กระแสการทำบุญในช่วงเทศกาลต่าง ๆ กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หลายจังหวัด หลายภูมิภาค พยายามส่งเสริมและโฆษณาการทำบุญในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและจิตใจของบุคคล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มี ๙ วัดที่อยู่ในโปรโมชั่นนี้ ได้แก่ ๑.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ๒.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ๓.ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ๔.วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ๕.ศาลเจ้าพ่อเสือ ๖.วัดระฆังโฆสิตาราม ๗.วัดสุทัศนเทพวราราม ๘.วัดชนะสงคราม และ ๙.วัดกัลยาณมิตร ซึ่งผู้คนนิยมเดินทางกันไปทำบุญให้ครบทั้ง ๙ วัดภายใน ๑ วัน โปรโมชั่นแบบเดียวกันนี้ ในบางจังหวัด ได้มีการจัดทำบัตรและตราประทับไปไว้ตามวัดต่าง ๆ ในเครือข่าย เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้ประทับตราให้ครบเพื่อเอาไว้อวดคนอื่นหรือเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ได้
ถ้าพิจารณาโปรโมชั่น "ทำบุญ ๙ วัด" แค่ประเด็นของการทำบุญและการพัฒนาจิตใจอย่างเดียว ก็คงจะเป็นโปรโมชั่นที่ดี น่าสนับสนุน แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบภายนอก (Externalities) ของโปรโมชั่นนี้อาจจะต้องคิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัยทางการจราจร เพราะการทำบุญให้ครบ ๙ วัด ใน ๑ วัน ก่อให้เกิดการเดินทางแบบเร่งด่วนจำนวนมาก ในวันที่มีรูปแบบการเดินทางพิเศษ คือการเดินทางในวันหยุด และในบางเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือ สงกรานต์ จะมีผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาเหล้า และผู้ไปทำบุญเองส่วนใหญ่ก็ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางอาจมีการเข้าช่องผิด หยุดกระทันหัน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงอุบัติเหตุมากกว่าการเดินทางปกติ แถมยังต้องรีบเร่งให้ทำบุญได้ครบใน ๑ วัน ไม่งั้นโปรโมชั่นหมด จะไม่ได้บุญเสียเปล่า ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาคอยจัดการการจราจรให้บริเวณใกล้เคียงกับวัดเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่วันหยุดเทศกาลก็งานยุ่งมากอยู่แล้ว ผลกระทบภายนอกเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงเท่าไหร่ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากค่าทำบุญ ค่าจอดรถ ค่าพลังงาน ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก ก็ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงชีวิตและทรัพย์สินต่อไป ทำบุญเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ เสี่ยงชีวิตก็ช่างมันของให้ฉันได้ขึ้นสวรรค์ด้วยการทำบุญ ๙ วัดใน ๑ วันก็พอแล้ว