ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร้านค้าขนาดเล็กภายในชุมชนหรือที่เรียกกันว่า “โชห่วย” ที่เคยครอบครองตลาดชุมชนละแวกบ้านที่อยู่ในระยะเดินเท้าได้ทยอยหายไปจากวิถีชีวิตของคนเมือง และถูกแทนที่ด้วยร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) และห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติ (Discount Store หรือ Hyper Market) ซึ่งผู้คนจำนวนมากออกมาเรียกร้องถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าได้ในอนาคต หลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว มีความเห็นว่าต้นเหตุหลักของปัญหานี้น่าจะอยู่ที่การจราจรเป็นหลัก แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังด้านอื่น ๆ จนขยายเป็นปัญหาในระดับประเทศ
ถ้าจะวิเคราะห์ปัญหาโชห่วยในแง่มุมของการขนส่ง ก็ต้องเริ่มต้นที่การตีความหมายของคำว่า “ต้นทุนในการขนส่งและจราจร” หรือที่เรียกว่า “ต้นทุนที่แท้จริง” สามารถแยกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ต้นทุนที่เกิดกับผู้เดินทาง ต้นทุนที่เกิดกับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง และต้นทุนที่เกิดกับสังคม ซึ่งตามหลักการการตั้งราคาค่าเดินทาง จะคำนวณโดยการรวมต้นทุนที่แท้จริงทั้งสามนี้แล้วหักลบกับประโยชน์สังคมได้จากการเดินทาง แล้วออกมาเป็นราคาค่าเดินทางซึ่งผู้เดินทางต้องจ่ายออกจากกระเป๋าสตางค์ของตนเอง (Out-off-Pocket Cost) จากหลักการนี้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจะตัดสินใจเดินทางโดยใช้ปัจจัยว่าตัวเองจะต้องควักกระเป๋าจ่ายออกไปเท่าใด ซึ่งก็ขึ้นกับนโยบายของภาครัฐว่าจะให้ผู้เดินทางแบกรับต้นทุนเป็นสัดส่วนเท่าใดจากต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งสำหรับประเทศไทย ภาครัฐมีนโยบายที่จะให้ผู้เดินทางจ่ายค่าเดินทางให้น้อยเข้าไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสนำรายได้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์กับตนเองและสังคมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการตั้งราคาค่าโดยสารรถประจำทาง ราคาน้ำมัน และอัตราภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ผู้เดินทางในประเทศไทยเสียค่าเดินทางค่อนข้างต่ำ
เมื่อเข้าใจความหมายของ “ต้นทุนในการขนส่งและจราจร” แล้ว ก็ย้อนกลับไปมองถึงจุดเริ่มต้นของโชห่วย ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดทางขนาดจากการขนส่งจำนวนมาก เพราะในยุคที่โชห่วยรุ่งเรือง การขนส่งสินค้าเป็นเรื่องที่ลำบากและมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชนในเวลานั้น สินค้าพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ก็ยังอยู่แยกกันตามย่านพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แหล่งรวบรวมสินค้าเหล่านี้ก็มีอยู่ตามเมืองใหญ่ระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งรวบรวมสินค้าได้โดยสะดวก จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนสูงและลำบากเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนแต่ละคนจะไปซื้อสินค้าที่เขาต้องการได้ทั้งหมดจากแหล่งรวบรวมสินค้า โชห่วยจึงฉวยเอาข้อจำกัดตรงนี้มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง โดยทำตนเป็นพ่อค้าคนกลางไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมาขายแก่ประชาชนจำนวนมากที่ร้านค้าภายในชุมชน เห็นได้ชัดว่าโชห่วยอาศัยความได้เปรียบในการขนส่งขนาดใหญ่จากแหล่งรวบรวมสินค้าที่เข้าถึงยากจากชุมชนมาเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับตนเอง ซึ่งในอดีตโชห่วยเองก็เคยเป็นร้านค้าแบบผูกขาดเพราะอุปสรรคด้านการขนส่งทำให้คนในชุมชนไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นที่อยู่นอกชุมชนได้
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เทคนิควิทยาการต่าง ๆ พัฒนาขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงด้านการผลิตและการกระจายสินค้า การขนส่งและจราจรทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น ในขณะที่ต้นทางการเดินทางก็ถูกทำให้เป็นสัดส่วนที่เล็กลงเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมดและรายได้ของประชาชน ทำให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นในเวลาและต้นทุนที่เท่าเดิม พัฒนาการดังกล่าวส่งผลกระทบกับโชห่วยโดยตรงในสองประการสำคัญ ประการแรก การเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดขึ้นทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งรวบรวมสินค้าซึ่งเป็นแหล่งสินค้าราคาถูกได้สะดวกขึ้น ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าดำเนินการขนส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเดิมโชห่วยเคยทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ในลักษณะของเสือนอนกิน สามารถตั้งราคาสินค้าได้ตามใจชอบ และมักมีปัญหาด้านคุณภาพสินค้าอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นการขายสินค้าปริมาณน้อยทำให้มักพบสินค้าหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพ และประการที่สอง ตัวแหล่งรวบรวมสินค้าเองก็เห็นประโยชน์ที่จะขยายตลาดด้วยการขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง ทำให้เกิดการขยายสาขาของแหล่งรวบรวมสินค้าออกไปอยู่ตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ใกล้กับชุมชนมากขึ้น ผลกระทบทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ประชาชนเลิกซื้อสินค้าจากโชห่วยหันไปซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติแทน
คำถามที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่งก็คือ ทำไมร้านสะดวกซื้อซึ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปแบบเดียวกับร้านโชห่วยและมีที่ตั้งอยู่ในชุมชนละแวกบ้านในเขตระยะเดินเท้าเช่นเดียวกันจึงสามารถอยู่ได้ แต่โชห่วยกลับอยู่ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนในการเดินทางก็น่าจะเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขนส่งสินค้าแต่ละครั้งก็เป็นการขนส่งไปยังร้านสะดวกซื้อหลายแห่งและมีสินค้าครบถ้วนในการขนส่งครั้งเดียว ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของร้านสะดวกซื้อต่ำกว่าร้านโชห่วยอีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของตัวสินค้าแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่ามาตรฐานของร้านสะดวกซื้อสูงกว่าร้านโชห่วยอย่างเห็นได้ชัด เพราะร้านสะดวกซื้อเป็นสาขาของผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ต้นทุนในการซื้อสินค้าของร้านสะดวกซื้อจึงถูกกว่าร้านโชห่วยและเมื่อจะต้องซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตอื่น ร้านสะดวกซื้อซึ่งทั่วประเทศมีสาขาอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อต้องการซื้อสินค้าจำนวนมากก็ทำให้เครือข่ายของร้านสะดวกซื้อมีอำนาจในการต่อรองสูงกว่าร้านโชห่วยทำให้ร้านสะดวกซื้อมีสินค้าที่หลากหลายกว่า มีคุณภาพสูงกว่า อีกทั้งยังเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอีกด้วย ร้านโชห่วยจึงไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับชุมชน อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องจิตวิทยาของผู้ซื้อ เพราะสังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้มีความผูกพันกันในชุมชนเช่นในอดีต การซื้อสินค้ากับคนรู้จักแบบร้านโชห่วยกลายเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดสำหรับสังคมในปัจจุบัน จะเลือกมากก็เกรงใจกัน จะซื้อสินค้าที่เสี่ยงต่อการนินทา เช่น ถุงยางอนามัย ก็ลำบากใจ หรือซื้อสินค้ามาแล้วพบว่าเป็นสินค้าหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพก็ไม่กล้าไปร้องเรียน การซื้อสินค้ากับร้านสะดวกซื้อเป็นการซื้อกับพนักงานซึ่งเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่ได้มีความผูกพันกันในสังคมเดียวกันทำให้เกิดความสะดวกใจที่จะจับจ่ายใช้สอยมากกว่าการซื้อกับร้านโชห่วย
เมื่อมาพิจารณาในระดับที่ใหญ่กว่า การแข่งขันระหว่างโชห่วยกับห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติเปรียบเสมือนการเอานักมวยวัดรุ่นเล็กไปชกกับแชมเปี้ยนโลกรุ่นเฮฟวี่เวท แถมกรรมการยังเป็นเพื่อนกับแชมเปี้ยนโลกเสียอีก เพราะโชห่วยมีเงินทุนในการดำเนินการต่ำ ขนาดของตลาดที่ให้บริการก็ต่ำ อีกทั้งยังไม่มีเครือข่าย และพื้นที่แสดงและเก็บสินค้าน้อย ทำให้ไม่สามารถสั่งสินค้าได้ทีละมาก ๆ ที่จะทำให้ซื้อสินค้าได้ถูกลง ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติมีลักษณะที่ได้เปรียบทุกประการ เพราะเป็นเงินทุนในการดำเนินการสูง มีขอบเขตของตลาดกว้าง มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมไปทั่วประเทศ และมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อแสดงและเก็บสินค้า แถมยังมีการสนับสนุนบริการอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า มาเช่าพื้นที่ให้มีบริการแบบครบวงจรอีกด้วย ทำให้ห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติมีแรงดึงดูดลูกค้ามากกว่าร้านโชห่วยอย่างเทียบกันไม่ติด แม้ว่าจะมีที่ตั้งอยู่ไกลจากชุมชนเพราะต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และโครงข่ายถนนในระดับเมือง นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่ควรทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ทรงความยุติธรรมระหว่างคู่แข่งสองฝ่าย ก็ยังสนับสนุนให้มีการเดินทางอย่างสะดวกและมีต้นทุนที่ถูกลงอีกด้วย เช่น การสร้างทางด่วน สร้างระบบขนส่งมวลชน การออกมาตรการการจัดการระบบจราจร ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ทำให้คนในชุมชนเดินทางสะดวกไปสู่ห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนในการเดินทางมากขึ้น ผนวกกับการที่ห้างสรรพสินค้าเองก็เปิดสาขาเข้ามาใกล้ชุมชนมากขึ้น ส่วนการเดินทางจากบ้านไปยังร้านโชห่วยก็ยังคงอยู่ในระยะเดินเท้าอย่างไม่เปลี่ยนแปลง จะไปกล่าวหาว่าภาครัฐให้การสนับสนุนการค้าปลีกข้ามชาติก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะประชาชนทุกคนก็คาดหวังว่าภาครัฐจะช่วยให้พวกเขามีการเดินทางที่ดีขึ้นอยู่แล้ว แต่การที่ภาครัฐไม่ได้ให้ประชาชนจ่ายค่าเดินทางที่แท้จริง ไปแบกรับเองหรือโยกย้ายต้นทุนในการเดินทางไปเรียกเก็บคืนจากภาษีด้านอื่น แม้ว่าในแง่หนึ่งจะเป็นการประโยชน์ที่ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายโดยตรงลดลง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ส่งผลให้เกิดการเดินทางที่ไกลขึ้นกว่าที่ประชาชนจะสามารถจ่ายได้จริงถ้าคิดเต็มราคา และยังทำให้ห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติได้เปรียบกว่าร้านค้าแบบอื่นด้วยการสนับสนุนของรัฐอีกด้วย
จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่า โชห่วยเสียเปรียบทุกวิถีทาง ในแง่ของการค้า ทั้งโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติ ก็ต่างเป็นพ่อค้าคนกลางเช่นเดียวกัน และในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี การแข่งขันของร้านค้าทั้งสามประเภทก็ควรจะแข่งขันกันอย่างอิสระ เรื่องการผูกขาดที่กลัวกันนักกันหนาก็ไม่ใช่จะเกิดได้ง่าย ๆ อย่างที่กังวลกัน เพราะกลไกตลาดและการกำกับของภาครัฐคอยควบคุมอยู่แล้ว การแข่งขันด้านเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะช่วยให้โชห่วยสู้กับร้านค้าประเภทอื่นได้ แต่เมื่อดูตัวอย่างจากหลายประเทศในภาคพื้นยุโรปที่ร้านค้าภายในชุมชนที่ยังสู้กับห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามได้อย่างสูสี นอกจากมาตรฐานของสินค้าที่โชห่วยมีทัดเทียมกับร้านค้าประเภทอื่นแล้ว ก็พบว่ามาตรการด้านการจราจรคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ร้านค้าในชุมชมยังอยู่ได้ เพราะเขามีหลักการพื้นฐานในการกำหนดราคาค่าเดินทางที่ผู้เดินทางจะต้องจ่ายว่าผู้เดินทางแบกรับต้นทุนการเดินทางจริงให้มากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนที่เกิดกับสังคม ด้วยนโยบายดังกล่าว ถนนภายในชุมชนที่พักอาศัยจึงไม่อนุญาตให้รถขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ เพราะจะทำลายบรรยากาศที่ดีของการเป็นที่พักอาศัย หรือการกำหนดให้ร้านค้าทุกประเภทในชุมชนต้องมีที่จอดรถส่งของเป็นของตนเอง ห้ามจอดในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาต ผลข้างเคียงของมาตรการแบบนี้คือร้านสะดวกซื้อลดความได้เปรียบเรื่องการประหยัดของขนาดในการขนส่งลง นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านภาษีสำหรับร้านค้าที่จะเปิดเกินกว่าเวลาเปิดปิดของร้านค้าปกติเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกด้วย ร้านใดที่เปิดเกินกว่าเวลาที่เมืองกำหนดเอาไว้จะต้องเสียภาษีมากกว่าปกติ เพราะการเปิดร้านค้านานขึ้นก็มีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองต้องทำงานมากขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเก็บภาษีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าร้านสะดวกซื้อจะเปิดเกินเวลาก็ต้องแบกรับภาษีที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งยอดขายที่เกิดขึ้นจากการเปิดนานกว่าปกติไม่คุ้มกับภาษีที่เพิ่มขึ้น
ส่วนมาตรการการคิดราคาค่าโดยสารและราคาค่าใช้รถยนต์ (เช่น ราคาน้ำมัน ค่าจอดรถ ภาษีการถือครองรถยนต์ ค่าประกันภัย ฯลฯ) อย่างยุติธรรมและอยู่บนหลักการว่า “ใครใช้ คนนั้นต้องจ่าย” จะช่วยทำให้ค่าเดินทางสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงออกมา ทำให้ต้นทุนของการเดินทางเพื่อไปจับจ่ายยังห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติ ซึ่งต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และตั้งอยู่นอกเมืองต้องมีค่าเดินทางที่สูงขึ้นแต่ก็เป็นต้นทุนการเดินทางที่แท้จริง ทำให้ต้นทุนค่าเดินทางกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกร้านค้ามากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ร้านโชห่วยที่ตั้งอยู่ภายในชุมชนสามารถตอบสนองประชาชนที่มีต้นทุนในการเดินทางต่ำมีแรงดึงดูดเพียงพอที่จะสู้กับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ใกล้เคียงกันมากขึ้น
จากการวิเคราะห์ต้นเหตุและแนะนำวิธีการแก้ปัญหาโชห่วยที่กล่าวมาทั้งหมดพบว่าต้นเหตุไม่ได้อยู่ที่ตัวของร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม แต่ต้นเหตุอยู่ที่ “ลูกค้า” ต่างหาก เพราะลูกค้าเองนั่นแหละที่อยากจะซื้อของในห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้าหลากหลาย มีที่จอดรถสะดวกสบาย มีร้านอาหารมีสวนสนุก และมีกิจกรรมเสริมต่าง ๆ แต่ต้นเหตุอยู่ที่ต้นทุนด้านการเดินทาง ที่ในอดีตต้นทุนในการเดินทางที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชนเคยเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้โชห่วยเกิดขึ้นมาได้ แต่ในวันนี้ต้นทุนในการเดินทางที่ถูกลงก็ย้อนกลับมาเป็นตัวฆ่าโชห่วยเสียเอง ดังนั้น เมื่อสาเหตุอยู่ที่ต้นทุนด้านการเดินทาง ก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทุนการเดินทางโดยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการด้านต้นทุนการเดินทางก็ใช่ว่าจะรับประกันความสำเร็จได้แต่อย่างใด ผู้เขียนเคยคุยกับอดีตเจ้าของร้านโชห่วยขนาดใหญ่ที่ปิดบริการไปแล้วเพราะสู้กับห้างสรรพสินค้าแบบค้าปลีกข้ามชาติไม่ได้ เขาบอกว่าก่อนปิดร้านเขาสู้สุดตัว ลดราคาสินค้าให้เท่ากันหรือถูกกว่าห้างใหญ่เสียอีก แต่คนก็ไม่เข้าร้านโชห่วยของเขาอยู่ดี เพราะประชาชนคิดว่าการไปห้างใหญ่ไม่ใช่แค่ซื้อสินค้า แต่ได้พาคนในครอบครัวไปเดินเที่ยวด้วย ดังนั้นถ้าต้นเหตุอยู่ที่ “กิเลส” ของลูกค้าแล้ว มาตรการด้านต้นทุนด้านการจราจรของภาครัฐใด ๆ ก็คงไม่สามารถจะทำให้โชห่วยแปลงร่างเป็นยอดมนุษย์ออกมาสู้กับร้านค้าประเภทอื่นได้หรอก