ปีนี้แล้งมาก ขาดน้ำ น้ำในแม่น้ำโขงก็เหือดแห้ง มีการด่ากันแล้วว่าจีนที่อยู่เหนือน้ำ กักน้ำเอาไว้ ท้ายน้ำอย่างไทย ลาว กัมพูชา ก็เลยไม่มีน้ำใช้ ต้องมาจัดประชุมกันริมทะเลหัวหิน-ชะอก (นัยว่าน้ำเยอะ) เพื่อให้ประกาศพื้นที่เขตอัยการศึกกันอีก
แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาคคงต้องกลับมาคิดกันใหม่ คิดแบบเข้าใจโลกมากกว่านี้ จะมัวมามองว่าจีนเขาต้องทำตามกฎการบริหารจัดการน้ำของโลก ต้องมีเมตตาปรานี ไม่กักน้ำเอาไว้ด้วยความสงสารคนต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ท้ายน้ำ ความคิดแบบนี้มีแต่ในนิทานสุภาษิต ไม่มีจริงในโลก ลองคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าประชาชนจีนขาดน้ำแล้วตัวเองมีเขื่อนที่กักน้ำแล้วแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ จีนจะไม่กักน้ำหรือ เป็นใครเขาก็กักน้ำให้คนในประเทศเขาก่อนทั้งนั้นแหละ ประเทศไทยก็ต้องคอยเมตตาจากเขา ปีไหนไม่มีน้ำก็อด ปีไหนน้ำมาเขาก็ปล่อยมันลงมาให้น้ำท่วมริมสองฝั่งโขง ทำอะไรไม่ได้เลย รอรับเมตตาปรานีจากเขาเท่านั้น
ประเทศไทยคงต้องตั้งหลักว่าจะอยู่ได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นเขามากนัก จึงต้องแยกน้ำท่าออกเป็นสองส่วน คือ น้ำที่มีพื้นที่รับน้ำอยู่ในประเทศเราบริหารจัดการเองได้ กับน้ำที่ต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจเพราะมีพื้นที่รับน้ำอยู่ในประเทศอื่น เมื่อแยกน้ำเป็นสองส่วนแล้ว ก็ต้องมีกระบวนท้ศน์ในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน น้ำนอกประเทศต้องถูกใช้เป็นน้ำตามฤดูกาล คือมีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ใช้ได้ ไม่เดือดร้อนถ้าไม่มี แต่ถ้ามีก็ดี แค่นั้น ส่วนน้ำในประเทศก็ต้องรู้ว่าเรามีเท่าไหร่ เก็บกักได้เท่าไหร่ และจะใช้ในประโยชน์อะไร มันจะลามไปถึงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์พื้นทีและกิจกรรมในพื้นที่รับน้ำในประเทศทั้งหมด น้ำที่เราจะใช้เพื่อดื่มเพื่อกินก็ต้องควบคุมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนน้ำที่จะใช้เพื่อการอุปโภคก็ต้องมีการควบคุมในระดับหนึ่ง นั่นหมายความว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็คงต้องยอมเพราะทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประเทศสิงคโปร์ที่มีพื้นที่นิดเดียวแต่ประชากรมาก ต้องใช้ประโยชน์เพื่อสร้างเมืองให้มากที่สุดก็ยังกำหนดพื้นรับน้ำไว้ร้อยละสี่สิบของพื้นที่ ห้ามสร้างอย่างอื่นลงไปเลย เพราะเขารู้ว่าต้องมีน้ำสำรองพอใช้ในยามฉุกเฉิน
ประเด็นที่ต้องคิดให้ครบถ้วนคือ การจะมีน้ำใช้อย่าเพียงพอในประเทศมีต้นทุนที่ทุกคนในประเทศต้องจ่ายเพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคใช้อย่างเพียง ต้องมีการวางแผนที่ดีและมีการชดเชยให้กับคนที่ต้องเสียสละเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำอย่างเหมาะสม ส่งผลไปถึงการใช้สาธารณูปโภคทั้งหมดที่เข้าสู่ระบบ "ใครใช้คนนั้นจ่าย" ที่มีการจัดสรรต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับอย่างเหมาะสม คำถามที่สำคัญที่สุด คือ สันดานของคนไทย จะทำได้หรือ เพราะเราเคยชินกับการให้รัฐบาลกลางจ่ายให้ทุกอย่าง ไม่ต้องรับผิดชอบต้นทุนเอง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบของการใช้สอยของตัวเองโดยตรง จะปลูกจะสร้างอะไรก็สนใจแต่ผลกำไรของตัวเอง ผลกระทบภายนอก เช่น น้ำชะยาฆ่าแมลงไหลไปสู่ใครบ้าง ไม่ต้องรับผิดชอบ ภาครัฐต้องไปทำความสะอาดตรงนั้นให้เอง จะคัดค้านการสร้างเขื่อน ก็ไม่ต้องรู้ว่าแล้วจะเอาน้ำมาจากไหน ฉันมีหน้าที่คัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างเดียว คิดได้ดังนี้แล้วก็จบข่าว กลับไปยืมจมูกจีนหายใจเหมือนเดิมดีกว่า แล้วค่อยร้องเรียนต่อโลกเอาเป็นครั้ง ๆ ไปแล้วกัน
Thursday, April 1, 2010
Subscribe to:
Posts (Atom)