พระภิกษุเป็นฐานันดรพิเศษที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ในยุคที่ยังเป็นระบบ "ศาสนา-การเมือง" พระภิกษุคือขั้วอำนาจหนึ่งที่คานกับอำนาจของผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ "กษัตริย์-สังฆราช" ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน "แก่บ้าน-แก่วัด" เมื่อสังคมมนุษยเปลี่ยนมาสู่ระบบ "เศรษฐกิจ-การเมือง" แม้คำว่า "ศาสนา" จะถูกตัดออกไปจากกระแสหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศาสนาก็ยังคงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง กลายเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่ด้วยกระแสของเศรษฐกิจ วัดบางส่วนก็ต้องหาเงินเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ ตอนเริ่มต้นก็คงอยู่อย่างพอเพียงก่อน พอเห็นว่ารายได้ดี ก็คงขยายเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จทางการเงินมากขึ้น แต่พระภิกษุมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจ รูปแบบจึงออกมาในลักษณะการขอบริจาค ตรงตามความหมายของคำว่า "ภิกษุ" ซึ่งแปลว่า "ผู้ขอโดยสงบ"
ทั้งสองภาพนี้ถ่ายที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในวันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันที่วัดมีรายได้มากที่สุดวันหนึ่งของปี แค่ฐานรอบพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน ๒๐ ตารางเมตร ก็มีตู้บริจาคตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันถึงเก้าตู้บริจาค ยังไม่นับตู้บริจาคอื่น ๆ ที่อยู่นอกฐานของพระร่วง ฯ อีกมากมาย ทำให้เข้าใจได้ว่าวัดนี้ช่างขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อสังฆากิจเสียจริง ๆ