Friday, September 21, 2007

ทำไม "ชมพู่เพชร" จึงแพงและอร่อยกว่าชมพู่พันธุ์อื่น ๆ

จังหวัดเพชรบุรีมีชื่อเสียงด้านการผลิตชมพู่ ราคา "ชมพู่เพชร" แพงกว่าชมพู่ชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปดูวิธีการปลูกชมพู่เพชรแล้ว ก็รับได้ว่าเพราะเหตุใดชมพู่เพชรจึงมีราคาแพง



ผู้เขียนได้ไปพบเจ้าของสวนชมพู่แบบพื้นบ้านคนหนึ่ง จึงได้ความรู้มาว่า ชมพู่เพชรมีทรงพุ่มที่ขยายออกข้าง ๆ ไม่ได้โตตรงขึ้นไปแบบต้นไม้ปกติ ทำให้ต้องมีนั่งร้านเพื่อคอยค้ำตัวต้นชมพู่ไม่ให้ล้ม และนั่งร้านยังช่วยให้ชาวสวนสามารถดูแลต้นชมพู่ได้อย่างสะดวก สามารถขึ้นไปห่อชมพู่เพื่อให้โตอย่างเหมาะสมได้ ไม้ไผ่ที่ทำนั่งร้านราคาแท่งละ ๔๐ บาท และใช้ได้ประมาณสามปีก็จะผุหมด ต้องรื้อแล้วเอาไม้ไผ่ชุดใหม่มาทำ วิธีที่ทำให้ชมพู่สวยและมีสีสันสวยงามคือการห่อชมพู่ ซึ่งกระบวนการห่อมีสองขั้นตอน คือขั้นแรกห่อด้วยกระดาษปกติ พวกถุงกระดาษ ซึ่งเป็นวัสดุทึบแสง เพื่อป้องกันแมลงมากินผลชมพู่ และเปลี่ยนห่อใหม่ในช่วงสามวันก่อนเก็บ ให้เป็นถุงพลาสติกใสเพื่อให้ชมพู่โดนแดดแล้วเป็นสีชมพูสวยงาม วิธีการทำให้ชมพู่หวานทำง่ายมากและเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือเอาน้ำตาลมาผสมน้ำแล้วพ่นให้โดนใบชมพู่เลย คุณลุงคนนี้ปลูกอยู่ในบ้าน ๒๐ ต้น ผลผลิตรวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งตัน ไม่เคยมีผลผลิตเหลือ จะมีคนมาซื้อปลีกตลอด (ไม่ขายส่ง) ช่วงเทศกาลอย่างปีใหม่/ตรุษจีน ราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ บาท ส่วนเวลานอกช่วงเทศกาลก็กิโลละ ๕๐ บาทเป็นอย่างต่ำ แนวความคิดของคุณลุงอยู่อย่างเศรษฐกิจโดยสันดาน ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงเพราะแรงโฆษณาตามกระแส งานหลักของคุณลุงคืออาชีพรับจ้าง งานปลูกชมพู่คืองานเสริมที่ใช้แรงงานในครอบครัวเท่านั้น ต่อข้อถามว่า ลุงใช้ยาฆ่าแมลงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่หรอก ต้องแบ่งกันกัน คือไม่ห่อผลชมพู่หมด ต้องเหลือไม่ห่อเอาไว้ให้แมลงกินด้วย