เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ มีข่าวปรากฏอยู่ในหมวดข่าวสั้นทันโลก หน้า ๑๙ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นข่าวชาวบ้านสั้น ๆ ที่คงไม่มีใครสนใจนัก หัวข้อข่าวคือ “ชนป้ายลูกสาวดับ” โดยเนื้อข่าวมีรายละเอียดว่า ที่ตำบลเสม็ด จังหวัดชลบุรี เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. มีพ่อกับลูกคู่หนึ่งขี่จักรยานยนต์ไปบนถนน แล้วมองไม่เห็นป้ายชื่อร้านอาหารที่ตั้งยื่นออกมาบนช่องทางจราจร ก็เลยพุ่งชนอย่างแรง ผลก็คือพ่อบาดเจ็บ ส่วนลูกสาวเสียชีวิต ผู้เขียนอ่านข่าวนี้ด้วยความประหลาดใจ เพราะถ้าเนื้อข่าวไม่ได้ถูกบิดเบือนด้วยการบอกเล่าต่อ ๆ กันมา เหตุการณ์อย่างนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้นได้ จึงลองเอาหัวข้อข่าวนี้ไปคุยกับคนอื่น ๆ ก็สามารถจับความรู้สึกได้ว่า “คนส่วนใหญ่มองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นความโชคร้ายของพ่อลูกคู่นั้น ที่ดันซวยมองไม่เห็นป้ายชื่อร้านอาหาร ทำให้หลบไม่ทัน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ” โดยนัยของความคิดดังกล่าว แสดงว่าสังคมไทยพิจารณาว่า การตั้งป้ายยื่นมาในช่องทางจราจรแม้ว่าจะไม่เหมาะสม แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ และเป็นหน้าที่ของผู้สัญจรที่จะต้องหลบหลีกเอาเอง ใครหลบไม่ทันแล้วประสบอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องโชคชะตาหรือคราวเคราะห์ของคนนั้นเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมารับผิดชอบกับอุบัติเหตุนี้เลย
ตามหลักการวางแผนการจราจรแล้ว เรื่องนี้มีคนผิดอยู่ถึง ๓ คน คนแรกก็คือผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เพราะตามกฎจราจรกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า จะต้องขับขี่อยู่ในความเร็วที่เหมาะสมที่จะสามารถหยุดยานพาหนะหรือหลีกเลี่ยงเหตุการณ์กะทันหันได้อย่างทันท่วงที เป็นไปได้มากทีเดียวว่าผู้ขับขี่จักรยานยนต์คงจะไม่ได้ขับขี่ด้วยความระมัดระวังเท่าที่ควร เมื่อพบอุปสรรคขวางหน้าในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทันการณ์ คนผิดคนที่สองก็คือ เจ้าของร้านอาหารที่ติดตั้งป้ายยื่นออกมาบนช่องทางจราจร เพราะพื้นผิวการจราจรมีไว้สำหรับการเคลื่อนที่ของยานพาหนะและกิจกรรมสนับสนุนการสัญจรเท่านั้น จึงไม่ควรมีอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยยื่นล้ำเข้ามาในช่องจราจร แม้ว่ากฎจราจรจะไม่อนุญาตให้ตั้งป้ายของเอกชนในเขตทาง แต่ในทางปฏิบัติแล้วการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย เจ้าของป้ายก็ได้ประโยชน์จากการโฆษณาหรือสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการให้ผู้สัญจรได้รับรู้ ส่วนผู้สัญจรก็ได้ประโยชน์จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากป้าย ซึ่งในบางครั้งจำเป็นต่อตัวผู้สัญจร ดังนั้นการตั้งป้ายของเอกชนในเขตทาง ถ้าพิจารณาในแง่บวกจึงเป็นการ “สมประโยชน์” ทั้งสองฝ่าย แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามผลในแง่ลบว่า ป้ายเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางอย่างปลอดภัย เพราะจะดึงความสนใจของผู้ขับขี่ยานพาหนะ และการติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ที่ไม่ดี หรือเกิดการเปลี่ยนทิศทางในระยะกระชั้นชิดและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เสมอ ส่วนคนผิดคนที่สาม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะไม่คิดว่าเขามีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้นด้วย คือ เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงหรือเทศบาลก็ตามที เพราะพันธกิจของหน่วยงานเหล่านี้คือการดูแลและบำรุงรักษาเส้นทางและส่วนประกอบของเส้นทางการจราจรให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัย ผู้ใช้เส้นทางจ่ายค่าใช้เส้นทางไปแล้วโดยอ้อมผ่านภาษีการถือครองยานพาหนะ ดังนั้นผู้ขับขี่ควรจะได้รับการบริการตามสมควรแก่ความสะดวกและปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ดังนั้น เป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงานเหล่านั้นที่จะต้องคอยตรวจสอบความปลอดภัยของเส้นทางอยู่เสมอ งบประมาณในส่วนของการตรวจสอบและซ่อมบำรุงก็ถูกตั้งเอาไว้เป็นจำนวนมาก การปล่อยปละละเลยให้มีป้ายของเอกชนล้ำเข้ามาในช่องทางการจราจร จะต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้มีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาเส้นทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยแล้ว เจ้าของเส้นทางคือประชาชนผู้เสียภาษีอากร และเจ้าพนักงานด้านการทางมีฐานะเป็นลูกจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเส้นทางให้เจ้าของเส้นทางใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย จึงเป็นความผิดของลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ของนายจ้างที่จ่ายเงินจ้างลูกจ้างมาทำงานให้ ลูกจ้างจึงควรจะได้รับการลงโทษตามสมควรต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายจ้างและบริวารของนายจ้าง ซึ่งหมายถึงผู้โดยสารยานพาหนะ
ถ้าใครติดตามข่าวชาวบ้านอยู่เป็นประจำ จะได้พบอุบัติเหตุที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะคล้าย ๆ กับข่าวนี้อยู่เสมอ ๆ แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และยังเกิดขึ้นซ้ำที่เดิมอยู่ได้ตลอด เช่น เรามักจะได้พบอุบัติเหตุที่ “โค้งร้อยศพ” บนถนนรัชโยธินอย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งไม่เข้าใจว่าผู้รับผิดชอบเส้นทางปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำที่เดิมอยู่ได้อย่างไร เพราะการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เป็นหลักฐานสำคัญว่าการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรบริเวณนั้นต้องมีความผิดพลาด ไม่ใช่มีสาเหตุอยู่แค่ความประมาทของผู้ขับขี่แต่เพียงอย่างเดียว เมื่อเอาปรากฏการณ์นี้มาสนธิกับข่าวที่กล่าวไว้ในย่อหน้าแรก ก็เห็นคำตอบที่ชัดเจนว่า สังคมไทยพิจารณาการเกิดอุบัติเหตุว่าเป็นความผิดพลาดหรือความโชคร้ายของผู้ขับขี่และผู้โดยสารเท่านั้น แต่ไม่ได้มองเข้าไปถึงผู้ที่เป็นตัวการของต้นเหตุที่แท้จริง ซึ่งมีภาครัฐเป็นตัวการสำคัญ กลายเป็นว่าภาครัฐในฐานะลูกจ้างของประชาชนลอยตัวอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร แต่กลับไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าสังคมไทยยังยกหน่วยงานของรัฐให้อยู่เหนือประชาชนและอยู่เหนือปัญหาที่ภาครัฐเป็นตัวการสำคัญอยู่อย่างนี้ต่อไป ก็ไม่มีวันที่ประชาชนจะได้รับบริการตามสมควรจากภาครัฐได้เลย