เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เมื่อเกิดการจราจรติดขัดจะส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะการที่ยานพาหนะจอดอยู่เฉย ๆ เพราะการจราจรติดขัดยังคงต้องใช้พลังงานในการเดินเครื่องและอุปกรณ์ประกอบยานพาหนะโดยที่ไม่ได้ระยะทางที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น การสร้างเมืองประหยัดพลังงานในแง่หนึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมากมาย Anthony Downs (1992) ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการแก้ปัญหาจราจรเมือง และได้ระบุว่า มาตรการด้านการจราจรที่มีประสิทธิภาพสูงได้แก่มาตรการด้านการเงิน และมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เตรียมไว้สำหรับพื้นที่พัฒนาใหม่กลับมีประสิทธิภาพเพียงปานกลางเท่านั้น เช่น การควบคุมให้พื้นที่พัฒนาใหม่มีความหนาแน่นสูง ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่มุ่งแก้ปัญหาการจราจรในปัจจุบัน (เพื่อแก้ปัญหาหลังจากที่มีปัญหาจราจรเกิดขึ้นแล้ว) ถูกประเมินว่ามีประสิทธิภาพต่ำหรือไม่น่าจะประสบความสำเร็จเลย ได้แก่ การสร้างความสมดุลระหว่างที่พักอาศัยกับแหล่งงาน (Jobs and Housing Balance) และการจำกัดการขยายตัวของเมืองเพื่อลดปริมาณและระยะทางในการเดินทาง
การวิเคราะห์ผลการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการจราจรโดย Anthony Downs ได้ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง มาตรการด้านการขนส่งและจราจรที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อกระทำในขอบเขตพื้นที่ระดับภูมิภาคไม่ใช่ระดับเมือง เนื่องจากการเคลื่อนที่ของบุคคลและสินค้าเป็นการสร้างความเชื่อมโยงทางพื้นที่ที่ไม่ได้มีขีดจำกัดเพียงแต่ในขอบเขตของเมืองเท่านั้น แต่มักจะมีห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเมืองเสมอ เพราะการผลิตและกิจกรรมของมนุษย์มีเกณฑ์ในการเลือกที่ตั้งที่เหมาะสมแตกต่างกัน การผลิตและกิจกรรมบางประเภทจะได้เปรียบและมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง แต่ในทางกลับกันการผลิตและกิจกรรมบางประเภทกลับต้องอยู่ในพื้นที่ชนบทจึงจะมีความได้เปรียบและมีประสิทธิภาพสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การวางแผนการขนส่งและจราจรจำเป็นต้องพิจารณาความเชื่อมโยงที่เหมาะสมระหว่างพื้นที่เมืองกับชนบท ซึ่งต้องการการวางแผนในระดับภูมิภาคเป็นสำคัญ ส่วนประการที่สองคือ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้มีการขนส่งและจราจรแบบประหยัดพลังงานนั้นจะต้องมีลักษณะที่เป็นการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเสียตั้งแต่ต้น เห็นได้จากผลการประเมินประสิทธิภาพมาตรการด้านการจราจรของ Anthony Downs ระบุชัดเจนว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ได้เกิดปัญหาด้านการขนส่งและจราจรขึ้นแล้ว มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขจะสามารถทำได้เพียงแค่ประคับประคองไม่ให้ผลกระทบของปัญหาการจราจรรุนแรงมากเกินไปเท่านั้น ดังนั้น การสร้างเมืองประหยัดพลังงานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่ออนาคตและต้องมีกลไกเพื่อการควบคุมและติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นเพราะความไม่ถี่ถ้วนรอบคอบในการวางแผน แล้วค่อยมาตามแก้ปัญหากันภายหลัง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและได้ประสิทธิภาพที่ไม่ดีนัก