ตามหลักการของการวางแผนระบบขนส่งและจราจรเมืองที่ถูกต้อง ระบบขนส่งสาธารณะประสิทธิภาพสูงอย่างระบบรางต่าง ๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS และ MRT มีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองกะทัดรัด และมีเป้าหมายที่จะให้บริการในเขตกลางเมืองที่มีกิจกรรมหนาแน่นสูง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการในการเดินทางมากเสียจนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและจราจรที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความต้องการในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและระบบขนส่งสาธารณะล้อยางที่ใช้ทางวิ่งร่วมกับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ จึงต้องมีระบบรางหรือล้อยางบนทางวิ่งเฉพาะมาช่วยขยายประสิทธิภาพของระบบขนส่งและจราจรในเขตที่มีกิจกรรมหนาแน่นนั้น และในแง่ของการบริหารจัดการการเงินของผู้ให้บริการ ระบบรางมีต้นทุนในการก่อสร้างและดำเนินการสูง จึงสามารถให้บริการอย่างคุ้มประโยชน์ได้เฉพาะพื้นที่ที่มีความต้องการในการเดินทางสูงมากพอที่จะทำให้มีรายได้มากพอที่จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวอย่างที่ถูกต้องก็มีให้เห็นอยู่ที่รถไฟฟ้า BTS ที่มีเส้นทางการให้บริการอยู่ในเขตเมืองชั้นในที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นเท่านั้น
เมื่อพิจารณาพื้นที่ในเขตเมืองทั้งหมด ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจะแตกต่างกันไปตามความหนาแน่นของกิจกรรม โดยแบ่งออกได้เป็น 3 พื้นที่ได้แก่
• พื้นที่กลางเมืองที่มีกิจกรรมหนาแน่น ที่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงต้องมีระบบขนส่งสาธารณะบนรางหรือระบบล้อยางที่มีทางวิ่งเฉพาะ (เช่นรถ BRT) ที่มีประสิทธิภาพในการขนส่งสูงและมีทางวิ่งเฉพาะมาให้บริการ
• เขตชานเมืองที่ถัดออกมาจากพื้นที่กลางเมือง สามารถให้บริการด้วยระบบขนส่งสาธารณะล้อยางที่ใช้ทางวิ่งร่วมกับรถยนต์ส่วนบุคคล
• เขตชั้นนอกของเมือง สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะร่วมกับระบบการขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่ำ
บนเส้นทางคมนาคมสายหลักที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่กลางเมืองกับเขตชานเมือง ควรมีสถานีร่วมระหว่างระบบขนส่งสาธารณะบนทางวิ่งเฉพาะ (ทั้งบนรางและบนถนน) กับระบบขนส่งสาธารณะล้อยางที่วิ่งร่วมกับรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะจากพื้นที่ที่มีกิจกรรมหนาแน่นต่ำและปานกลางเข้าสู่พื้นที่ที่มีกิจกรรมหนาแน่นสูง โดยจุดเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะควรได้รับการออกแบบและบริหารจัดการภายใต้หลักการโครงข่ายการขนส่งแบบไร้ตะเข็บ (Seamless Transportation Network) เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะมีความสะดวกราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากรูปแบบการเดินทางแบบประหยัดพลังงานจะให้ความสำคัญกับการเดินทางจากจุดถึงจุด มากกว่าประเภทของยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง