ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคดีรถ-เรือดับเพลิงได้ขึ้นมาเป็นข่าวร้อนของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในเมืองหลวง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เป็นผู้นำทางความคิดของประเทศ ด้วยประเด็นที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ควงคู่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกมาประกาศพักการทำงาน หลังจากที่ คตส.ชี้ว่าผู้ว่าฯ อภิรักษ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตดังกล่าว สังคมคนเมืองออกมาชื่นชมการตัดสินใจของผู้ว่าฯ ในขณะที่พรรคพลังประชาชนต้องออกมาปกป้องตัวเองเป็นพัลวัน เพราะมีนักการเมืองระดับแกนนำพรรคหลายคนที่มีคดีเทียบเคียงได้กับคดีของผู้ว่าฯ ไล่ตั้งแต่ตัวนายกฯ สมัคร และรัฐมนตรีอีก ๓ คน (คดีหวยบนดิน) ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้ถูกสังคมเมืองประณามว่าไร้ยางอาย ไม่มีจริยธรรม ฯลฯ
ผู้เขียนติดตามเรื่องนี้ด้วยความตื่นเต้น เพราะนี่คือเกมการชิงความได้เปรียบทางการเมืองที่มีเดิมพันสูงทีเดียว โดยพรรคประชาธิปัตย์เอาระดับรองหัวหน้าพรรคที่มีศักยภาพสูงมาเสี่ยงด้วยยุทธการ "ม้าแลกขุน" เพื่อผลักแรงกดดันที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องแบกรับผ่องถ่ายไปสู่พรรคพลังประชาชน ด้วยข้อหาด้อยจริยธรรมทางการเมือง แต่พรรคพลังประชาชนก็แก้เกมด้วยการถามย้อนกลับว่า "ทำไมไม่ลาออกเลยล่ะ" เพราะการพักงาน ก็คือยังคงมีอำนาจเหมือนเดิม เพราะผู้มารักษาการแทนก็คือรองผู้ว่าฯ ซึ่งก็เป็นคนก๊กเดียวกันนั่นแหละ ผู้ว่าฯ ก็เลยต้องเปลี่ยนจากพักงานเพื่ออำนาจต่อรองเฉย ๆ เป็นการลากิจ ๓๐ วัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยก็ไม่อนุมัติเสียอีก
เรื่องนี้เป็นการชิงเไหวพริบเพื่อความได้เปรียบในฐานเสียงคนเมืองอย่างชัดเจน การพักงานก็เพื่อกดดันพรรคพลังประชาชน ผู้ว่าฯ เองก็ไม่กล้าลาออกให้เลือกตั้งกันใหม่ เพราะกลัวออกแล้วจะไม่ได้กลับมาอีก (เชื่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ผู้ว่าฯ จะลงสมัครอีกสมัย เพราะออกมาตอนนี้ก็ไม่มีที่ลงที่เหมาะสมกับก้าวที่ใหญ่กว่าต่อไป) พรรคพลังประชาชนก็ไม่คิดจะพักงานนักการเมืองระดับแกนนำของตนเองอยู่แล้ว เพราะแค่หายไป ๑๑๑ คน ก็หาคนที่สังคมพอจะยอมรับได้มาทำงานยากอยู่แล้ว การเคลื่อนไหวของผู้ว่าฯ อภิรักษ์มีเป้าหมายเพื่อยึดฐานเสียงกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เอาไว้ให้แน่น เพราะเมื่อพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล ความได้เปรียบของการปกครองข้าราชการทำให้พลังประชาชนถือไพ่เหนือกว่า และเริ่มรุกเข้ามีชิงความได้เปรียบในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องหาช่องมารักษาฐานเสียงสำคัญของตนเอง
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของทั้งสองพรรคจึงเป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีใครคิดถึงจริยธรรม บรรทัดฐาน หรือคุณธรรมแต่อย่างใด พวกเราคนธรรมดาก็ควรดูเหมือนกับดูหนังดูละคร อย่าเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง สนับสนุน เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่บังคับให้ทั้งสองพรรคต้องทำอย่างที่แต่ละฝ่ายทำอยู่ ลองกลับกัน ให้ประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาล แล้วพลังประชาชนเป็นพรรคฝ่ายค้านแต่ท่านเฉลิมเป็นผู้ว่าฯ กทม. พรรคพลังประชาชนก็จะให้ท่านเฉลิมพักงาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ยอมให้ท่านอภิสิทธ์ ท่านเทพเทือก ฯลฯ ที่เป็นรัฐมนตรีแถวหน้าพักงานเหมือนกันนั่นแหละ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนและประเทศชาติก็จะเป็นผู้เสียหายอยู่ดี เพราะสันดานนักการเมืองก็คิดแต่ประโยชน์ของตนเองนั่นแหละ