Friday, May 25, 2007

ยุ่งไปหมด

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้คุยกับอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ถึงเรื่องประเด็นปัญหาการจัดการภาครัฐของประเทศไทย ว่ามีขั้นตอนมากมายทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ท่านได้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะกฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศไทย อยู่บนสมมติฐานของการจับผิด คือเริ่มต้นคิดว่าจะสร้างกฎระเบียบอย่างไรมาจับผิดคนให้ได้ดีที่สุด ผลที่ออกมาจึงมีขั้นตอนมากมายเพื่อให้สามารถจับผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎระเบียบต่าง ๆ จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่กลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน

แล้วก็เลยพาดพิงไปถึงอีกเรื่อง คือความซ้ำซ้อนกันของการทำงาน งานอย่างเดียวกัน แต่มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนั้นหลายหน่วยงาน จนไม่รู้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหนของงานนั้น ๆ แกเลยอ้างถึงงานวิจัยของชาวต่างชาติ ที่มีศึกษาเกี่ยวกับระบบราชการไทย และพบว่า แค่การจัดการกับนกเป็ดน้ำหนึ่งตัว ต้องเกี่ยวข้องกับกรมถึงสามกรม คือถ้านกเป็ดน้ำนั้นว่ายน้ำอยู่ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมง แต่ถ้านกเป็ดน้ำนั้นเดินอยู่บนบก กลายเป็นความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ ส่วนในกรณีที่นกเป็ดน้ำบินอยู่ กลายเป็นสัตว์ป่าสงวน ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ นี่แค่นกเป็ดน้ำตัวเดียว แต่ยังมีความรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องยุ่งกับหน่วยงานมากมายนี้อยู่อีกไม่รู้เท่าไหร่ในประเทศไทย สาธุ