Saturday, April 12, 2008

ความล้มเหลวของระบบขนส่งสาธารณะบนรางในกรุงเทพมหานคร

หลายคนคงคิดว่าไอ้นี่ท่าจะบ้า เมื่อผู้เขียนประกาศว่า “ระบบขนส่งสาธารณะบนรางที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครล้มเหลว” จะล้มเหลวได้อย่างไร ในเมื่อยอดรวมของผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผนวกกับราคาค่าพลังงานก็แพงขึ้นทุกวัน แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยันความเห็นเดิม เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของผลประโยชน์ที่มีต่อเมืองแล้วกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจราจรอย่างคุ้มค่ากับต้นทุนที่เกิดกับเมือง เช่น มลพิษทางทัศนวิสัย พื้นที่ทางเท้า ค่าเสียโอกาส เป็นต้น

ต้นเหตุแห่งความล้มเหลวเกิดจากการวางตำแหน่งทางการตลาดของระบบขนส่งสาธารณะบนราง ที่กำหนดตนเองเป็น “ทางเลือกใหม่” ของการเดินทาง แต่ไม่ได้กำหนดตนเองให้เป็น “การสัญจรหลัก” ซึ่งจะต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะให้บริการทุกคน ทุกระดับรายได้ในเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์กับส่วนรวมเป็นหลัก ผลประโยชน์ต่อผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นรางเป็นเรื่องรอง แต่การมุ่งเป็น “ทางเลือกใหม่” มีเหตุผลด้านผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับผู้ให้บริการเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องตั้งราคาในระดับที่ผู้ให้บริการสามารถดำรงอยู่ได้ ทำให้ต้องจับกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง ส่วนกลุ่มรายได้ต่ำไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนบนรางได้ ผลจากการวางตำแหน่งทางการตลาดดังกล่าว ทำให้ระบบขนส่งมวลชนบนรางไม่สามารถตอบสนองทุกกลุ่มรายได้ในเมือง ส่งผลให้ยังคงต้องมีรถประจำทางล้อยาง (รถเมล์) วิ่งทับเส้นทางเดียวกันกับระบบขนส่งมวลชนบนรางเพื่อทำหน้าที่ให้บริการกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปก็ไปใช้ระบบรางบนเส้นทางเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์ที่ระบบขนส่งมวลชนบนรางควรจะให้กับเมืองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แทนที่จะลดปริมาณรถประจำทางล้อยางบนเส้นทางที่ระบบขนส่งมวลชนบนรางวิ่งอยู่ได้ แล้วไปเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่นอกเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชนบนราง โดยทำหน้าที่เป็น Feeder เพื่อนำประชากรที่อยู่ห่างจากสถานีระบบขนส่งมวลชนบนรางเกินกว่าระยะเดินเท้า เป็นการขยายขอบเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนบนราง เพื่อให้เป็นระบบหลักของเมืองอย่างแท้จริง ลดปริมาณยานพาหนะล้อยางบนเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรมากอยู่แล้ว และทำให้เกิดความคุ้มค่ากับสิ่งที่พลเมืองต้องเสียไปเพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนบนรางมาตั้งอยู่ในเมือง

วิธีการที่ควรจะนำมาใช้เพื่อจัดการระบบขนส่งมวลชนในเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร คือการบริหารจัดการแบบบูรณาการและให้จัดเก็บค่าบริการร่วมกัน (ตั๋วโดยสารใบเดียวกับทุกยานพาหนะ) โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ควบคุมการให้บริการ ทำหน้าที่วางแผนเส้นทางและบริการ กำหนดราคา จัดสรรรายได้ให้กับผู้ให้บริการหลากหลายรายที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย องค์กรกลางนั้นมีรูปแบบได้หลากหลายตามความเหมาะสม ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว อาจเป็นเอกชนรายใดรายหนึ่งที่ทำหน้าที่เดินรถอยู่แล้ว หรือเป็นเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการจัดการ หรืออาจเป็นหน่วยงานของรัฐก็ได้ แต่เชื่อได้ว่าสำหรับวิถีไทยคงทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพต้องการความโปร่งใสในการดำเนินการและสามารถตรวจสอบได้จากสาธารณชน ซึ่งไม่ใช่ “สันดาน” ของคนไทยแต่อย่างใด ก็เลยต้องทนใช้ของที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ใช้งานได้แค่ครึ่งเดียวของประสิทธิภาพจริงต่อไป