Thursday, July 31, 2008

ข้อความที่คมและสวยงาม

ตอนที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ในระดับมหาวิทยาลัย วิชาที่ผู้เขียนชื่นชอบคือวิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของผู้เขียน เนื่องจากภาษากฎหมายเป็นภาษาที่สวยงาม (แม้ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังสวยงามสำหรับคนต่างชาติอย่างผู้เขียน) ตรงไปตรงมา และต้องอ้างอิงเหตุและผลที่นำมาสู่การพิพากษา เมื่อเรียนจบ ผู้เขียนไม่คิดว่าจะได้มานั่งติดตามอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง และวันนี้ผู้เขียนก็ได้กลับมาพบความสวยงามของภาษากฎหมายอีกครั้ง จึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อก

"จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้ง ๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง"

ท่านผู้อ่านคงทราบว่าเป็นคำพิพากษาในคดีอะไร อยากจะย้ำไว้อีกครั้งว่า ผู้เขียนมิได้นำคำพิพากษานี้มาบันทึกไว้โดยมีวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) ทางการเมืองแต่อย่างใด แต่นำมาบันทึกไว้ด้วยความประทับใจในความงดงามของคำพูดและการอ้างอิงเหตุและผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง

Monday, July 14, 2008

ช่วยคนพิการให้สะดวกขึ้นหรือให้ตายเร็วขึ้นกันแน่

ในยุคปัจจุบันคนพิการมีสิทธิมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะสังคมพิจารณาว่าคนพิการเป็นกำลังสำคัญแรงหนึ่งในสังคม เขามีความสามารถในการผลิตเพื่อส่วนรวม ไม่เหมือนกับในอดีตที่คิดว่าคนพิการไม่มีประโยชน์อะไร เป็นภาระให้กับสังคมต่างหาก ด้วยแนวความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดการกระทำหลายประการเพื่อให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับคนปกติได้อย่างเท่าเทียม เช่น การออกกฎหมายสิทธิคนพิการ การให้มีทางลาดเพื่อให้รถเข็นคนพิการสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก เป็นต้น แต่มาตรการเหล่านี้บางครั้งเหมือนกับทำแบบขอไปที ทำอย่างเสียไม่ได้ สักแต่ว่าให้มีเท่านั้น


วันนี้ผู้เขียนขับรถผ่านไปบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เลยได้รูปข้างบนนี้มาฝาก เป็นสถานีรถ BTS นราธิวาส ซึ่งพยายามออกแบบสถานีให้เอื้ออำนวยต่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่ ก็เลยจัดให้มีลิฟต์เอาไว้ให้คนเหล่านั้นขึั้นลงไปยังสถานีได้อย่างสะดวก แต่เนื่องจากไม่มีที่จะติดตั้งลิฟต์ ทางเท้าด้านข้างก็แคบไม่รู้จะเอาไว้ไหนได้ ก็เลยเอามันไว้กลางถนนนี่แหละ คนพิการจะขึ้น-ลงจากลิฟต์ตัวนี้ก็ต้องข้ามถนนเสี่ยงตายมาใช้ลิฟต์ เอาน่า เขามีทางลาดด้านข้างให้ขึ้นลงจากระดับพื้นผิวการจราจรได้ง่ายแล้วนะ ยังจะมาเรียกร้องอะไรอีก มีลิฟต์ให้ก็เป็นบุญเป็นคุณอย่างที่สุดแล้วหละ

ห้ามจอดรถแต่ไม่ห้ามวางป้าย

การห้ามจอดรถบนถนนเป็นกฎจราจรอย่างหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อปกป้องพื้นผิวการจราจรไว้สำหรับการสัญจรเท่านั้น ซึ่งมีทั้งการห้ามจอดตลอดเวลาหรืออาจห้ามจอดบางเวลาตามแต่ช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ช่องทางจราจร ซึ่งมาตรการดังกล่าวมักจะใช้กับถนนสายสำคัญต่าง ๆ และมักจะมีมาตรการอย่างอื่น ๆ มาสนับสนุนให้เกิดการสัญจรอย่างสะดวกด้วย เช่น การให้เดินรถทางเดียว อย่างถนนข้างสถานีรถไฟหัวลำโพง


ถนนข้างสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังถนนบรรทัดทอง ถูกจัดให้มีการเดินรถทางเดียวเนื่องจากเป็นถนนแคบ มีแค่สามช่องจราจรและมีปริมาณการสัญจรมาก จึงได้มีการใช้มาตรการห้ามจอดรถ ดังที่จะเห็นป้ายห้ามจอดอยู่บนทางเท้าด้านขวามือ แต่ห้ามได้เฉพาะรถเท่านั้น ไม่สามารถห้ามร้านค้าบริเวณนั้นมาตั้งป้ายโฆษณาได้ ดังนั้น พื้นผิวการจราจรที่ควรจะได้มาใช้สำหรับการเดินรถก็ไม่ได้มาตามวัตถุประสงค์ของมาตรการห้ามจอด จริง ๆ แล้วป้ายโฆษณาของร้านค้าไม่ได้ต้องการโฆษณาหรอก เพียงแต่เอามาวางไว้เพื่อกันที่จอดรถของร้านไว้เท่านั้น ตรงนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำอยู่เสมอเนื่องจากต้องมาอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ไม่รู้ว่ามีธนบัตรชนิดใดมาบังตา ตำรวจจราจรไม่เคยเห็นป้ายนี้ว่ามันกีดขวางการจราจรแต่อย่างใด

Sunday, July 13, 2008

เรื่องที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับท่านนายกสมัคร

โดยปกติแล้ว ผู้เขียนมักจะไม่ค่อยคิดและเขียนอะไรเกี่ยวกับ "การเมือง" มากนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน พูดตรง ๆ ว่าเวลารับทราบข่าวการเมืองแล้วเหมือนกับได้ดู "เหี้ยกัดกัน" ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง โดยเอาประชาชนมาบังหน้า เวลาอ้างถึงความชอบธรรมว่าประชาชนสนับสนุนฝ่ายตนก็ไปนับญาติกับเขาว่าเป็น "พี่น้องประชาชน" แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนก็ด่าอย่างสาดเสียเทเสีย ความเห็นของตนเองถูกต้องที่สุดในโลก

เมื่อเช้าดันไปนั่งอยู่ในวงสนทนาที่เขาเปิดรายการของท่านนายกสมัคร ที่ออกมาบ่นนู่นบ่นนี่ทุกเช้าวันอาทิตย์ นั่งฟังอยู่นานก็เกิดความคิดต่อเนื่องจากข้อบรรยายของท่านมากที่เดียว มีทั้งที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับท่าน จึงขอหาญกล้าเอาข้อคิดของท่านมาวิพากษ์ต่อไปอีก

เริ่มจากข้อที่ผู้เขียน "เห็นด้วย" กับท่าน จะว่าเห็นด้วยก็คงไม่ถนัดนัก เพียงแค่จับประเด็นบางอย่างของท่านมาแล้วเกิดความคิดต่อยอดเสียมากกว่า ท่านพูดเรื่องสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่พยายามพัฒนาประเทศตามอย่างตะวันตก ด้วยแนวความคิดที่จะแสดงให้โลกรับรู้ว่าประเทศไทยทันสมัยเทียบเท่ากับประเทศเจ้าอาณานิคมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องประเทศจากการล่าอาณานิคม ประเทศไทยในสมัยนั้นจึงมีอะไรหลาย ๆ อย่างเทียบเท่าและทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ (เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น) รวมไปถึงการแต่งกายของข้าราชการ ท่านนายกกล่าวถึงคำว่า "รอยัลพาเท้นต์" ซึ่งแผลงมาเป็น "ชุดราชปะแตน" ซึ่งก่อนหน้านั้นข้าราชการไทยไม่มี "เครื่องแบบ" ก็เลยสร้างเครื่องแบบรวมไปถึงเหรียญตราต่าง ๆ ให้เหมือนกับประเทศมหาอำนาจ กุศโลบายดังกล่าวก็เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานเป็นสำคัญ ผู้เขียนก็เลยคิดต่อไปว่า ต่อจากนั้นมา "เครื่องแบบ" ก็กลายเป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมไทย เริ่มต้นจากข้าราชการและลามไปจนถึงทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

แต่วันนี้ ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ที่เคยคิดว่า "เครื่องแบบ" คือเครื่องแสดง authority แบบต่าง ๆ ตามแต่ประเภทของเครื่องแบบ ได้เปลี่ยนวิธีคิดไปแล้ว "เครื่องแบบ" แทบไม่มีความหมายอีกต่อไปในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เข้าให้ความสำคัญกับ "หน้าที่และความรับผิดชอบ" ซึ่งควรติดตัวอยู่กับทุกอาชีพมากกว่ากระพี้ในรูปแบบของเสื้อผ้า อีกทั้งเครื่องแบบยังนำไปสู่การใช้อำนาจหน้าที่อย่างผิดประเภทอีกด้วย (หาหลักฐานได้มากมายจากบทความอื่น ๆ ในบล็อกนี้) นั่นหมายความว่า "เครื่องแบบ" ที่เคยเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเจริญ กลับกลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสื่อมเสียแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงยึดมั่นถือมั่นกับ "เครื่องแบบ" โดยแอบอ้างว่าเป็นสิ่งของ "พระราชทาน" โดยไม่ได้คิดว่าบริบทของสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ส่วนเรื่องที่ไม่เห็นด้วย คือเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรค ท่านนายกฯ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับบริษัทว่า ถ้าหุ้นส่วนคนหนึ่งทำผิดแล้วต้องปิดบริษัท หุ้นส่วนคนอื่น ๆ ก็ซวยไปด้วย รวมถึงพนักงานก็ต้องตกงานตามไปอีก เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างจัง โดยอ้างถึงคำพิพากษาตอนที่ยุบพรรคไทยรักไทย ที่จำเลยได้พยายามยกเหตุผลมาคัดค้านว่า "กรรมการบริหารพรรคสองท่านทำผิดในฐานะส่วนตัว" แต่ศาลให้เหตุผลชัดเจนว่า "แม้ว่าจะทำผิดเป็นการส่วนตัว แต่พรรคได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องยุบพรรค" ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะสังคมคาดหวังว่าผู้ที่รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคย่อมต้องมีความรับผิดชอบและจริยธรรมสูง แล้วพวกเขาก็มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรค และสิ่งที่พวกเขาทำทุจริต พรรคก็ได้ประโยชน์โดยรวม ไม่ใช่เขาได้ประโยชน์เพียงคนเดียว ดังนั้น การยุบพรรคก็เป็นเรื่องที่ถูกที่ควรแล้ว อย่ามาอ้างนู่นอ้างนี่เลย และจะมาบอกว่าเขาทำเองพรรคไม่รู้เรื่องก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะวิถีของพรรคการเมืองไทย มีใครจะลงทุนตัวเองให้พรรคได้ประโยชน์แล้วไม่ทวงบุญคุณหรือ และก่อนที่เขาจะลงทุน เขาก็ต้องคุยกันก่อนเพื่อจัดลำดับและพื้นที่ในการลงทุนให้เหมาะสม กรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ จะไม่รู้จริง ๆ หรือ

และยิ่งเป็นกรณีที่มีการแข่งกันกันอย่างสูสีระหว่างสองพรรค ตัดสินกันว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านกันด้วยจำนวนสส.ที่ชนะกันไม่กี่คน พรรคคู่แข่งทั้งสองก็ต้องทำทุกอย่างที่จะชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ และยิ่งการแจกใบเหลืองใบแดงต้องใช้เวลานานกว่าจะประกาศกันออกมากได้ (เพื่อความยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา) จึงมีแนวโน้มสูงที่จะซื้อเสียงให้ชนะไปก่อน ให้มีจำนวนสส.ชนะอีกฝ่ายหนึ่งแล้วชิงจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน แล้วไปวัดดวงเอาว่าจะโดนใบแดงหรือเปล่า ใบเหลืองเขาไม่กลัวหรอก เพราะมีสิทธิ์ลงเลือกตั้งใหม่และถ้าเป็นพรรครัฐบาลแล้วก็มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีโอกาสชนะสูงมาก

เขียนจนจบก็เหนื่อย กลับมานั่งคิดว่า จะต้องมาเหนื่อยเขียนเรื่องพวกนี้อยู่ทำไม เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะอย่างไรก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนยังมีทัศนคติที่ดี เคยนึกด่าผู้ใหญ่ต่าง ๆ ว่าทำไมไม่ช่วยกันทำความดีคนละไม้คนละมือ ก็จะเอาชนะนักการเมืองไม่ดีได้ พอมาเป็นผู้ใหญ่เองแล้ว ตัวเองก็ย้อนกลับไปเข้าสู่วงจรอุบาทว์แบบนั้นอีก ตอนนี้เด็ก ๆ คงนึกด่าเราอยู่ในใจว่า ทำไมจึงไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ส่วนเราก็นึกในใจว่า ไว้เอ็งเป็นผู้ใหญ่อย่างข้า เอ็งก็จะปลงอย่างข้าเหมือนกันแหละวะ

จะดูสายพันธ์ม้าลายได้ตรงไหน

ความรู้ที่ได้จากสวนสัตว์เขาดินคือ ป้ายอธิบายที่กรงของม้าลาย ที่กล่าวถึงการแยกสายพันธ์ม้าลายซึ่งมีอยู่ทั้งหมดสามสายพันธ์ ซึ่งแต่ละพันธ์จะมีรูปแบบของลายแตกต่างกัน แต่จะดูที่ตัวของม้าลายคงดูยาก เพราะลวดลายจะไม่แตกต่างกันนัก บริเวณที่จะดูได้ชัดเจนที่สุดคือบั้นท้ายหรือตูดของม้าลายนั่นเอง


เรื่องนี้ทำให้หวนกลับไปนึกถึงประโยคทองของการ์ตูนเรื่องมาดากัสก้า ที่ม้าลายกล่าวว่า "ฉันเองก็ยังไม่รู้เลยว่า ฉันมีสีขาวลายดำ หรือสีดำลายขาวกันแน่"

เหตุเกิดที่สวนสัตว์

ผู้เขียนไม่ได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) มาไม่ต่ำกว่าสิบปี เนื่องจากไม่ว่างบ้าง คิดเอาเองว่าโตเกินกว่าที่จะไปเที่ยวสวนสัตว์บ้าง แล้วแต่จะแก้ตัวไปต่าง ๆ นานา ในที่สุดก็ได้โอกาสกลับไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว พบว่ามีการพัฒนาไปอย่างน่าสนใจ เริ่มเข้าไปสู่ความเป็น Theme Park คือมีการจัดแสดงต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักทัศนาจร ทั้งการแสดงของสัตว์ในสวนสัตว์เองและโชว์จากต่างประเทศ ฟังดูเหมือนว่าองค์การสวนสัตว์เองก็กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่พอเข้าไปดูสัตว์เข้าจริง ๆ กลับพบอะไรที่แปลก ๆ อยู่เหมือนเดิม



ภาพเหล่านี้อยู่ในส่วนของ "สัตว์เลื้อยคลาน" ซึ่งเต่าและตะพาบน้ำก็จัดอยู่ในกลุ่มพวกนี้ด้วย มีเต่าหลายสิบประเภทอยู่กันอย่างแออัดในบ่อคอนกรีตซึ่งแยกตามประเภทของมัน และแต่ละบ่อก็จะมีเหรียญบาทกระจายอยู่เต็มไปหมด ทั้งในบ่อน้ำและบนตัวของเต่าและตะพาบน้ำเอง ซึ่งนักทัศนาจรโยนลงไปด้วยความเชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนและสุขภาพดี ตามทัศนคติทางสังคมที่มีต่อสัตว์ประเภทเต่าและตะพาบน้ำ แต่เหรียญเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อสัตว์หรือเปล่า มันคงไม่กินเข้าไปหรอก แต่สารเคมีที่ติดมากับการผลิตเหรียญและการที่ผ่านมือการใช้จากที่ต่าง ๆ มาไม่รู้กี่ร้อยรอยคงไม่ดีต่อคุณภาพน้ำและสุขภาพของสัตว์นัก ผู้ดูแลสวนสัตว์คงไม่เดือดร้อนแถมยังยินดีด้วยซ้ำเพราะได้เงินเพิ่ม เท่าที่ดูด้วยสายตารวมทุกบ่อเต่าแล้วน่าจะเฉียดพันบาทได้ ผู้เขียนไม่ได้คัดค้านความเชื่อของคนไทย แต่นี่เป็นความเชื่อที่ทำร้ายสัตว์ แถมยังทำในสวนสัตว์ที่ควรจะมีการดูแลสัตว์อย่างดีเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์สัตว์เสียอีกด้วย ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้อยู่คู่กับสวนสัตว์เขาดินมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด องค์การสวนสัตว์จะพัฒนาไปแค่ไหน แต่ค่านิยมและระดับของจิตใจของคนไทยยังคงเหมือนเดิม และยังคงคิดว่าสัตว์มีหน้าที่รองรับความต้องการของมนุษย์อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านการเป็นอาหาร การเป็นสัตว์เลี้ยง หรือการเลี้ยงให้คงอยู่เพื่อความเชื่ออย่างที่เห็นในภาพ

Saturday, July 12, 2008

ข้าราชการควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน

เขียนมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ถึงการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงกลับทำไม่ดีให้ประชาชนเขาด่าให้เสียอีก ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐทำตัวมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายดูเหมือนเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศไทย เพราะทำกันทุกระดับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงรัฐมนตรี กลายเป็นว่า "มือใครยาว สาวได้สาวเอา" ทัศนคติดังกล่าวฝังลึกลงไปในกมลสันดานของคนไทย ข้าราชการเป็นพวกที่มีทั้งอภิสิทธิ์ชน การเป็นพรรคเป็นพวกกันโดยไม่สนใจว่าจะถูกจะผิดอย่างไร ตัวอย่างเช่น ภาพด้านล่างนี้


ผู้เขียนเพิ่งพบเหตุการณ์นี้เมื่อบ่ายวันนี้เอง ขณะที่กำลังรอรถไฟผ่านไปอยู่ ก็มีรถจักรยานยนต์หลายคันแซงขึ้นมาจอดรอ ผู้ขับขี่บางคันก็สวมหมวกนิรภัย บางคันก็ไม่ได้สวม แล้วคันสุดท้ายก็มาถึง ผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัย และเป็นจักรยานยนต์ที่มีทะเบียนตราโล่ สัญญลักษณ์ของรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ นี่ไม่รู้ผิดกี่ข้อหา ทั้งไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ ทั้งนำรถราชการไปใช้ในเรื่องส่วนตัว จะว่ากำลังปฏิบัติการนอกเครื่องแบบก็คงไม่ใช่ หรือจะบอกว่าปฏิบัติราชการนอกเครื่องแบบอยู่ก็ไม่มีเหตุผลให้ยกเว้นการสวมหมวกนิรภัย ถ้าผู้ขับขี่จักรยานยนต์ผู้ใดมาเห็นบล็อกนี้เข้า ช่วย print รูปนี้ติดรถไว้ ถ้าโดนตำรวจจับข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัยเมื่อไหร่ ก็ช่วยบอกให้ไปจับคนในภาพนี้ด้วยแล้วกัน ไม่อย่างนั้นจะโดนข้อหาเลือกปฏิบัติได้ด้วย

พักผ่อนกันบ้าง

อันนี้ไม่มีอะไร เห็นว่าเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมามีแต่เรื่องซีเรียส ทั้งในบล็อกและทั้งการต่อสู้กันทางการเมืองในประเทศไทย ก็เลยเอาภาพของแมวน้ำในสวนสัตว์อูเอโนะ ประเทศญี่ปุ่น มาให้ดู พวกเขานอนพักหลังจากแสดงโชว์การให้อาหารจนอิ่มเต็มที่แล้ว

เซียมซีแบบญี่ปุ่น

ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธกับการเสี่ยงเซียมซีเป็นของคู่กัน เพราะศาสนาและศาสนสถานคือที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมไม่ได้เป็นรูปธรรมแบบเรื่องทางโลก ดังนั้น ผู้คนจึงใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ ทั้งเพื่อฟื้นฟูตนเองจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และเพื่อสร้างกำลังใจให้กับการรองรับเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเสี่ยงเซียมซีจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำนายอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร จะได้เตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้า "วัด" จึงมีหน้าที่จัดบริการเรื่องดังกล่าวไว้ให้พร้อม อย่างเช่นวัดในประทเศญี่ปุ่นก็จะมีบริการดังกล่าวเช่นกัน


อุปกรณ์ประกอบการเสี่ยงเซียมซีจะวางอยู่รวมกันที่เดียว คือ มีทั้งกล่องใส่เซียมซีที่มีติ้วอยู่ข้างใน และตู้ลิ้นชักที่จะมีคำทำนายตามรหัสของติ้ว แท่นของตู้ที่วางกระบอกใส่เซียมซีก็จะเป็นที่เก็บสตางค์ค่าใบเซ๊ยมซี โดยเป็นช่องให้หยอดสตางค์ได้ ราคาหนึ่งร้อยเยน จะให้หรือไม่ให้คงไม่มีใครมาว่า


กล่องใส่เซ๊ยมซีจะไม่เหมือนของบ้านเราที่เป็นกระบอก เห็นเซียมซีหมดทุกอัน แต่ของญี่ปุ่นจะเป็นกล่องโลหะรูปหกเหลี่ยมปิดหมด ยกเว้นรูที่จะให้ติ้วหล่นออกมาได้เท่านั้น


เมื่ออ่านคำทำนายจากในเซียมซีแล้ว คนญี่ปุ่นจะไม่เอาใบเซียมซีออกจากวัด แต่จะเอาไปผูกไว้ที่ราวที่วัดจัดเตรียมไว้ให้


หลังจากที่ดูเขาเสี่ยงเซียมซีกันไปแล้ว ก็ให้หวนกลับไปคิดถึงปรัชญาแห่งการอยากรู้อนาคต สงสัยเหมือนกันว่ามีใครจะเชื่อการทำนายจากใบเซียมซีอย่างเอาเป็นเอาตายหรือเปล่า จะมีการจัดลำดับความแม่นยำของเซียมซีไหมว่าวัดไหนขลังที่สุด ผู้เขียนเคยอ่านใบเซียมซีของบ้านเรามาบ้าง ส่วนใหญ่เป็นคำกลอน แต่ละคนก็แปลกันไปต่าง ๆ นานาตามแต่พื้นฐานชีวิตของพวกเขา ถ้ามีศรัทธามากก็จะตีความให้ตรงกับตัวเองเสมอ แต่ถ้าไม่ศรัทธาก็จะตีความอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า??

เจอต้นตอแห่งผ้าถักคลุมเบาะรถยนต์แล้ว

ผู้เขียนเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่ารถยนต์ในประเทศไทยมักจะมีผ้าถักลายลูกไม้มาคลุมเบาะเอาไว้ ตอนเด็ก ๆ ผ้าลูกไม้คลุมเบาะได้รับความนิยมสูงมาก แต่มาในปัจจุบัน ใครทำกลายเป็นเชย เป็นรถคุณป้า ก็เลยให้เกิดความสงสัยว่า เราไปเอาวัฒนธรรมการคลุมเบาะด้วยผ้าถักลายลูกไม้มาจากไหน


แล้วผู้เขียนก็ไปพบที่ประเทศญี่ปุ่น มีอยู่ในรถแท็กซึ่ทุกคัน ย้ำว่าทุกคันที่ผู้เขียนพบเห็น ไม่มีคันไหนเลยที่จะไม่มีผ้าคลุมเบาะลูกไม้ถัก คนไทยที่เคยค้าขายกับญี่ปุ่นมาหลายสิบปีบอกว่า เมื่อก่อนจะได้รับของขวัญจากคนญ๊่ปุ่นเป็นผ้าคลุมเบาะลูกไม้ถักทั้งชุด ให้เป็นของขวัญมาพร้อมกับการออกรถใหม่เลยหละ น่าคิดต่อจากนั้นว่า คนที่ยังใช้ผ้าคลุมเบาะแบบนี้ในปัจจุบัน จะรู้ไหมว่าเขาเอาวิธีแบบนี้มาจากญ๊่ปุ่น

วิถีญี่ปุ่น

ผู้เขียนโชคดีที่ได้ไปถึงญี่ปุ่นพอดีตอนเช้าวันธรรมดา ก็เลยเห็นวิถีของเขาในช่วงเช้า จะพบผู้คนในชุดทำงานเดินกันอย่างรวดเร็วเต็มทางเท้าไปหมด แม้แต่คนพิการที่ถือไม้เท้าก็ยังเดินเร็ว คนพิการนั่งรถเข็นก็ยังเข็นรถตัวเองเร็ว มีคนพิการประเภทเดียวที่ยังเคลื่อนที่ช้า ก็คือคนตาบอด สังเกตได้ว่าผู้ชายส่วนใหญ่จะใส่สูทสีเข้มไปทำงาน ซึ่งก็คงเป็นพวกพนักงานสำนักงาน ก็ให้เกิดความสงสัยว่า แล้วพวกที่มีเครื่องแบบทำงานที่ไม่ใช่สูท เช่น พนักงานเสริฟ พนักงานโรงแรม พ่อครัว ที่ต้องมีชุดทำงานที่ไม่ใช่สูทสีเข้ม คนกลุ่มนี้เขาใส่ชุดอะไรไปทำงาน เพราะไม่เห็นคนสวมชุดพวกนี้เดินอยู่บนถนนเลย


ตามประสาคนขี้สงสัย ก็เลยถามเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นนานพอที่จะรู้วัฒนธรรมของเขาเป็นอย่างดี ได้คำตอบที่น่าทึ่งว่า ทุกคนไม่ว่าจะต้องใส่ชุดเฉพาะทำงาน จะเดินทางไปทำงานด้วยสูทสีเข้มเสมอ แล้วไปเปลี่ยนชุดปฏิบัติงานที่ล็อกเกอร์ของบริษัท เพราะเมื่อเข้าสู่ตลาดงาน ทุกคนต้องมีวิถีแบบเดียวกัน และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ บริษัทจะห้ามใส่ชุดบริษัทนอกที่ทำงานโดยเด็ดขาด เนื่องจากวิถีของญี่ปุ่น พนักงานทุกคนคือสัญญลักษณ์ของบริษัท ดังนั้น ถ้าคุณไปทำอะไรไม่ดีที่ไหน จะมีผลเสียมาถึงบริษัทด้วย แม้แต่การพูดคุยกันของพนักงานบริษัทเดียวกัน แต่คุยกันในที่สาธารณะ เช่นบนรถไฟใต้ดิน จะมีรหัสที่กล่าวถึงบริษัทตนเอง โดยไม่ออกชื่อให้คนอื่นรับรู้ได้ และรหัสนั้นจะรู้กันเฉพาะคนในบริษัทเท่านั้น นี่คือวิถีแห่งการสร้างและรักษาภาพพจน์ของบริษัทที่น่าสนใจ และถ่ายทอดมาจากวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง