Saturday, June 7, 2008

เคล็ดลับแห่งการประสบความสำเร็จในชีวิต

คราวก่อนเคยเขียนคำแนะนำในการดำเนินชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ เจ้าของบริษัทแม็คอินทอช คราวนี้ก็เลยเอาแนวทางของคนไทยที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้ฟังบ้าง คนนี้ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย ไม่ได้เป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ได้มีเงินเจ็ดหมื่นล้านบาท ไม่ได้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ไม่ได้ฝันจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเป็นฝ่ายค้านมาเกือบสิบปีแล้ว และไม่ได้เป็นอื่น ๆ อีกมาก แต่ก็มีชีวิตที่ดีในระดับหนึ่ง งานหลักของเขาคือเป็นที่ปรึกษาแบบฟรีแลนซ์ แต่เป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่ต้องวิ่งหางาน มีแต่งานวิ่งมาหาจนต้องปิดโทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่บ้าน มีรายได้เป็นเลขหกหลักกลาง ๆ ต่อเดือน มีเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่ตนเองอยากทำ (แม้ว่าจะไปพักที่ไหนต้องเลือกโรงแรมที่มี Internet Access ได้ด้วยเพื่อจะติดต่องานได้ตลอดก็ตาม) เขาแนะนำแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ ๒ ข้อได้แก่

๑. ห้ามปฏิเสธนัดหมายหรือข้อเสนอใด ๆ ทั้งสิ้น ในความหมายของเขาคือ มีงานอะไรมาหรือมีนัดหมายขอให้ทำอะไร ต้องบอกว่าได้เอาไว้ก่อน แล้วถ้าจะปฏฺิเสธก็เป็นเพราะว่า คนที่ใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่าคนที่นัดครั้งแรกมาขอนัดหมายซ้อน เช่น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนัดหมายก็ต้องตอบว่าได้ แล้วถ้าจะปฏิเสธก็ต่อเมื่อคนที่ใหญ๋กว่าผู้ว่าฯ เช่น สส. หรือ รัฐมนตรี มาขอนัดซ้อนในเวลาเดียวกัน (แต่ต้องเป็นจริงตามนั้น ห้ามโกหกอย่างเด็ดขาด) วิธีการดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธนัดหมายไม่โกรธเรา เพราะมีความจำเป็นกว่าจริง ๆ หลักการง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจะปฏิเสธไม่ทำอะไร ไม่ใช่เป็นเพราะตัวเราเองไม่ทำ แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่ทำให้เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ และต้องเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอำนาจมากกว่าหรือมีความสำคัญกว่าคนหรือประเด็นที่เราปฏฺิเสธ อีกทั้งยังเป็นการประกาศโดยทางอ้อมว่างานอื่น ๆ ที่ฉันทำน่ะ สำคัญกว่างานที่คุณให้ฉันทำนะ แต่ฉันก็ทำให้ ส่งผลให้เขามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นด้วย

๒. จงทำงานให้มากกว่าเงินเดือน คือ เมื่อรับงานมาแล้วอย่าไปสนใจว่าได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน แล้วดันไปเอาผลตอบแทนนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการทุ่มเทกับงาน งานไหนได้น้อยก็ทุ่มเทหรือทำน้อย งานไหนได้มาก็ทุ่มเทหรือทำงานมาก แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดแบบฆ่าตัวตาย คุณจะได้งานจากผู้ว่าจ้างคนนั้นแค่ชิ้นเดียวเท่านั้นแล้วจะไม่ได้อีกต่อไปเลย เพราะสันดานของคนไทยชอบได้ของที่เกินกว่าราคาที่จ่ายไปเสมอ ลองนึกว่าถึงตัวผู้อ่านเอง เวลาจะตัดสินใจซื้ออะไร ก็จะเลือกสิ่งที่คิดว่าได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินที่จ่ายไปเสมอ นี่เป็นหลักจิตวิทยาง่าย ๆ ใครก็อยากเลือกจ้างคนที่ทำงานมากกว่าเงินที่เขาจ่ายไปทั้งนั้น และจะเป็น word of mouth บอกต่อกันไปสู่กลุ่มผู้ว่าจ้างว่าจ้างคนไหนแล้วคุ้มค่าคุ้มราคา ก็จะได้งานตามมาอีก และเมื่อได้งานมากขึ้น ข้อเสนอด้านรายได้ก็จะปรับเข้าสู่ระดับมาตรฐานเอง ฟรีแลนซ์รายนี้บอกว่า จะได้เงินน้อยอยู่ในช่วงแรก ๆ เท่านั้นแหละ พอมีการบอกต่อกันไป งานที่ได้ก็มากขึ้น และข้อเสนอผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะการเสนองานแต่ละครั้ง ก็จะมีการบอกเล่าถึงผลงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้เสมอ เมื่อเคยทำงานมามากผู้ว่าจ้างก็ไม่กล้าเสนอราคาต่ำ จนตอนนี้ฟรีแลนซ์คนนี้คิดว่ารายได้มาตรฐานต่อชิ้นของเขามากเกินไปเสียด้วยซ้ำ บางครั้งเขาคิดว่าทำงานหนักแค่ไหนก็ยังไม่คุ้มผลตอบแทนเลย เพราะได้รับข้อเสนอสูงมาก

แนวทางสองข้อที่นำมาจากฟรีแลนซ์คนนี้ดูน่าสนใจกว่าของสตีฟ จ็อบส์ เพราะเป็นแนวความคิดของคนไทย ที่พัฒนามาจากกรอบของสังคมไทยจริง ๆ และเขาขมวดท้ายเอาไว้ว่า ความจริงแล้วตลาดงานในประเทศไทยขาด "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" เป็นอย่างมาก คนไทยที่บอกว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนู้นด้านนี้ก็เป็นเพียงแค่เป็ดตัวหนึ่ง ที่ทำได้ทุกอย่างแต่ทำได้ไม่ดีสักอย่าง เป็ดบางตัวอาจจะขันได้เพราะกว่าเป็ดตัวอื่น แต่ก็ไปได้แค่สุดกรอบของเป็ดเท่านั้น ไม่ได้ขันได้เพราะอย่างนกเขา แถมระบบการศึกษาของไทยก็เน้นกับการผลิตเป็ดเสียเหลือเกิน แม้แต่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ที่แบ่งเป็นคณะต่าง ๆ เพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็มุ่งสอนแบบกว้าง ๆ ให้ความสำคัญกับการรู้นอกสาขามากกว่าความรู้เชิงลึกในสาขาของตน ด้วยผลดังกล่าว ฟรีแลนซ์คนนี้จึงได้งานมากมายเพราะสุดท้ายแล้วงานต่าง ๆ ไม่ได้ต้องการเป็ด แต่ต้องการผู้ที่รู้ลึกจริง ๆ เท่านั้น