โดยปกติแล้ว ผู้เขียนมักจะไม่ค่อยคิดและเขียนอะไรเกี่ยวกับ "การเมือง" มากนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน พูดตรง ๆ ว่าเวลารับทราบข่าวการเมืองแล้วเหมือนกับได้ดู "เหี้ยกัดกัน" ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง โดยเอาประชาชนมาบังหน้า เวลาอ้างถึงความชอบธรรมว่าประชาชนสนับสนุนฝ่ายตนก็ไปนับญาติกับเขาว่าเป็น "พี่น้องประชาชน" แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนก็ด่าอย่างสาดเสียเทเสีย ความเห็นของตนเองถูกต้องที่สุดในโลก
เมื่อเช้าดันไปนั่งอยู่ในวงสนทนาที่เขาเปิดรายการของท่านนายกสมัคร ที่ออกมาบ่นนู่นบ่นนี่ทุกเช้าวันอาทิตย์ นั่งฟังอยู่นานก็เกิดความคิดต่อเนื่องจากข้อบรรยายของท่านมากที่เดียว มีทั้งที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับท่าน จึงขอหาญกล้าเอาข้อคิดของท่านมาวิพากษ์ต่อไปอีก
เริ่มจากข้อที่ผู้เขียน "เห็นด้วย" กับท่าน จะว่าเห็นด้วยก็คงไม่ถนัดนัก เพียงแค่จับประเด็นบางอย่างของท่านมาแล้วเกิดความคิดต่อยอดเสียมากกว่า ท่านพูดเรื่องสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่พยายามพัฒนาประเทศตามอย่างตะวันตก ด้วยแนวความคิดที่จะแสดงให้โลกรับรู้ว่าประเทศไทยทันสมัยเทียบเท่ากับประเทศเจ้าอาณานิคมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องประเทศจากการล่าอาณานิคม ประเทศไทยในสมัยนั้นจึงมีอะไรหลาย ๆ อย่างเทียบเท่าและทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ (เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น) รวมไปถึงการแต่งกายของข้าราชการ ท่านนายกกล่าวถึงคำว่า "รอยัลพาเท้นต์" ซึ่งแผลงมาเป็น "ชุดราชปะแตน" ซึ่งก่อนหน้านั้นข้าราชการไทยไม่มี "เครื่องแบบ" ก็เลยสร้างเครื่องแบบรวมไปถึงเหรียญตราต่าง ๆ ให้เหมือนกับประเทศมหาอำนาจ กุศโลบายดังกล่าวก็เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานเป็นสำคัญ ผู้เขียนก็เลยคิดต่อไปว่า ต่อจากนั้นมา "เครื่องแบบ" ก็กลายเป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมไทย เริ่มต้นจากข้าราชการและลามไปจนถึงทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
แต่วันนี้ ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ที่เคยคิดว่า "เครื่องแบบ" คือเครื่องแสดง authority แบบต่าง ๆ ตามแต่ประเภทของเครื่องแบบ ได้เปลี่ยนวิธีคิดไปแล้ว "เครื่องแบบ" แทบไม่มีความหมายอีกต่อไปในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เข้าให้ความสำคัญกับ "หน้าที่และความรับผิดชอบ" ซึ่งควรติดตัวอยู่กับทุกอาชีพมากกว่ากระพี้ในรูปแบบของเสื้อผ้า อีกทั้งเครื่องแบบยังนำไปสู่การใช้อำนาจหน้าที่อย่างผิดประเภทอีกด้วย (หาหลักฐานได้มากมายจากบทความอื่น ๆ ในบล็อกนี้) นั่นหมายความว่า "เครื่องแบบ" ที่เคยเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเจริญ กลับกลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสื่อมเสียแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงยึดมั่นถือมั่นกับ "เครื่องแบบ" โดยแอบอ้างว่าเป็นสิ่งของ "พระราชทาน" โดยไม่ได้คิดว่าบริบทของสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ส่วนเรื่องที่ไม่เห็นด้วย คือเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรค ท่านนายกฯ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับบริษัทว่า ถ้าหุ้นส่วนคนหนึ่งทำผิดแล้วต้องปิดบริษัท หุ้นส่วนคนอื่น ๆ ก็ซวยไปด้วย รวมถึงพนักงานก็ต้องตกงานตามไปอีก เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างจัง โดยอ้างถึงคำพิพากษาตอนที่ยุบพรรคไทยรักไทย ที่จำเลยได้พยายามยกเหตุผลมาคัดค้านว่า "กรรมการบริหารพรรคสองท่านทำผิดในฐานะส่วนตัว" แต่ศาลให้เหตุผลชัดเจนว่า "แม้ว่าจะทำผิดเป็นการส่วนตัว แต่พรรคได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องยุบพรรค" ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะสังคมคาดหวังว่าผู้ที่รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคย่อมต้องมีความรับผิดชอบและจริยธรรมสูง แล้วพวกเขาก็มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรค และสิ่งที่พวกเขาทำทุจริต พรรคก็ได้ประโยชน์โดยรวม ไม่ใช่เขาได้ประโยชน์เพียงคนเดียว ดังนั้น การยุบพรรคก็เป็นเรื่องที่ถูกที่ควรแล้ว อย่ามาอ้างนู่นอ้างนี่เลย และจะมาบอกว่าเขาทำเองพรรคไม่รู้เรื่องก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะวิถีของพรรคการเมืองไทย มีใครจะลงทุนตัวเองให้พรรคได้ประโยชน์แล้วไม่ทวงบุญคุณหรือ และก่อนที่เขาจะลงทุน เขาก็ต้องคุยกันก่อนเพื่อจัดลำดับและพื้นที่ในการลงทุนให้เหมาะสม กรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ จะไม่รู้จริง ๆ หรือ
และยิ่งเป็นกรณีที่มีการแข่งกันกันอย่างสูสีระหว่างสองพรรค ตัดสินกันว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านกันด้วยจำนวนสส.ที่ชนะกันไม่กี่คน พรรคคู่แข่งทั้งสองก็ต้องทำทุกอย่างที่จะชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ และยิ่งการแจกใบเหลืองใบแดงต้องใช้เวลานานกว่าจะประกาศกันออกมากได้ (เพื่อความยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา) จึงมีแนวโน้มสูงที่จะซื้อเสียงให้ชนะไปก่อน ให้มีจำนวนสส.ชนะอีกฝ่ายหนึ่งแล้วชิงจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน แล้วไปวัดดวงเอาว่าจะโดนใบแดงหรือเปล่า ใบเหลืองเขาไม่กลัวหรอก เพราะมีสิทธิ์ลงเลือกตั้งใหม่และถ้าเป็นพรรครัฐบาลแล้วก็มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีโอกาสชนะสูงมาก
เขียนจนจบก็เหนื่อย กลับมานั่งคิดว่า จะต้องมาเหนื่อยเขียนเรื่องพวกนี้อยู่ทำไม เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะอย่างไรก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนยังมีทัศนคติที่ดี เคยนึกด่าผู้ใหญ่ต่าง ๆ ว่าทำไมไม่ช่วยกันทำความดีคนละไม้คนละมือ ก็จะเอาชนะนักการเมืองไม่ดีได้ พอมาเป็นผู้ใหญ่เองแล้ว ตัวเองก็ย้อนกลับไปเข้าสู่วงจรอุบาทว์แบบนั้นอีก ตอนนี้เด็ก ๆ คงนึกด่าเราอยู่ในใจว่า ทำไมจึงไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ส่วนเราก็นึกในใจว่า ไว้เอ็งเป็นผู้ใหญ่อย่างข้า เอ็งก็จะปลงอย่างข้าเหมือนกันแหละวะ