ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธกับการเสี่ยงเซียมซีเป็นของคู่กัน เพราะศาสนาและศาสนสถานคือที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมไม่ได้เป็นรูปธรรมแบบเรื่องทางโลก ดังนั้น ผู้คนจึงใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ ทั้งเพื่อฟื้นฟูตนเองจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และเพื่อสร้างกำลังใจให้กับการรองรับเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเสี่ยงเซียมซีจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำนายอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร จะได้เตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้า "วัด" จึงมีหน้าที่จัดบริการเรื่องดังกล่าวไว้ให้พร้อม อย่างเช่นวัดในประทเศญี่ปุ่นก็จะมีบริการดังกล่าวเช่นกัน
อุปกรณ์ประกอบการเสี่ยงเซียมซีจะวางอยู่รวมกันที่เดียว คือ มีทั้งกล่องใส่เซียมซีที่มีติ้วอยู่ข้างใน และตู้ลิ้นชักที่จะมีคำทำนายตามรหัสของติ้ว แท่นของตู้ที่วางกระบอกใส่เซียมซีก็จะเป็นที่เก็บสตางค์ค่าใบเซ๊ยมซี โดยเป็นช่องให้หยอดสตางค์ได้ ราคาหนึ่งร้อยเยน จะให้หรือไม่ให้คงไม่มีใครมาว่า
กล่องใส่เซ๊ยมซีจะไม่เหมือนของบ้านเราที่เป็นกระบอก เห็นเซียมซีหมดทุกอัน แต่ของญี่ปุ่นจะเป็นกล่องโลหะรูปหกเหลี่ยมปิดหมด ยกเว้นรูที่จะให้ติ้วหล่นออกมาได้เท่านั้น
เมื่ออ่านคำทำนายจากในเซียมซีแล้ว คนญี่ปุ่นจะไม่เอาใบเซียมซีออกจากวัด แต่จะเอาไปผูกไว้ที่ราวที่วัดจัดเตรียมไว้ให้
หลังจากที่ดูเขาเสี่ยงเซียมซีกันไปแล้ว ก็ให้หวนกลับไปคิดถึงปรัชญาแห่งการอยากรู้อนาคต สงสัยเหมือนกันว่ามีใครจะเชื่อการทำนายจากใบเซียมซีอย่างเอาเป็นเอาตายหรือเปล่า จะมีการจัดลำดับความแม่นยำของเซียมซีไหมว่าวัดไหนขลังที่สุด ผู้เขียนเคยอ่านใบเซียมซีของบ้านเรามาบ้าง ส่วนใหญ่เป็นคำกลอน แต่ละคนก็แปลกันไปต่าง ๆ นานาตามแต่พื้นฐานชีวิตของพวกเขา ถ้ามีศรัทธามากก็จะตีความให้ตรงกับตัวเองเสมอ แต่ถ้าไม่ศรัทธาก็จะตีความอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า??