Monday, March 24, 2008

"วิกฤติพลังงาน" แก้ไขไม่ได้ด้วย "พลังงานทดแทน"

ปัญหาสำคัญของมวลหมู่มนุษยชาติในปี ๒๐๐๘ และต่อ ๆ ไป คือ วิกฤติพลังงาน ที่สืบเนื่องมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ กำลังจะหมดไปจากโลก อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่ง (จีน) และอันดับสอง (อินเดีย) ทำให้เกิดความต้องการการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาทำให้ความขาดแคลนยิ่งเลวร้ายลงไปอีก จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแรงผลักดันในการคิดค้น "พลังงานทดแทน" ขึ้นมาเพื่อเอามาใช้ทั้งในครัวเรือน การขนส่ง และอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ (LPG และ CNG) น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันไบโอดีเซลบีต่าง ๆ กัน เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน น้ำ ลม แสงอาทิตย์ และนิวเคลียร์ ซึ่งพลังงานทดแทนเหล่านี้ถูกคาดหวังว่าจะนำมาใช้แทนน้ำมันได้ในอนาคตอันใกล้

แต่ก็มีนักคิดกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มองว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานด้วยพลังงานทดแทนไม่ใช่ทางออกที่มีประสิทธิภาพ แถมยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอีกด้วย ช่างติดตั้งแก๊สรถยนต์บอกผู้เขียนว่า คนที่ติดแก๊สรถยนต์ ตอนแรกคิดว่าเมื่อติดแก๊สแล้วจะเสียค่าพลังงานลดลง แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับเสียเงินเท่าเดิมหรือมากขึ้นเสียอีก เพราะคิดว่าค่าพลังงานต่อหน่วยถูกลงแล้ว ก็เลยเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม ปรากฏการณ์นี้เทียบเคียงได้กับปรากฏการณ์ Tripple Convergence ด้านมาตรการการจราจร ที่ระบุว่ามาตรการการจราจรที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านอุปทาน เช่น การขยายหรือสร้างถนนเส้นใหม่ จะส่งผลให้ผู้เดินทางเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น (Modal Convergence) เดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน (Time Convergence) และในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด (Spatial Convergence)

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวเมื่อนำมาเทียบเคียงกับนโยบายด้านพลังงานที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเป็นหัวหอก แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีพื้นฐานความคิดว่า ให้ประชาชนเดินทางเท่าเดิม ในรูปแบบเดิมทุกอย่าง เพียงแต่ให้ค่าพลังงานถูกลงเท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ Static ไม่ได้มีความ Dynamic ที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เลย คิดแต่ว่าผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบีห้าได้หนึ่งล้านลิตรต่อวัน จะประหยัดเงินลงไปได้เท่าไหร่ โดยคิดจากฐานปริมาณการใช้งานในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้คิดว่า เมื่อราคาน้ำมันไบโอดีเซลถูกลง พฤติกรรมการขนส่งและการเดินทางจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วจึงมาคิดว่าต้องการปริมาณน้ำมันเท่าไหร่ ในราคาเท่าไหร่ ด้วยวิธีการผลิตแบบใด แล้วจบลงว่ามันคุ้มหรือไม่ที่จะผลักดันไบโอดีเซลบีห้า

นักคิดกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้มีความคิดว่า ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและการขนส่งของมนุษย์เป็นฐานในการแก้ปัญหาพลังงาน แล้วเอาเรื่องพลังงานทดแทนมาเป็นประเด็นเสริม สิ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้คือเศรษฐศาสตร์เมือง ที่กำหนดที่ตั้งของกิจกรรมและการใช้ประโยชน์ที่ดินต่าง ๆ ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ และค่าเดินทางก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของเศรษฐศาสตร์เมือง มาตรการที่คาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เช่น Compact City, Road Pricing ฯลฯ ซึ่งมุ่งใช้ราคามาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเลือกที่ตั้งของกิจกรรมและรูปแบบการเดินทาง และนำเอามาตรการเหล่านี้มาพิจารณาว่า จะใช้พลังงานแบบใดจึงจะคุ้มประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่กลับทิศทางกับที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่ (มุ่งเอาค่าพลังงานเป็นตัวตั้ง โดยมีเป้าหมายว่าคนต้องมีพฤติกรรมการเลือกที่ตั้งและรูปแบบการเดินทางแบบเดิม) เชื่อไหมว่า นักการเมืองคิดแบบนี้ไม่ได้หรอก เพราะจะคิดแบบนี้ได้ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดว่า "เอาประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง" ซึ่งไม่ใช่สันดานของนักการเมืองแต่อย่างใด