Saturday, April 26, 2008

การเล่นหวยในประเทศไทย ควรได้รับการยกระดับให้เป็น "อาชีพเล่นหวย" อย่างเป็นทางการ

นี่ก็เข้าวันที่ ๒๖ เมษายนแล้ว อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันหวยออก วันที่ประชาชนชาวไทยจำนวนมากรอคอย ด้วยความหวังว่าจะร่ำรวยมีโชคถูกรางวัลทั้งจากหวยบนดินและใต้ดินหลายหลายประเภทที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้นำเสนอให้ ถ้าลองไปสอบถามผู้เล่นหวยทั้งหลายว่าคาดหวังแค่ไหนกับการถูกรางวัล ก็มักจะได้คำตอบว่าเล่นสนุก ๆ เล็กเล็กน้อยน้อยเท่านั้น แต่พอถามยอดเงินที่ใช้จ่ายกับการเล่นหวยเข้า ก็พบว่าไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้ซื้อ

ถ้าตีความว่าการเล่นกีฬาอะไรสักอย่าง ก็จะถูกแบ่งออกเป็นประเภท "สมัครเล่น" กับ "อาชีพ" ซึ่งแตกต่างกันด้วยความทุ่มเทและความพยายามที่ให้กับการเล่นนั้น ๆ นักเล่นหวยมักจะตีความตนเองว่าเป็นแค่พวก "สมัครเล่น" เนื่องจากไม่ได้เล่นทุกวันและมีอาชีพการงานอย่างอื่นที่ทำเป็นหลัก ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะของนักเล่นล็อตเตอรี่ตามหลักการที่ทั่วโลกใช้กัน คือ ภาครัฐออกล็อตเตอรี่เพื่อระดมเงินไปใช้ในทางสาธารณะ โดยใช้วิธีให้คนมาเสี่ยงโชคและเอารายได้มาจ่ายคืนบางส่วน โดยที่คนซื้อก็ซื้อเป็นครั้งคราวตามแต่งวดของล็อตเตอรี่ว่าจะออกช่วงไหน แต่สำหรับนักเล่นหวยในประเทศไทยแล้ว พฤติกรรมการเล่นหวยต่างจากชาติอื่น ๆ ตรงที่มีความพยายามที่จะได้มาซึ่งเลขเด็ด ไม่ว่าจะเป็นการตีความหมายของความฝัน การไปหาเจ้าแม่เจ้าพ่อตามสำนักต่าง ๆ การไปขอเลขเด็ดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งประหลาดต่าง ๆ ทั้ง คน พืช สัตว์ และสิ่งของ แม้แต่พระสงฆ์องคเจ้าเองก็ยังเข้ามาอยู่ในวังวนแห่งการเล่นหวย ด้วยพฤติกรรมที่มีความพยายามเหล่านี้ทำให้การเล่นหวยในประเทศไทยมีต้นทุนและแรงงานที่ต้องใช้เพื่อการละเล่นมากกว่านักเล่นหวยในประเทศอื่น ๆ จึงมีคนนักเล่นหวยจำนวนหนึ่งที่ทุ่มเทกับการหาเลขเด็ดจนงานประจำกลายเป็นงานอดิเรก ยกระดับเป็นนักเล่นหวย "มืออาชีพ" นักเล่นหวยเหล่านี้มักจะเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น แม่ค้า พ่อค้า หาบเร่แผงลอย พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยรายได้ประจำที่ได้จากการประกอบอาชีพปกติ จะไปทำอย่างอื่นก็ประเมินตนเองว่าไม่มีความรู้ ทุนทรัพย์ และความพยายามมากพอที่จะทำได้ การเล่นหวยจึงเป็นทางออกที่เขาคิดว่าดีที่สุดที่พวกเขาจะทำให้เงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ พวกเขามีความหวังว่าถ้าถูกหวยรางวัลใหญ่ขึ้นมาสักครั้งจะได้เงินไปลงทุนมีอาชีพที่ดีกว่าที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบัน แต่พอถูกเข้าจริง ๆ ก็เอาไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนเงินหมดในเวลาอันสั้น ไม่ได้นำมาเป็นทุนในการประกอบอาชีพแต่อย่างใด แล้วสุดท้ายก็กลับมาเป็นนักเล่นหวยมืออาชีพเหมือนเดิม ด้วยความหวังแบบเดิม เป็นวงจรอุบาทว์ที่คนจำนวนมากหนีจากมันออกไปไม่ได้

บทความนี้แม้ว่าจะจั่วหัวเอาไว้ถึง "นักเล่นหวยมืออาชีพ" แต่ก็ไม่ได้ต้องการให้มีอาชีพนี้แต่อย่างใด เพียงแต่อยากแสดงมุมมองอีกด้านหนึ่ง ที่ภาครัฐและนักวิชาการทีั้งหลายมักจะไม่ให้ความสนใจ พวกเขามัวแต่คิดว่าจะออกหวยอย่างไรจึงจะไม่มีการล็อก ทำอย่างไรจะมีสัดส่วนของรางวัลให้มากขึ้น โดยเอาวิธีการของต่างชาติมาอ้างว่า ผมได้ดูงานมาเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนลืมศึกษาถึงพฤติกรรมการเล่นหวยและล็อตเตอรี่ของคนไทย ผู้เขียนไม่สนใจหรอกว่าจะออกหวยอย่างไร ใครจะล็อกหรือโกง รางวัลที่หนึ่งจะได้กี่ล้าน แต่สนใจว่าคนที่เล่นหวยเขามีพฤติกรรมอย่างไร แล้วมันถูกต้อง คุ้มประโยชน์กับประเทศชาติหรือไม่ ไม่ต้องมาอ้างว่า ประเทศอื่น ๆ เขามีแล้วเราต้องมีตาม เพราะเราไม่เหมือนคนอื่นและคนอื่นก็ไม่เหมือนเรา

Saturday, April 12, 2008

ความล้มเหลวของระบบขนส่งสาธารณะบนรางในกรุงเทพมหานคร

หลายคนคงคิดว่าไอ้นี่ท่าจะบ้า เมื่อผู้เขียนประกาศว่า “ระบบขนส่งสาธารณะบนรางที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครล้มเหลว” จะล้มเหลวได้อย่างไร ในเมื่อยอดรวมของผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผนวกกับราคาค่าพลังงานก็แพงขึ้นทุกวัน แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยันความเห็นเดิม เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของผลประโยชน์ที่มีต่อเมืองแล้วกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจราจรอย่างคุ้มค่ากับต้นทุนที่เกิดกับเมือง เช่น มลพิษทางทัศนวิสัย พื้นที่ทางเท้า ค่าเสียโอกาส เป็นต้น

ต้นเหตุแห่งความล้มเหลวเกิดจากการวางตำแหน่งทางการตลาดของระบบขนส่งสาธารณะบนราง ที่กำหนดตนเองเป็น “ทางเลือกใหม่” ของการเดินทาง แต่ไม่ได้กำหนดตนเองให้เป็น “การสัญจรหลัก” ซึ่งจะต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะให้บริการทุกคน ทุกระดับรายได้ในเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์กับส่วนรวมเป็นหลัก ผลประโยชน์ต่อผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นรางเป็นเรื่องรอง แต่การมุ่งเป็น “ทางเลือกใหม่” มีเหตุผลด้านผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับผู้ให้บริการเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องตั้งราคาในระดับที่ผู้ให้บริการสามารถดำรงอยู่ได้ ทำให้ต้องจับกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง ส่วนกลุ่มรายได้ต่ำไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนบนรางได้ ผลจากการวางตำแหน่งทางการตลาดดังกล่าว ทำให้ระบบขนส่งมวลชนบนรางไม่สามารถตอบสนองทุกกลุ่มรายได้ในเมือง ส่งผลให้ยังคงต้องมีรถประจำทางล้อยาง (รถเมล์) วิ่งทับเส้นทางเดียวกันกับระบบขนส่งมวลชนบนรางเพื่อทำหน้าที่ให้บริการกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปก็ไปใช้ระบบรางบนเส้นทางเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์ที่ระบบขนส่งมวลชนบนรางควรจะให้กับเมืองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แทนที่จะลดปริมาณรถประจำทางล้อยางบนเส้นทางที่ระบบขนส่งมวลชนบนรางวิ่งอยู่ได้ แล้วไปเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่นอกเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชนบนราง โดยทำหน้าที่เป็น Feeder เพื่อนำประชากรที่อยู่ห่างจากสถานีระบบขนส่งมวลชนบนรางเกินกว่าระยะเดินเท้า เป็นการขยายขอบเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนบนราง เพื่อให้เป็นระบบหลักของเมืองอย่างแท้จริง ลดปริมาณยานพาหนะล้อยางบนเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรมากอยู่แล้ว และทำให้เกิดความคุ้มค่ากับสิ่งที่พลเมืองต้องเสียไปเพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนบนรางมาตั้งอยู่ในเมือง

วิธีการที่ควรจะนำมาใช้เพื่อจัดการระบบขนส่งมวลชนในเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร คือการบริหารจัดการแบบบูรณาการและให้จัดเก็บค่าบริการร่วมกัน (ตั๋วโดยสารใบเดียวกับทุกยานพาหนะ) โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ควบคุมการให้บริการ ทำหน้าที่วางแผนเส้นทางและบริการ กำหนดราคา จัดสรรรายได้ให้กับผู้ให้บริการหลากหลายรายที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย องค์กรกลางนั้นมีรูปแบบได้หลากหลายตามความเหมาะสม ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว อาจเป็นเอกชนรายใดรายหนึ่งที่ทำหน้าที่เดินรถอยู่แล้ว หรือเป็นเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการจัดการ หรืออาจเป็นหน่วยงานของรัฐก็ได้ แต่เชื่อได้ว่าสำหรับวิถีไทยคงทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพต้องการความโปร่งใสในการดำเนินการและสามารถตรวจสอบได้จากสาธารณชน ซึ่งไม่ใช่ “สันดาน” ของคนไทยแต่อย่างใด ก็เลยต้องทนใช้ของที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ใช้งานได้แค่ครึ่งเดียวของประสิทธิภาพจริงต่อไป

Thursday, April 3, 2008

ปริญญางมงาย มหาลัยงมเงา

เมื่อหลายวันก่อนมีคนถามผู้เขียนว่า "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเรียนคณะอะไรในมหาวิทยาลัย" ผู้เขียนนั่งคิดอยู่นาน จนคนถามบอกว่า ถามเล่น ๆ คิดคำตอบนานอย่างกับจะตัดสินใจซื้อบ้าน แล้วผู้เขียนก็ได้คำตอบให้กับตนเองว่า "จะไม่เข้ามหาวิทยาลัยเลยคงจะดีกับชีวิตมากกว่า" จึงกลายเป็นประเด็นร้อนในการถกเถียงกันในโต๊ะอาหาร เมื่อผู้เขียนเปิดประเด็นให้คนทะเลาะกันแล้ว ตนเองก็นั่งเงียบ ๆ เรียบเรียงความคิดตัวเองใหม่ ว่าทำไมจึงคิดว่าจะไม่เข้าเรียนอะไรเลย ก็ได้ข้อสรุปดังนี้

๑. การศึกษาของเราจำกัด "ทางเลือก" ของผู้เรียน แต่กลับให้ความสำคัญกับ "ระดับการศึกษา" มากกว่า "ความรู้ที่เหมาะสม" กลายเป็นว่าทุกคนต้องจบปริญญาตรีจึงจะสามารถทำงานได้ แต่หลักการของการศึกษา คือ เรียนเพื่อเอาไปใช้ทำงาน มีงานเป็นร้อยเป็นพันอย่างที่ไม่ต้องการความรู้ถึงระดับปริญญาตรี แต่ตอนนี้ต้องรับคนจบปริญญาตรีเข้าไปทำงาน ในทางที่ถูกที่ควรคือ ตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ ทุกคนก็ต้องสามารถเติบโตไปในทางที่ตนเองต้องการได้ ไม่ว่าจะจบมัธยมศึกษาแล้วไปทำงานเลย หรือ จะเรียนต่อ แต่ละเส้นทางต้องมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน ไม่ใช่จะต้องจบปริญญาตรีเท่านั้น

๒. การศึกษาของเราจำกัด "ความคิดสร้างสรรค์" ของผู้เรียน ด้วยการกำหนดมาตรฐานการศึกษา แล้วเข้มงวดกับมันมากเกินไป จนทุกคนที่จบมาเหมือนกันหมด มีความคิดแบบเดียวกัน แต่งตัวเหมือนกัน มีทัศนคติกับการทำงานและผลตอบแทนเหมือนกัน ฯลฯ แต่สิ่งที่การศึกษาควรจะให้ คือการให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเท่ากันทุกคน แล้วให้ผู้เรียนแต่ละคนเอาไปงอกเงยและพัฒนาด้วยพื้นฐาน ความต้องการ และวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งผู้สอนในประเทศไทยมีทัศนคติอย่างนี้น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะบอกว่าผู้เรียนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามทัศนคติของผู้สอน แต่ไม่เคยคิดเลยว่า ผู้เรียนอยากได้อะไร

๓. การศึกษาของเรา "ไม่สนใจความต้องการที่แท้จริงของสังคม" ลองไปสืบค้นดูได้ว่าอาจารย์ใหม่ที่รับเข้ามาในมหาวิทยาลัย คือ อาจารย์ที่ "เก่งในสายตาของอาจารย์" ดังนั้น อาจารย์ใหม่ก็เหมือนอาจารย์เก่าทุกอย่าง เป็นแบบจำลองสืบทอดกันมา แต่ไม่เคยมองความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียนการสอนก็เลยเป็นแบบเดิมหรือปรับแต่งจากแบบเดิมเพียงเล็กน้อยเป็นหลัก ในขณะที่ความคิดในวิธีการเรียนการสอน และสาขาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นักเรียนก็ยังเรียนแบบเดิม คิดแบบเดิม ใครคิดแบบใหม่กลายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่ถูกต้อง

๔. การบริหารการศึกษากลายเป็น "เรื่องผูกขาด" เส้นทางการเติบโตทางการงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือการมีงานบริหารมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นคณบดีหรืออธิการบดี สุดท้ายก็เสียอาจารย์ดี ๆ ที่มีความรู้ความสามารถทางการเรียนการสอนไป แล้วได้ผู้บริหารห่วย ๆ รู้แต่เรื่องการเรียนการสอนในคณะตนเอง และมีความสามารถทางการเมือง มาเป็นผู้บริหารที่มุ่งแต่หาเงินเข้าคณะและภาควิชาตนเอง โดยไม่สนใจว่า หน้าที่หลักของอาจารย์มหาวิทยาลัยคือ การสอนหนังสือ โดยการปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ

ตอนนี้คิดออกแค่ ๔ ข้อก่อน แต่ก็คงเกินพอที่จะสนับสนุนความคิดที่จะไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยของผู้เขียนได้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับปริญญามากเกินไป ตอนนี้กลายเป็นว่าจะต้องจบถึงปริญญาโท ลองคิดดูว่าชีวิตคนหนึ่งคนเสียเวลากับการศึกษาตั้งแต่เกิดจนจบปริญญาโทถึง ๒๕ ปี เหลือเวลาทำงานอีกแค่ ๓๕ ปี แทนที่จะทำงานตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี แล้วมีเวลาเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของชีวิตโดยผ่านการทำงาน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน ซึ่งพวกที่ไม่เห็นด้วยก็มักจะอ้างว่าประเทศอื่น ๆ ทีพัฒนาแล้วมีคนจบปริญญาตรีเยอะ ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่จริง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาให้ความสำคัญกับทางเลือกของผู้เรียนเป็นอย่างมาก เมื่อจบภาคบังคับแล้ว คุณจะไม่เรียนแล้วไปทำงานเลยหรือจะเข้าเรียนสายอาชีพ ก็จะเติบโตเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับงานที่เขาทำ เพราะผ่านงานมาตั้งแต่ตำแหน่งต่ำสุดมาจนถึงระดับสูงสุดขององค์กร ส่วนคนที่เข้ามหาวิทยาลัย คือ คนที่ต้องการจะเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญแต่อย่างใด แต่ก็ช่างมันเหอะ ผู้เขียนก็ไม่ได้เรียนสูงอะไรนักหนา พวกที่เรียนสูง ๆ มาอ่านตรงนี้เข้า เขาก็คงด่าผู้เขียนว่าเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว ไม่ได้เรียนสูง ๆ ก็เลยมาหาเหตุผลบอกว่าการเรียนสูง ๆ ไม่ดี แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยังความคิดที่ว่า สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย มันคือ "ปริญญางมงาย มหาลัยงมเงา"