การประหยัดพลังงานจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานต้องแบกรับต้นทุนอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งต้นทุนของการขนส่งและจราจรถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามกลุ่มผู้ที่ต้องแบกรับภาระอันเนื่องมาจากต้นทุนการเดินทาง ได้แก่ ผู้เดินทาง ผู้ให้บริการ และผู้คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เดินทางแต่ได้รับผลกระทบจากการเดินทาง โดยต้นทุนที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางมากที่สุดคือ ต้นทุนด้านราคาที่ผู้เดินทางต้องจ่ายเพื่อการเดินทาง (Out-off-pocket cost) อย่างไรก็ตาม ราคาค่าเดินทางที่ผู้เดินทางต้องจ่ายโดยปกติแล้วจะต่ำกว่าต้นทุนค่าเดินทางที่เกิดขึ้นจริง เพราะหน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนต้นทุนการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการให้เงินอุดหนุนเพื่อลงทุนในระบบขนส่งและจราจร การควบคุมราคา มาตรการด้านภาษีต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางไปประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเมือง ส่งผลให้เมืองมีรายได้กลับคืนมาในอัตราที่คุ้มค่ากับเงินอุดหนุนที่ภาครัฐลงทุนไปกับระบบขนส่งและจราจร
หลักการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าเดินทางได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นการจัดการระบบการเงินและการคลังทั้งหมดของภาครัฐที่ต้องการความโปร่งใสและเป็นธรรมในการตั้งราคาค่าเดินทาง รวมถึงงบประมาณและประเด็นที่ควรให้เงินอุดหนุน เมืองที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและประหยัดพลังงานในทวีปยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกามักจะมีการชี้แจงต้นทุนด้านการขนส่งและจราจรให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจน และมีหลักเกณฑ์ในการให้เงินอุดหนุนการเดินทางอย่างเป็นธรรม โดยจะมีการทำวิจัยเพื่อหามูลค่าที่เกิดจากการที่มีการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น เช่น เมื่อปี ค.ศ.1997 มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริการะบุว่าทุก 1 เหรียญสหรัฐที่จ่ายไปสำหรับค่าน้ำมัน จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 เหรียญสหรัฐ และส่วนต่าง 5 เหรียญสหรัฐนั้นบางส่วนจะใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อนำเงินกลับมาพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรและอุดหนุนค่าเดินทาง ดังนั้น การตั้งราคาของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและจราจรทั้งหมดจึงต้องอ้างอิงมาจากส่วนต่าง 5 เหรียญสหรัฐนั้นอย่างมีเหตุมีผลและตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ภาษีทะเบียนรถยนต์ ฯลฯ ด้วยวิธีการดังกล่าวการให้บริการขนส่งและจราจรจึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมากจนเกินไป และผู้เดินทางก็ต้องแบกรับต้นทุนไปอย่างเหมาะสมและแปรผันไปตามระยะทางและคุณภาพของบริการที่ได้รับ ส่งผลให้ผู้เดินทางมีความใส่ใจต่อการใช้พลังงานในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการจัดการของประเทศไทยที่รัฐบาลกลางและประชาชนให้ความสนใจจากประเด็นทางการเมืองมากกว่าความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของระบบขนส่งและจราจร ทำให้การตั้งราคาของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้เดินทางจึงมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานอย่างไม่ประหยัด