้อนมาราดให้แยกออกจากกัน แต่ก็แยกกันได้ชั่วคราว ถ้าวันไหนมาทับเส้นทางธุรกิจกันเมื่อไหร่ก็กัดกันอีก ผู้เขียนเคยพบตัวอย่างของการแข่งขันทางธุรกิจในรูปแบบแปลก ๆ มามากมาย จึงบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน

เรื่องที่หนึ่ง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนเพิ่งจบการศึกษามาใหม่ ๆ เข้าไปทำงานควบคุมการก่อสร้างคอนโดมิเนียมระดับหรูหรามาก ยูนิตเล็กที่สุดราคา 14 ล้านบาท ในโครงการนี้ต้องติดจานดาวเทียมรวมทั้งอาคารเอาไว้แจกจ่ายตามห้องให้กับลูกค้าด้วย ผู้เขียนมีหน้าที่เปรียบเทียบข้อเสนอของผู้ผลิตจานดาวเทียมแล้วส่งให้เจ้าของโครงการตัดสินใจ ผู้เขียนเรียกผู้ผลิตมาสองราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชื่อดังทังสองเจ้า บริษัท A ผู้เขียนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ส่วนบริษัท B ผู้บริหารเป็นพ่อของเพื่อนผู้เขียน ผู้เขียนเรียกบริษัท A มาคุยก่อน แล้วก็บอกพนักงานขายไปตามตรงว่า คู่แข่งของคุณคือบริษัท B นะ ให้บอกผมหน่อยว่าของคุณดีกว่าบริษัท B อย่างไร พนักงานขายบอกว่า บริษัท B เขาเลิกผลิตไปแล้ว ผมได้ยินดังนั้น จึงบอกว่า อย่าลุกหนีไปไหนนะ แล้วก็ยกหูโทรศัพท์โทรหาพ่อเพื่อนผมที่เป็นผู้บริหารบริษัท B ทันที แล้วก็พูดลงไปในสายต่อหน้าพนักงานขายคนนั้นว่า "คุณพ่อครับ บริษัท A เขาบอกว่า บริษัทของพ่อเลิกทำจานดาวเทียมแล้วครับ" คำตอบก็คือ ยังไม่เลิก ยังทำและขายอยู่ทุกวัน พนักงานขายบริษัท A นั่นหน้าซีด ผมวางหูแล้วบอกว่า ยังไงผมก็ไม่ซื้อของคุณโดยเด็ดขาด วิธีการแข่งขันของคุณทุเรศเกินไป แค่เริ่มคุยกันคุณยังหลอกผมเพื่อให้ได้งาน แล้วผมจะไว้ใจให้คุณทำงานได้อย่างไร ตอนหลังเจอพ่อเพื่อนอีกครั้ง แกบอกว่า แกเฉย ๆ มากกับเรื่องนี้ เพราะยุทธศาสตร์แบบนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย ๆ

เรื่องที่สอง ผมอยู่ต่างจังหวัด สมัยก่อนยังไม่มี Hi-speed internet ตั้งใช้ dial-up สถานเดียว ผมมีคนรู้จักเป็นผู้บริหารบริษัทอินเตอร์เนท ก็เลยซื้อชั่วโมงของเขามาใช้ ปรากฏว่า คู่สายที่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เนท โทรไม่เคยติดเลย หลายวันทีเดียว ทนไม่ไหวก็เลยโทรไปถามคนรู้จักคนนั้น เขารับฟังปัญหาแล้วบอกว่าพอจะเดาได้แล้วว่าสาเหตุคืออะไร ขอเวลาตรวจสอบแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวโทรกลับ สักสิบห้านาทีแกก็โทรกลับมา แล้วบอกว่าลองต่อดู ตอนนี้เข้าได้แล้ว ผมลองดูก็จริงดังว่า แกเล่าให้ฟังว่า คู่สายอินเตอร์เนทอยู่ที่สำนักงานขององค์การโทรศัทพ์ประจำจังหวัด แล้วบริษัทคู่แข่งก็จ้างพนักงานขององค์การนั่นแหละให้ชักสายของบริษัทอื่น ๆ ออกให้หมด เมื่อลูกค้าบริษัทอื่นเชื่อมต่อไม่ได้ เขาก็เปลี่ยนมาใช้ของบริษัทที่เชื่อมต่อได้เเองแหละ แกบอกว่า วิธีการแข่งขันแบบนี้เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน