Saturday, June 27, 2009

ในที่สุด ประเทศนี้ก็ได้บรรทัดฐานที่ถูกต้องแล้ว

วันนี้ (๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒) ข่าวจากเวบไซด์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ตีพิมพ์เรื่องคำตัดสินของศาลไว้ดังข้างล่างนี้

กรมทางชนบทจ่าย2ล้านสามีพิการเมียตายเหตุถนนขาด
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.2552 นายวิวุฒิ มณีนิล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และนายพลกฤต เนาว์ประโคน ประธานสภาทนายความ จ.บุรีรัมย์ เป็นตัวแทนมอบเช็คเงินสดจำนวน 2,085,833 บาท ให้นายสุนันท์ สืบสิงห์ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 13 ต.นิคม อ.สตึก บุรีรัมย์

ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้กรมทางหลวงชนบท ชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายสุนันท์ สืบสิงห์ และบุตร 2 คน กรณีกรมทางหลวงชนบทกระทำโดยประมาท ไม่ซ่อมแซมถนนสายบ้านหนองตาด - บ้านดงเย็น หมู่ 4 ต.โนนขวาง อ.บ้านด่าน บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2546 นายสุนันท์ สืบสิงห์ ด.ญ.สุมาตรา สืบสิงห์ และ ด.ญ.สุมัสสา สืบสิงห์ บุตรสาว ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรมทางหลวงชนบท ในข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2711/2546 โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2545 เวลาประมาณ 19.00 น. นายสุนันท์ ได้ขี่รถจักรยายนต์ เลขทะเบียน ธ-5820 บุรีรัมย์ โดยมีนางสติม ภรรยา ซ้อนท้ายไปตามถนนสายบ้านกระทุ่ม - อ.คูเมือง จากบ้านหนองตาด ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง มุ่งหน้าไปตามถนนทางบ้านกระทุ่ม

ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปถึงบ้านดงเย็น ต.โนนขวาง อ.บ้านด่าน ปรากฏถนนเส้นดังกล่าวชำรุด ขาดการซ่อมแซม ซึ่งเป็นความประมาทของกรมทางหลวงชนบท ทำให้รถจักรยานยนต์ตกลงไปในช่องถนนขาดเป็นเหตุให้นางสติม ภรรยา เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนนายสุนันท์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังพิการเป็นอัมพาตจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา นายสุนันท์ พร้อมลูกสาวทั้ง 2 คนได้เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสภาทนายความบุรีรัมย์ มอบหมายให้นายพลกฤต เนาว์ประโคน เป็นทนายความยื่นฟ้อง กรมทางหลวงชนบท ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2546 โดยฟ้องเป็นคดีอนาถา

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษา เป็นคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 585/2548 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2548 ตัดสินให้กรมทางหลวงชนบทชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายสุนันท์ และบุตรสาว 2 คน เป็นเงินจำนวน 1,505,147 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,408,325 บาท

ต่อมา กรมทางหลวงชนบท ได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2548 และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2551 ตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้กรมทางหลวงชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายสุนันท์ และบุตร เป็นจำนวนเงินพร้อมดอกเบี้ย ทั้งสิ้น 2,085,833 บาท โดยศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2552

นายพลกฤต เนาว์ประโคน ประธานสภาจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ปล่อยปละละเลยหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ถือเป็นอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจที่ประชาชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ และศาลตัดสินให้ชนะคดี


สำหรับผู้เขียนแล้ว แม้ว่าข่าวนี้จะเป็นข่าวเล็ก ๆ ที่คงจะตกออกจากหน้าหลักของเวปไซด์ในไม่ช้า แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะคำตัดสินของศาลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กฎหมายและท่านผู้พิพากษามีความเข้าใจในหลักการของการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นโดยภาครัฐอย่างแท้จริง และดูเหมือนจะเข้าใจมากกว่าหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐนเหล่านั้นเสียอีก

ตามหลักการแล้ว ภาครัฐมีหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นแก่ประชาชน (ในบางกรณีอาจให้เอกชนเป็นผู้จัดการแทน แต่ภาครัฐยังต้องกำกับดูแลอยู่ เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐานของประชาชน) ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องจัดหาให้ประชาชน คือ บริการพื้นฐานจำเป็นที่ได้มาตรฐาน ย้ำว่าได้มาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยสาธารณะ และมาตรฐานด้านความเป็นอยู่ที่ดีขั้นพื้นฐาน สิ่งที่ภาครัฐรับไว้เป็นทุนในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานคือภาษีของประชาชน ดังนั้น เมื่อรัฐมีเงินบริหารจัดการโดยภาษีของประชาชน จึงมีพันธกิจที่จะต้องให้บริการที่ได้มาตรฐาน ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องมีบทลงโทษ ชดใช้ ชดเชย ตามกฎหมาย จะมาบอกว่าฉันให้บริการแล้ว จะไม่ได้มาตรฐาน ก็เรื่องของฉัน เพราะประชาชนได้บริการฟรี ๆ จะต่ำกว่ามาตรฐานก็ไม่เป็นไร เพราะฟรี ไม่ได้ เพราะตามหลักการคือ ประชาชนจ่ายภาษีไปเพื่อให้ได้บริการที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่จะได้รับตามความปรานีของภาครัฐหรือนักการเมือง ในทางกลับกัน ประชาชนต่างหากที่กรุณาจ่ายเงินให้รัฐได้มีงานทำในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานให้กับประชาชน

แต่ทัศนคติของคนไทยที่แตกต่างจากชาวโลก คือ ยอมรับว่าจ่ายภาษีในอัตราต่ำ ก็เลยต้องยอมรับบริการสาธารณะที่ไม่ดีไป แต่หลักการที่ถูกต้อง คือ ภาครัฐต้องคำนวณออกมาว่า จะต้องใช้เงินเท่าไหร่เพื่อจัดหาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่ได้มาตรฐานให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แล้วก็จัดทำแผนการใช้งบประมาณว่าจะใช้เงินจากไหน มีรายรับรายจ่ายอย่างไร และ "ต้องเก็บภาษีจากประชาชนเท่าไหร่" เพื่อให้ได้บริการที่ได้มาตรฐาน เมื่อคำนวณและวางแผนดังกล่าวได้แล้ว แม้ว่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอีกสามเท่า ประชาชนก็ต้องจ่าย เพราะเป็นต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น เลี่ยงหรือยอมรับบริการที่ต่ำกว่านั้นไม่ได้ เพราะคนจะตาย จะป่วย จะอยู่อย่างต่ำกว่ามาตรฐาน

แต่วิธีคิดของคนไทย รัฐบาลกลางต้องเป็นพี่ใหญ่ ที่ให้การดูแลทั้งหมด จะไปเงินจากไหนมาก็เรื่องของนักการเมือง ให้ประชาชนจ่ายน้อยที่สุดหรือไม่จ่ายเลยก็ได้ ก็เลยต้องยอมรับบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะตัวเองไม่ได้จ่ายอะไร จะไปเรียกร้องอะไรก็พูดได้ไม่เต็มปาก ถ้าโดนย้อนถามว่า มาเรียกร้องนู่นนี่แล้วจ่ายอะไรมั่งหรือเปล่า ก็คงอายกลับไป ด้วยเหตุดังกล่าว คนไทยจึงได้รับบริการโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นอย่างไม่ได้มาตรฐานตลอดมา คำตัดสินของศาลในคดีข้างบนนี้ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีต่ออนาคตของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง ผู้เขียนขอคาราวะท่านผู้พิพากษาไว้ ณ ที่นี้

ปล. ไอ้ที่มีแนวโน้มว่าจะโดนประชาชนผู้เสียหายฟ้องในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ถนนเสียหายมาเป็นปีแล้วไม่ซ่อม โค้งอันตรายที่ติดป้ายมาเป็นสิบปี คนตายไปไม่รู้กี่คน รู้ว่าเป็นโค้งอันตรายก็แก้ไขไม่ให้มันอันตรายซะสิ ไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนไม่ติดมาเป็นเดือนแล้วไม่แก้ไข รถน้ำรดน้ำต้นไม้บนช่องทางขวาสุดของถนนสายประธานแล้วผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุ (บนถนนสายประธานมีไว้สำหรับวิ่งเชื่อมระหว่างเมือง ความเร็วสูง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ไม่ได้ต้องการถนนสวยงามร่มรืนแบบถนนสายย่อยในชุมชนพักอาศัย) จะมาบอกว่าเงินไม่พอ ไม่มีเงินไม่ได้ เพราะภาครัฐเป็นผู้ตั้งอัตราภาษีในรูปแบบต่าง ๆ เอง ถ้าตั้งต่ำกว่าที่จะดำเนินการได้ แล้วมาบอกว่าประชาชนต้องได้สิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะรัฐเก็บน้อย ก็ไม่มีใครบังคับให้รัฐเก็บน้อย ตามหลักการต้องเก็บให้พอที่จะจัดหาบริการที่ได้มาตรฐาน รัฐไม่เก็บให้พอเอง (เพราะต้องการฐานเสียง) จะมาโทษประชาชนไม่ได้

Saturday, June 20, 2009

เรื่องน่าทึ่งแห่ง "นโยบายพลังงานของประเทศไทย"

น้ำมันกลับมาแพงอีกแล้ว พลังงานทดแทนก็เลยกลับมาเป็น hot issue อีกครั้ง การติดตั้งก๊าซ CNG และ LPG คึกคัก ก็ให้สงสัยว่าประเทศนี้มีนโยบายพลังงานกันอย่างไร จึงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามราคาน้ำมันของโลกได้เสมอ พอไปสืบค้นดูก็พบอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ

ความน่าสนใจอยู่ที่ นโยบายพลังงานที่ขัดแย้งกันระหว่างสองกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของประเทศ คือ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน

"กระทรวงพลังงาน" ผู้รับผิดการจัดหาและการใช้พลังงานของประเทศ สนับสนุนให้ติดก๊าซ CNG ในยานพาหนะทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยานพาหนะส่วนบุคคล เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะที่มีคนใช้เยอะที่สุด ติดแล้วคิดว่าน่าจะช่วยประหยัดพลังงานของประเทศได้

"กระทรวงอุตสาหกรรม" ส่วนที่ทำนโยบายยานยนต์ของประเทศ สนับสนุนให้ผลิด Eco Car กับรถยนต์ส่วนตัว ให้เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน หรือ พลังงานอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนก๊าซ CNG จะใช้กับรถสาธารณะ ทั้งขนส่งบุคคลและสินค้า เนื่องจากหาปั๊มก๊าซยาก การขนส่งลำบาก ต้องใช้รถบรรทุกขนส่งก๊าซ ซึ่งก็ขนส่งได้ครั้่งละไม่มาก การส่งด้วยระบบท่อไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่ ๆ และจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือเปล่าก็ไม่รู้ จึงให้ใช้กับรถสาธารณะที่เดินทางเป็นประจำจากจุดต้นทางที่แน่นอนไปยังจุดหมายปลายทางที่แน่นอนอีกเหมือนกัน เมื่อรู้จุดต้นกับจุดปลายที่แน่นอน ก็เตรียมปั๊มก๊าซในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ แต่ถ้าใช้ก๊าซ CNG กับรถยนต์ส่วนตัว จัดหาก๊าซและตำแหน่งปั๊มไม่ไหวแน่ เพราะมี demand กระจายทั่วประเทศ ให้บริการได้ไม่ทั่วถึง

พอได้เข้าไปเจาะนโยบายของทั้งสองกระทรวงแล้ว ก็ยินดียิ่ง ที่ประเทศไทยมีนโยบายเรื่องเดียวกัน แต่ขัดแย้งกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วผู้ประกอบการจะวางแผนพัฒนาได้อย่างไร ประชาชนจะเลือกแนวทางไหนในการดำเนินชีวิต ในเมื่อหน่วยงานภาครัฐที่ต้องกำหนดทิศทางของประเทศให้คนอื่นเดินตาม ยังไม่อยู่กับร่องกับรอยอย่างนี้ ช่างมันเหอะ

เหตุผลที่หายไปนาน

วันนี้ผู้เขียนได้รวบรวมสติตัวเอง แล้วกลับมาเขียนบล็อกอีกครั้ง
ก่อนจะเขียน ก็ควรจะบอกเล่ากันก่อนว่าหายไปไหนมา
คำตอบอยู่ข้างล่างนี้ ผมเอาไปเขียนบ่นไว้ในเว็บบอร์ดของรุ่นผม ก็เลยเอามาใส่ไว้ โดยไม่ตัดต่อเลยแม้แต่น้อย

เบื่อจริง ๆ หยุดเขียนบล็อกไปเกือบปีแล้ว เพราะเซ็งมาก
มีคนเอารูปจากบล็อกกูไปทำมาหาแดกมาหลายคนแล้ว
กูไม่หวงอะไรหรอก ขอให้บอกว่า ได้มาจากไหนกูก็พอใจแล้ว ไม่ต้องมาขออนุญาต มาขอบคุณ มาให้เงินอะไรกูหรอก
แค่อย่าเอารูปที่กูถ่าย แล้วไปโกหกคนอื่นว่า เป็นคนถ่ายเองก็พอใจแล้ว
กูจำรูปกูได้ทุกรูป เพราะกูถ่ายเอง และเลือกมาลงบล็อกเอง เห็นปุ๊บรู้เลยว่านี่กูถ่ายเองนี่หว่า

ครั้งแรก โดนมติชนเอาไปใช้ โทรไปบอก เขาก็ไม่สนใจ แค่ลงว่าเอามาจากไหนในฉบับต่อไปแค่นั้น

ครั้งที่สอง หนังสือขายรถมือสอง มันมีคอลัมน์พวกกฎหมายจราจร ก็เลยเอารูปรถกระบะที่บรรทุกเกินของกูไปอีกแล้ว

ครั้งที่สาม ที่เจ็บใจที่สุด เป็นนิสิตปริญญาโท กูเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย แถมตัวมันเองยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอีก
นี่เอาทั้งรูปและข้อเขียนของกูไป และที่สำคัญคือ เขียนด้วยว่า "จากการวิเคราะห์ของผู้วิจัย"
ไอ้เหี้ย กูจะเอาตกและไล่ออกเลยหละ แต่ประธานหลักสูตรเขาไม่เอาด้วย กรรมการคนอื่นก็ไม่เอาด้วย
จริง ๆ แล้วมันเป็น plagiarism (เขียนถูกป่าววะ) ชัดเจน กูหาระเบียบของมหาลัยเมืองนอกหลายแห่งมาอ่านแล้ว ทั้งมหาลัยที่กูเรียนโทและเรียนเอกด้วย เขาไล่ออกสถานเดียว
และอันนี้เป็นการ "จงใจ" เอาผลงานของคนอื่น แล้วมาบอกว่าเป็นของตัวเองซะอีก

กูเบื่อว่ะ ไม่อยากทำอะไรแล้ว เหมือนไอ้บีเคยบอกกูว่า มันไม่ทำของขายในประเทศหรอก คิดแทบตายห่า ต้องลองผิดลองถูกมากมายกว่าจะได้ผลงานที่ดีออกมา
แป๊บเดียว แม่งโดนก็อปซะแล้ว


ช่างแม่งเหอะเนอะ ประเทศชาติไม่ใช่ของกูคนเดียว อยากได้ประเทศเแบบนี้ ก็ทำแบบนี้กันต่อไปเหอะ
เมื่อก่อนเห็นอะไร ก็เอามาคิด ตอนนี้เห็นแล้วช่างแม่ง รูปอะไรก็ไม่ถ่ายแล้ว เพราะถ่ายแล้วก็อยากเล่า อยากเขียนให้คนอื่นรู้
แล้วก็กโดนก็อปอีก

ขอบคุณที่ฟังกูบ่น


ขออภัยที่ใช้ถ้อยคำ hard core ไปหน่อย แต่ก็เพราะเขียนเว็บบอรด์ คุยกับเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันมายี่สิบปี จะให้มาพูดคุณ-ผมคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คนมันเคยเขียนนู่นเขียนนี่มาตั้งนาน เซ็งไปพักหนึ่ง ก็อดไม่ได้ กลับมาเขียนอีกแล้ว ทนอ่านกันไปก็แล้วกันนะครับ