Thursday, February 10, 2011

ทำไมแผนชาติจึงไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ต้องไปให้ความเห็นเกี่ยวกับกลไกในการดำเนินแผนชาติฉบับใหม่ (แผนฯ ๑๑) แต่ไม่ได้แสดงความเห็นอะไรหรอก ได้ยินผู้ใหญ่ผู้โตในประเทศแสดงทัศนคติแล้วเศร้า อยู่เงียบ ๆ ดีกว่า

โจทย์คือ ทำไมแผนชาติที่ผ่านมาจึงไม่ work ไม่มีคนนำไปใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ

คำตอบก็คือ ประเทศนี้ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นพระเอก ใครเป็นพระรอง การดำเนินการพัฒนาประเทศมี ๒ รูปแบบ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
แบบแรก นักการเมืองเป็นพระเอก ข้าราชการเป็นพระรอง ทำหน้าที่แขนขาของนักการเมือง (บางคนทำหน้าที่เป็นส้นตีน) เป็นวิธีการแบบอเมริกัน ประธานาธิบดีได้ฉันทามติของประชาชนเข้ามากำหนดนโยบายการบริหารประเทศ ข้าราชการไม่ต้องมีลำดับอาวุโส นักการเมืองแต่งตั้่งได้ตามใจ เลือกแต่คนที่ตอบสนองนโยบายได้ และมีการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายโดยสภา แบบนี้รัฐบาลต้องมั่นคงแบบอเมริกัน ประธานาธิบดีอยู่สี่ปีแน่ ๆ ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย ระยะเวลาของแผนชาติ ก็ตามวาระของประธานาธิบดีที่สี่ปี

แบบสอง ข้าราชการเป็นพระเอก นักการเมืองทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แบบญี่ปุ่น หกปีที่ผ่านมาเปลี่ยนนายกไปหกคน แต่ข้าราชการเข้มแข็งมาก เป็นคนกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยนักการเมืองเป็นผู้สนับสนุน ข้าราชการวางตัวคนเก่ง ๆ มาเป็นคนนำประเทศไปในทางที่ถูกที่ควร ระยะเวลาของแผนคิดตามการใช้งานของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต้องคิดตามวาระรัฐบาลเพราะอยู่ไม่ครบอยู่แล้ว

ส่วนประเทศไทย นักการเมืองกับข้าราชการ แย่งกันเป็นใหญ่ นักการเมืองคุมเงิน/งบประมาณ ข้าราชการมีกฎหมายรองรับให้เป็นคนทำแผน แถมเวลารัฐบาล ๔ ปี แผนชาติ ๕ ปี ไม่ลงตัวกันสักอย่าง ดังนั้น นักการเมืองก็เลือกเฉพาะส่วนของแผนชาติที่ตรงกับนโยบายของตัวเองเท่านั้น การดำเนินแผนโดยองค์รวมก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เลือกสักอย่างเหอะ จะให้นักการเมืองเป็นพระเอกหรือข้าราชการเป็นพระเอกก็ได้ เอาสักทาง แล้วประเทศจะเดินได้เอง