วิกฤตการณ์พลังงานกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าปัญหาดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคตเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะหมดไปจากโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยมีโครงสร้างการใช้พลังงานที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคขนส่งสูง และไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะลงทุนและบริหารจัดการเพื่อลดการใช้พลังงานได้มากนัก เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่ขนส่งในประเทศกำลังพัฒนาเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีขนาดในการขนส่งครั้งละมาก ๆ และการคมนาคมก็ยังพึ่งพายานพาหนะล้อยางเป็นหลัก ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานที่สูงกว่ายานพาหนะประเภทอื่น ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Logistics) และการจัดการการผลิตภายใต้หลักการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
เมื่อพิจารณาด้านการใช้พลังงานในชุมชนเมือง เห็นได้ชัดว่า พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานสูง และเมื่อเกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงาน การใช้พลังงานในเมืองจึงเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายประหยัดพลังงานภายใต้หลักการของ “เมืองประหยัดพลังงาน” นำไปสู่โครงการเพื่อลดการใช้พลังงานต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งเสริมการเดินทางด้วยรูปแบบที่ประหยัดพลังงาน การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการก่อสร้างเมืองใหม่ภายใต้หลักการของเมืองประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม แผนงาน โครงการและมาตรการด้านการขนส่งและจราจรที่ออกมาบังคับใช้เหล่านั้น กลับไม่สามารถทำให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้มีการวางนโยบายในภาพรวมแบบบูรณาการ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ ไม่ใช่การวางแผนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และขาดความเข้าใจในพฤติกรรมการเดินทางของมนุษย์อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการวางแผนการขนส่งและจราจร โดยมีข้อควรคำนึงถึงในการวางแผนเพื่อสร้างเมืองประหยัดพลังงานได้ 10 ประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้