Sunday, March 16, 2008

"เมืองการค้าชายแดน" กับอนาคตที่สดใสจริงหรือ

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปหานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศไทยที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ หลากหลายกันไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองที่อยู่บริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศต่าง ๆ เช่น หนองคาย เชียงแสน มุกดาหาร อรัญประเทศ เบตง สุไหงโกลก ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีความได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงควรสนับสนุนความได้เปรียบนั้นต่อไป โดยพัฒนาเมืองเหล่านั้นให้เป็นตลาดการค้าระหว่างประเทศเพื่อพักสินค้าแล้วขายต่อไปโดยมีมูลค่าเพิ่ม

แต่เมื่อลองมาพิจารณาถึงอนาคตด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการพัฒนาเมืองการค้าชายแดนเหล่านั้น ว่าในอนาคตจะยังมี "การค้าชายแดน" อยู่หรือเปล่า แน่นอนว่าการค้าระหว่างประเทศต้องยังมีอยู่ เพราะแต่ละประเทศมีทรัพยากรและสินค้าที่แตกต่างกัน แต่มีความจำเป็นจะต้องไปหยุดสินค้าและกระจายไปอีกครั้งที่เมืองชายแดนหรือเปล่า ซึ่งดูเหมือนว่าในอนาคตการพักเพื่อลดขนาดในการขนส่ง หรือ repacking เพื่อรวมกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ไม่น่าจะเกิดที่ชายแดนอีกต่อไป อีกทั้งนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศที่พยายามจะกำจัดรอยต่อทางการค้าระหว่างพรมแดน ที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นให้หมดไป ในอนาคตการค้าระหว่างประเทศน่าจะเป็นการสั่งตรงจากผู้ผลิตแล้วส่งไปยังลูกค้าหรือผู้กระจายสินค้าในประเทศผู้ซื้อโดยตรง ด้วยระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Logistics) ที่มีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องหยุดระหว่างทางที่จะให้ต้นทุนสูงขึั้นโดยไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งเมืองการค้าชายแดนยังไม่ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่จะรวบรวมและกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียอีก เช่น อำเภออรัญประเทศเป็นเมืองการค้าชายแดน แต่เมืองที่อยู่ในตำแหน่งที่จะรวบรวมและกระจายสินค้าได้ดีที่สุดคือ กบินทร์บุรี เพราะเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓ (ตะวันออก-ตะวันตก) กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ (เหนือ-ใต้)

ถ้าสมมติฐานของผู้เขียนถูกต้อง จะไม่มีเมืองการค้าชายแดนอีกต่อไป แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองการค้าชายแดน คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ต้องไปหาอย่างอื่นทำ และที่มีศักยภาพสูงก็คือ การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มีการขนส่งวัตถุดิบข้ามประเทศ เช่น การนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ Contract Farming แล้วขนส่งมาผลิตขั้นสุดท้ายที่เมืองชายแดนของประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี คุณภาพแรงงาน และการขนส่งไปสู่ตลาดต่างประเทศที่ดีกว่า การค้าระหว่างประเทศจะเป็นเรื่อง "ระหว่างประเทศ" ที่แท้จริง คือ ผลิตจากแหล่งผลิตที่ไหนก็ได้ในประเทศหนึ่ง แล้วส่งต่อไปยังที่ไหนก็ได้ในอีกประเทศหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยเมืองการค้าชายแดนมาเป็นข้อต่ออีกต่อไป แต่เชื่อไหมว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบคิดเรื่องนี้ไม่ได้หรอก ไม่ใช่เพราะมีบุคคลากรที่ด้อยความสามารถ แต่เขาต้องเอาความสามารถไปทำอย่างอื่นเพื่อให้ได้ยศตำแหน่งก้าวหน้า ช่างมันเหอะ ประเทศไทยไม่ได้เป็นของผู้เขียนเพียงคนเดียว ใครเห็นด้วยกับความคิดของผู้เขียนก็เอาไปเรียกร้องกันเองบ้างเหอะ