Saturday, June 28, 2008

สุวรรณภูมิเมื่อยามฝนตก

ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยและรัฐบาลท่านทักษิณ เปิดให้บริการเมื่อปี ๒๕๔๙ ก็นับเป็นสนามบินที่เป็นศูนย์กลางทางการบินขนาดใหญ่ที่ยังใหม่อยู่มาก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ก็น่าจะยังอยู่ในสภาพดี แต่ก็เป็นเพียงการคาดหวังเท่านั้น




ผู้เขียนเกิดโชคดีไปสนามบินแห่งความภาคภูมิใจนี้ในวันที่ฝนตก ก็เลยได้ไปพบสามภาพด้านบนนี้ เหตุเกิดบริเวณสะพานเชื่อมระหว่างที่จอดรถกับอาคารผู้โดยสาร ที่เห็นเงาสะท้อนบนพื้น ไม่ใช่เพราะพื้นได้รับการดูแลอย่างดีจนมันเป็นเงา แต่เป็นเงาสะท้อนที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เพราะฝนสาดจากด้านข้างและฝนรั่วมาจากรอยต่อของตัวอาคารจอดรถกับหลังคาของสะพานเชื่อมอาคาร ผู้โดยสารก็ต้องเดินหลบกันเอาเอง ผู้เขียนไม่ได้คิดไปไกลว่าจะซ่อมได้อย่างไร แต่คิดย้อนกลับว่า ผลงานอย่างนี้ผู้ตรวจรับงานให้ผ่านมาได้อย่างไร เพราแค่สามปีนับจากวันเปิดใช้งานก็มีปัญหาเสียแล้ว และปัญหานี้ไม่ใช่เกิดเพราะอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัย แต่เป็นสิ่งที่ถ้าตรวจสอบอย่างถูกหลักวิชาการก็ต้องพบข้อบกพร่องอยู่แล้ว

Tuesday, June 24, 2008

ตกลงเปิดวันไหนบ้าง

สถานการค้าการบริการต่าง ๆ ก็มักจะมีการติดป้ายบอกเวลาเปิดและปิดเอาไว้ เพื่อให้ลูกค้าได้ทราบว่าจะมาใช้บริการในเวลาใดได้บ้าง ซึ่งประเด็นที่มักจะต้องพิจารณาในการทำป้ายอยู่เสมอก็คือ ควรจะบอกเวลา "เปิดทำการ" หรือ "ปิดทำการ" กันแน่ที่จะสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ดีที่สุด นั่นหมายความว่าต้องตอบคำถามว่า ลูกค้าอยากรู้ว่า "ฉันจะมาได้เวลาไหน" หรือ "ฉันจะไม่ต้องมาเวลาไหน" แต่การคิดแบบนี้บางทีแล้วซับซ้อนมาก บางที่ก็เลยติดมันทั้งเวลาเปิดและเวลาปิดไปเสียเลย แต่ก็จะดูแปลก ๆ เช่นหน้าประตูศาลาว่าการจังหวัดแห่งหนึ่ง มีป้ายว่า "เปิด ๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ปิด ๑๘.๐๐ - ๐๖.๐๐ น." ไอ้แบบนี้บอกเวลาเปิดหรือปิดเพียงอย่างเดียวก็ได้



ผู้เขียนพบป้ายบอกเวลาปิดทำการของธนาคารแลกเงินแห่งนี้ที่จังหวัดเพชรบุรี ตอนแรกก็ไม่เห็นว่าจะแปลกประหลาดอะไร แค่ติดป้ายบอกเวลาปิดทำการไว้ เพื่อให้ลูกค้ารับทราบว่าจะไม่ต้องมาเวลาไหน แต่พออ่านรายละเอียดตามภาพด้านล่างเข้า ก็เกิดความรู้สึกแปลก ๆ เพราะเขาเขียนว่า "Open Daily Except Wednesday-Thursday and Holiday" นั่นหมายความว่า "เปิดทุกวัน ยกเว้นวันพุธ พฤหัสบดี และวันหยุด" แสดงว่ามันเปิดทำการแค่วันจันทร์ อังคาร และศุกร์เท่านั้น คือเปิดแค่สามวันจากเจ็ดวัน แล้วดันขึ้นต้นว่า Open Daily ซึ่งหมายถึงเปิดทุกวัน แล้วทำไมไม่ทำป้ายว่า เปิดวันจันทร์ อังคาร และศุกร์ ไปซะเลยล่ะ จะบอกว่า Holiday แปลว่าวันหยุดทางราชการก็คงไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นวันหยุดพิเศษของราชการ เช่น วันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จะใช้คำว่า public holiday ไม่ใช่ holiday เฉย ๆ น่าสนใจกระบวนการคิดของคนทำป้ายนี้มากมาก

คู่มือเล่นหวย

จากที่เคยเขียนมาแล้วในหลายบทความก่อนหน้านี้ว่า การเล่นหวยในประเทศไทยควรได้รับการยกระดับให้เป็นอาชีพอย่างถูกต้อง มีเกียรติ ศักดิ์ และสิทธิ์ เทียบเคียบกับวิชาชีพือื่น ๆ เพราะมีการใช้ความพยายามและความเพียรในการเล่นหวยอย่างมาก ผิดกับประเทศอื่น ๆ ที่เล่นหวยไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้มีการลงแรงมากนัก เพียงเข้าไปในร้านสะดวกซื้อแล้วก็ซื้อเลขชุดหกหรือเจ็ดตัว ก็เป็นอันเสร็จพิธี แต่สำหรับนักเล่นหวยไทยแล้วมีกระบวนการมากมาย พยายามยกระดับให้การเล่นหวยเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง


นอกจากกระบวนการคิดที่พยายามเอาเหตุและผลมาคาดการณ์ตัวเลขแล้ว ก็ยังมีการใช้หลักการทางไสยศาสตร์มาประกอบอีกด้วย ถึงขั้นมีการทำหนังสือเพื่อแนะนำแหล่งขอหวย อย่างที่ผู้เขียนถ่ายภาพมาฝาก ในภาพเป็นเล่มสอง หมายความว่าได้มีการรวบรวมสถานที่สำหรับขอหวยไว้ถึงสองร้อยแห่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นอนุสาวรีย์ รูปปั้น หรือพวกศพไม่เน่าเปื่อยตามวัดต่าง ๆ และในเล่มได้บอกถึงประวัติความเป็นมา ความศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละสถานที่ การสัมภาษณ์ผู้ที่ถูกหวยจากการขอหวยในสถานที่นั้น ๆ บางสถานที่จะมีบทสวดเพื่อขอหวย ของที่เจ้าชอบเพื่อจะได้บนบานศาลกล่าวได้อย่างถูกต้อง และมีตำแหน่งที่ตั้ง (เสียดายไม่มีแผนที่) และหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อสถานที่นั้น ๆ ลองคิดดูว่า การทำหนังสือก็คงต้องมีการสำรวจตลาดมาบ้างหละ ว่าทำออกมาแล้วมีวี่แววว่าจะขายได้ การออกมาถึงสองเล่มแสดงถึงความสำเร็จของหนังสืออย่างชัดเจน ของอย่างนี้คนไทยถนัดนัก ไอ้การที่จะได้เงินมากโดยลงทุนน้อย รอโชคชะตาฟ้ามาโปรด ถ้ายังไม่ได้รับการโปรดสัตว์ก็จะโทษตัวเองว่าไม่มีบุญ (เจ้าไม่เคยผิด) และถ้าได้รับการโปรดสัตว์เมื่อไหร่ ก็จะใช้เงินหมดอย่างรวดเร็ว แล้วก็กลับมานั่งรอโชคชะตาต่อไป ช่างเป็นพฤติกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติยิ่งนัก

Saturday, June 7, 2008

เคล็ดลับแห่งการประสบความสำเร็จในชีวิต

คราวก่อนเคยเขียนคำแนะนำในการดำเนินชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ เจ้าของบริษัทแม็คอินทอช คราวนี้ก็เลยเอาแนวทางของคนไทยที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้ฟังบ้าง คนนี้ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย ไม่ได้เป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ได้มีเงินเจ็ดหมื่นล้านบาท ไม่ได้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ไม่ได้ฝันจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเป็นฝ่ายค้านมาเกือบสิบปีแล้ว และไม่ได้เป็นอื่น ๆ อีกมาก แต่ก็มีชีวิตที่ดีในระดับหนึ่ง งานหลักของเขาคือเป็นที่ปรึกษาแบบฟรีแลนซ์ แต่เป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่ต้องวิ่งหางาน มีแต่งานวิ่งมาหาจนต้องปิดโทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่บ้าน มีรายได้เป็นเลขหกหลักกลาง ๆ ต่อเดือน มีเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่ตนเองอยากทำ (แม้ว่าจะไปพักที่ไหนต้องเลือกโรงแรมที่มี Internet Access ได้ด้วยเพื่อจะติดต่องานได้ตลอดก็ตาม) เขาแนะนำแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ ๒ ข้อได้แก่

๑. ห้ามปฏิเสธนัดหมายหรือข้อเสนอใด ๆ ทั้งสิ้น ในความหมายของเขาคือ มีงานอะไรมาหรือมีนัดหมายขอให้ทำอะไร ต้องบอกว่าได้เอาไว้ก่อน แล้วถ้าจะปฏฺิเสธก็เป็นเพราะว่า คนที่ใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่าคนที่นัดครั้งแรกมาขอนัดหมายซ้อน เช่น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนัดหมายก็ต้องตอบว่าได้ แล้วถ้าจะปฏิเสธก็ต่อเมื่อคนที่ใหญ๋กว่าผู้ว่าฯ เช่น สส. หรือ รัฐมนตรี มาขอนัดซ้อนในเวลาเดียวกัน (แต่ต้องเป็นจริงตามนั้น ห้ามโกหกอย่างเด็ดขาด) วิธีการดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธนัดหมายไม่โกรธเรา เพราะมีความจำเป็นกว่าจริง ๆ หลักการง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจะปฏิเสธไม่ทำอะไร ไม่ใช่เป็นเพราะตัวเราเองไม่ทำ แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่ทำให้เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ และต้องเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอำนาจมากกว่าหรือมีความสำคัญกว่าคนหรือประเด็นที่เราปฏฺิเสธ อีกทั้งยังเป็นการประกาศโดยทางอ้อมว่างานอื่น ๆ ที่ฉันทำน่ะ สำคัญกว่างานที่คุณให้ฉันทำนะ แต่ฉันก็ทำให้ ส่งผลให้เขามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นด้วย

๒. จงทำงานให้มากกว่าเงินเดือน คือ เมื่อรับงานมาแล้วอย่าไปสนใจว่าได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน แล้วดันไปเอาผลตอบแทนนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการทุ่มเทกับงาน งานไหนได้น้อยก็ทุ่มเทหรือทำน้อย งานไหนได้มาก็ทุ่มเทหรือทำงานมาก แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดแบบฆ่าตัวตาย คุณจะได้งานจากผู้ว่าจ้างคนนั้นแค่ชิ้นเดียวเท่านั้นแล้วจะไม่ได้อีกต่อไปเลย เพราะสันดานของคนไทยชอบได้ของที่เกินกว่าราคาที่จ่ายไปเสมอ ลองนึกว่าถึงตัวผู้อ่านเอง เวลาจะตัดสินใจซื้ออะไร ก็จะเลือกสิ่งที่คิดว่าได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินที่จ่ายไปเสมอ นี่เป็นหลักจิตวิทยาง่าย ๆ ใครก็อยากเลือกจ้างคนที่ทำงานมากกว่าเงินที่เขาจ่ายไปทั้งนั้น และจะเป็น word of mouth บอกต่อกันไปสู่กลุ่มผู้ว่าจ้างว่าจ้างคนไหนแล้วคุ้มค่าคุ้มราคา ก็จะได้งานตามมาอีก และเมื่อได้งานมากขึ้น ข้อเสนอด้านรายได้ก็จะปรับเข้าสู่ระดับมาตรฐานเอง ฟรีแลนซ์รายนี้บอกว่า จะได้เงินน้อยอยู่ในช่วงแรก ๆ เท่านั้นแหละ พอมีการบอกต่อกันไป งานที่ได้ก็มากขึ้น และข้อเสนอผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะการเสนองานแต่ละครั้ง ก็จะมีการบอกเล่าถึงผลงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้เสมอ เมื่อเคยทำงานมามากผู้ว่าจ้างก็ไม่กล้าเสนอราคาต่ำ จนตอนนี้ฟรีแลนซ์คนนี้คิดว่ารายได้มาตรฐานต่อชิ้นของเขามากเกินไปเสียด้วยซ้ำ บางครั้งเขาคิดว่าทำงานหนักแค่ไหนก็ยังไม่คุ้มผลตอบแทนเลย เพราะได้รับข้อเสนอสูงมาก

แนวทางสองข้อที่นำมาจากฟรีแลนซ์คนนี้ดูน่าสนใจกว่าของสตีฟ จ็อบส์ เพราะเป็นแนวความคิดของคนไทย ที่พัฒนามาจากกรอบของสังคมไทยจริง ๆ และเขาขมวดท้ายเอาไว้ว่า ความจริงแล้วตลาดงานในประเทศไทยขาด "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" เป็นอย่างมาก คนไทยที่บอกว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนู้นด้านนี้ก็เป็นเพียงแค่เป็ดตัวหนึ่ง ที่ทำได้ทุกอย่างแต่ทำได้ไม่ดีสักอย่าง เป็ดบางตัวอาจจะขันได้เพราะกว่าเป็ดตัวอื่น แต่ก็ไปได้แค่สุดกรอบของเป็ดเท่านั้น ไม่ได้ขันได้เพราะอย่างนกเขา แถมระบบการศึกษาของไทยก็เน้นกับการผลิตเป็ดเสียเหลือเกิน แม้แต่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ที่แบ่งเป็นคณะต่าง ๆ เพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็มุ่งสอนแบบกว้าง ๆ ให้ความสำคัญกับการรู้นอกสาขามากกว่าความรู้เชิงลึกในสาขาของตน ด้วยผลดังกล่าว ฟรีแลนซ์คนนี้จึงได้งานมากมายเพราะสุดท้ายแล้วงานต่าง ๆ ไม่ได้ต้องการเป็ด แต่ต้องการผู้ที่รู้ลึกจริง ๆ เท่านั้น

เรื่องเล่าสนุก ๆ ของ "การรถไฟแห่งประเทศไทย"

เมื่อเดือนที่แล้ว ช่วงที่ราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ จนเกิดความแตกตื่นว่าจะเกิดปัญหาต่อผู้มีฐานะยากจน ผู้เขียนก็นั่งฟังวิทยุรายการข่าวไปเรื่อย ๆ เพื่อจับประเด็นมาวิพากษ์วิจารณ์ตามประสาคนปากหมาและมือหมา (พิมพ์คีย์บอร์ดเขียนบล็อก) เลยได้ฟังคำบอกเล่าของผู้วิจารณ์ข่าวท่านหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากเรื่องราคาข้าว ผู้วิจารณ์ข่าวท่านนี้บอกว่า ถ้าแกยังทำนาอยู่ตอนนี้แกรวยไปแล้วเพราะราคาข้าวสูงมาก ตอนเด็ก ๆ บ้านแกอยู่จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพด้วยการทำนา แล้วก็เล่าต่อไปถึงวิธีการทำนาของคนภาคเหนือว่าไม่เหมือนคนภาคกลาง เพราะนาของภาคเหนือไม่ได้อยู่ล้อมหมู่บ้านแบบนาของภาคกลาง แต่อยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของภาคเหนือที่เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ทำให้ต้องขี่ช้างไปทำนา บ้านแกมีช้างอยู่ ๒ เชือก แต่ตายเพราะถูกงูเห่ากัด ไอ้เรื่องการทำนายังไม่น่าสนใจเท่ากันเรื่องที่แกเล่าต่อว่า ครอบครัวของแกเลิกทำนาตั้งแต่แกยังเรียนมัธยมอยู่ ก็เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยเวนคืนที่นาของครอบครัวแก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาไปทำทางรถไฟผ่านไปยังประเทศจีน ที่ขำที่สุดคือ แกต้องเลิกทำนาเพราะที่นาถูกเวนคืนไปทำทางรถไฟตั้งแต่แกยังเป็นเด็ก ตอนนี้แกอายุห้าสิบกว่า ทางรถไฟที่วางแผนไว้ก็ยังไม่ได้สร้าง ที่ดินก็เวนคืนมาตั้งสามสิบกว่าปีแล้ว ผู้วิจารณ์ข่าวท่านนี้ยังสำทับต่อไปอีกว่า แกไม่เชื่อน้ำยาของไอ้โครงการทางรถไฟรางคู่ที่วาดฝันกันอยู่ตอนนี้หรอก เพราะประสบการณ์โดยตรงของแกบอกว่า ต้องรอจนถึงวันที่เปิดใช้งานนั่นแหละ จึงจะเชื่อถือได้ว่าโครงการเหล่านั้นเป็นจริง

เมื่อเอาความคิดของท่านผู้วิจารณ์ท่านนั้นมาพิจารณาต่อก็มองเห็นสัจธรรมแห่งหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ว่านโยบาย แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่ออกมามักจะไม่เป็นไปตามที่ประกาศให้ประชาชนและเอกชนนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและธุรกิจของเขา ก็เพราะนโยบาย แผนงาน และโครงการเหล่านั้นถูกวาดฝันขึ้นมาเพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ได้มาจากการกำหนดวิสัยทัศน์อย่างมีเหตุมีผลและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและกระแสโลก ทำให้นโยบาย แผนงาน และโครงการของภาครัฐต้องถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ใครเข้ามามีอำนาจก็กำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการของตนเอง ลองคิดดูว่า ถ้านโยบาย แผนงาน และโครงการอยู่บนหลักเหตุและผล และถูกคิดโดยเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล เขาก็ต้องสานต่อนโยบาย แผนงาน และโครงการนั้นต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้านโยบาย แผนงานและโครงการอยู่บนหลักการทางการเมือง เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว มันก็ต้องเปลี่ยนตาม

และพอคิดต่อไปว่า เราจะมีนโยบาย แผนงาน และโครงการที่อยู่หลักแห่งประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้หรือเปล่า คำตอบก็คือปลงเสียดีกว่า ไม่ใช่เพราะนักการเมืองไม่ดีเพียงด้านเดียว แต่ประชาชนของเราก็เลือกตั้งโดยคิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ว่า "ฉัน" (ในฐานะส่วนบุคคล) จะได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้คิดว่า "ฉัน" ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง จะได้ประโยชน์อะไรจากการเลือกตั้ง

Sunday, June 1, 2008

มันก็คนเหมือนกันนั่นแหละ

สังคมมนุษย์แม้ว่าจะมี "วาทกรรม" ต่าง ๆ ที่พยายามกล่าวถึง สนับสนุน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันของบุคคล ให้เป็นสังคมที่ไม่มีความแตกต่างกันจากสถานภาพการเกิด ฐานะ สถานภาพทางสังคม ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถใช้คำพูดแบบเดียวกันหรือปฏิบัติแบบเดียวกันในสถานภาพที่แตกต่างกันได้ ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่า การเลือกคำมาใช้พูดกับลูกน้องของท่านก็ยังแตกต่างจากคำที่ใช้พูดกับเจ้านายของท่าน แม้ว่าจะสื่อความหมายแบบเดียวกันก็ตาม


ผู้เขียนไปพบป้ายนี้ในห้องน้ำชายของศาลากลางจังหวัดแห่งหนึ่ง ห้องน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับห้องทำงานของท่านรองผู้ว่าฯ ก็เลยมีป้ายไปติดไว้เหนือโถปัสสาวะชายเพื่อให้ผู้มาประกอบกิจปฏิบัติตาม โดยป้ายระบุเอาไว้ว่า "กรุณากดน้ำหลังเสร็จกิจทุกครั้ง (กลิ่นเข้าห้องรอง ผวจ.)" และมีมือดีมาเติมข้อความด้วยปากกาสีน้ำเงินเอาไว้ว่า "มันก็เหม็นเป็นทุกคนนั่นแหละ" เขาคงจะพยายามสื่อว่า ถ้าจะให้กดน้ำทุกครั้ง ก็ควรจะให้กดมันทุกห้องน้ำ ไม่ใช่เอาตำแหน่งรองผู้ว่าฯ มาเป็นตัวกำหนดว่าต้องกดนะ ไม่งั้นเจ้านายหรือผู้ใหญ่จะเหม็น แล้วคนธรรมดาที่ไม่ใช่ระดับรองผู้ว่ามันเหม็นกันไม่เป็นหรืออย่างไร นี่คือ "อารยะขัดขืน" อย่างหนึ่งที่ดูน่ารักดี