การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและรูปแบบพลังงานที่จะใช้กับยานพาหนะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานในการสร้างหรือปรับปรุงองค์ประกอบในการเดินทางต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบพลังงานใหม่ ต้องปรับเปลี่ยนความคุ้นเคยของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และมีภาคีการพัฒนาจำนวนมากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กระทรวงพลังงาน (รับผิดชอบเรื่องการจัดการพลังงาน) กระทรวงคมนาคม (รับผิดชอบเรื่องมาตรฐานยานพาหนะ) ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตพลังงาน เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น จึงต้องมีนโยบายในระยะยาวที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ เพื่อให้ภาคีการพัฒนาต่าง ๆ สามารถไปดำเนินการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายด้านการพลังงาน
ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ หน่วยงานภาครัฐไม่ได้กำหนดนโยบายด้านการพลังงานในระยะยาวที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการผลิตรถประหยัดพลังงาน (Eco-Car) ซึ่งเป็นแนวทางของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่ยังคงใช้น้ำมันเบนซินเพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะ โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ให้ใช้พลังงานรูปแบบเดิมแต่ประหยัดมากขึ้น ในขณะที่ก็ยังมีนโยบายส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์โดยก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas – CNG) ซึ่งเป็นแนวทางของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยุโรป นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับแรงผลักดันจากผู้ผลิตพลังงานทั้งสองประเภทอีกด้วย ทิศทางที่แตกต่างกันของนโยบายพลังงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องเกิดความสับสนและไม่มั่นใจการลงทุนในสิ่งที่ตนเองรับผิดชอบ มาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าและวิจัยก็แยกเป็นสองทิศทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งเมื่อการปฏิบัติกลายเป็นสองทิศทางและสองตลาด แทนที่จะเป็นทิศทางเดียวที่มีขนาดตลาดเดียวขนาดใหญ่ ส่งผลให้ได้รับผลประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) น้อยลง ดังนั้น การวางแผนการขนส่งและจราจรเพื่อส่งเสริมให้เกิดเมืองพลังงานจึงต้องการนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ ซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศและความโปร่งใสในการตัดสินใจโดยยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มีอิทธิพลของผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายต่าง ๆ และผู้ผลิตพลังงานแต่ละรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง