เมื่อหลายวันก่อนมีคนถามผู้เขียนว่า "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเรียนคณะอะไรในมหาวิทยาลัย" ผู้เขียนนั่งคิดอยู่นาน จนคนถามบอกว่า ถามเล่น ๆ คิดคำตอบนานอย่างกับจะตัดสินใจซื้อบ้าน แล้วผู้เขียนก็ได้คำตอบให้กับตนเองว่า "จะไม่เข้ามหาวิทยาลัยเลยคงจะดีกับชีวิตมากกว่า" จึงกลายเป็นประเด็นร้อนในการถกเถียงกันในโต๊ะอาหาร เมื่อผู้เขียนเปิดประเด็นให้คนทะเลาะกันแล้ว ตนเองก็นั่งเงียบ ๆ เรียบเรียงความคิดตัวเองใหม่ ว่าทำไมจึงคิดว่าจะไม่เข้าเรียนอะไรเลย ก็ได้ข้อสรุปดังนี้
๑. การศึกษาของเราจำกัด "ทางเลือก" ของผู้เรียน แต่กลับให้ความสำคัญกับ "ระดับการศึกษา" มากกว่า "ความรู้ที่เหมาะสม" กลายเป็นว่าทุกคนต้องจบปริญญาตรีจึงจะสามารถทำงานได้ แต่หลักการของการศึกษา คือ เรียนเพื่อเอาไปใช้ทำงาน มีงานเป็นร้อยเป็นพันอย่างที่ไม่ต้องการความรู้ถึงระดับปริญญาตรี แต่ตอนนี้ต้องรับคนจบปริญญาตรีเข้าไปทำงาน ในทางที่ถูกที่ควรคือ ตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ ทุกคนก็ต้องสามารถเติบโตไปในทางที่ตนเองต้องการได้ ไม่ว่าจะจบมัธยมศึกษาแล้วไปทำงานเลย หรือ จะเรียนต่อ แต่ละเส้นทางต้องมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน ไม่ใช่จะต้องจบปริญญาตรีเท่านั้น
๒. การศึกษาของเราจำกัด "ความคิดสร้างสรรค์" ของผู้เรียน ด้วยการกำหนดมาตรฐานการศึกษา แล้วเข้มงวดกับมันมากเกินไป จนทุกคนที่จบมาเหมือนกันหมด มีความคิดแบบเดียวกัน แต่งตัวเหมือนกัน มีทัศนคติกับการทำงานและผลตอบแทนเหมือนกัน ฯลฯ แต่สิ่งที่การศึกษาควรจะให้ คือการให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเท่ากันทุกคน แล้วให้ผู้เรียนแต่ละคนเอาไปงอกเงยและพัฒนาด้วยพื้นฐาน ความต้องการ และวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งผู้สอนในประเทศไทยมีทัศนคติอย่างนี้น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะบอกว่าผู้เรียนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามทัศนคติของผู้สอน แต่ไม่เคยคิดเลยว่า ผู้เรียนอยากได้อะไร
๓. การศึกษาของเรา "ไม่สนใจความต้องการที่แท้จริงของสังคม" ลองไปสืบค้นดูได้ว่าอาจารย์ใหม่ที่รับเข้ามาในมหาวิทยาลัย คือ อาจารย์ที่ "เก่งในสายตาของอาจารย์" ดังนั้น อาจารย์ใหม่ก็เหมือนอาจารย์เก่าทุกอย่าง เป็นแบบจำลองสืบทอดกันมา แต่ไม่เคยมองความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียนการสอนก็เลยเป็นแบบเดิมหรือปรับแต่งจากแบบเดิมเพียงเล็กน้อยเป็นหลัก ในขณะที่ความคิดในวิธีการเรียนการสอน และสาขาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นักเรียนก็ยังเรียนแบบเดิม คิดแบบเดิม ใครคิดแบบใหม่กลายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่ถูกต้อง
๔. การบริหารการศึกษากลายเป็น "เรื่องผูกขาด" เส้นทางการเติบโตทางการงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือการมีงานบริหารมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นคณบดีหรืออธิการบดี สุดท้ายก็เสียอาจารย์ดี ๆ ที่มีความรู้ความสามารถทางการเรียนการสอนไป แล้วได้ผู้บริหารห่วย ๆ รู้แต่เรื่องการเรียนการสอนในคณะตนเอง และมีความสามารถทางการเมือง มาเป็นผู้บริหารที่มุ่งแต่หาเงินเข้าคณะและภาควิชาตนเอง โดยไม่สนใจว่า หน้าที่หลักของอาจารย์มหาวิทยาลัยคือ การสอนหนังสือ โดยการปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ
ตอนนี้คิดออกแค่ ๔ ข้อก่อน แต่ก็คงเกินพอที่จะสนับสนุนความคิดที่จะไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยของผู้เขียนได้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับปริญญามากเกินไป ตอนนี้กลายเป็นว่าจะต้องจบถึงปริญญาโท ลองคิดดูว่าชีวิตคนหนึ่งคนเสียเวลากับการศึกษาตั้งแต่เกิดจนจบปริญญาโทถึง ๒๕ ปี เหลือเวลาทำงานอีกแค่ ๓๕ ปี แทนที่จะทำงานตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี แล้วมีเวลาเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของชีวิตโดยผ่านการทำงาน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน ซึ่งพวกที่ไม่เห็นด้วยก็มักจะอ้างว่าประเทศอื่น ๆ ทีพัฒนาแล้วมีคนจบปริญญาตรีเยอะ ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่จริง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาให้ความสำคัญกับทางเลือกของผู้เรียนเป็นอย่างมาก เมื่อจบภาคบังคับแล้ว คุณจะไม่เรียนแล้วไปทำงานเลยหรือจะเข้าเรียนสายอาชีพ ก็จะเติบโตเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับงานที่เขาทำ เพราะผ่านงานมาตั้งแต่ตำแหน่งต่ำสุดมาจนถึงระดับสูงสุดขององค์กร ส่วนคนที่เข้ามหาวิทยาลัย คือ คนที่ต้องการจะเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญแต่อย่างใด แต่ก็ช่างมันเหอะ ผู้เขียนก็ไม่ได้เรียนสูงอะไรนักหนา พวกที่เรียนสูง ๆ มาอ่านตรงนี้เข้า เขาก็คงด่าผู้เขียนว่าเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว ไม่ได้เรียนสูง ๆ ก็เลยมาหาเหตุผลบอกว่าการเรียนสูง ๆ ไม่ดี แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยังความคิดที่ว่า สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย มันคือ "ปริญญางมงาย มหาลัยงมเงา"