Monday, February 25, 2008

"ทำบุญ ๙ วัด" ในช่วงเทศกาล เรื่องที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย

กระแสการทำบุญในช่วงเทศกาลต่าง ๆ กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หลายจังหวัด หลายภูมิภาค พยายามส่งเสริมและโฆษณาการทำบุญในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและจิตใจของบุคคล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มี ๙ วัดที่อยู่ในโปรโมชั่นนี้ ได้แก่ ๑.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ๒.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ๓.ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ๔.วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ๕.ศาลเจ้าพ่อเสือ ๖.วัดระฆังโฆสิตาราม ๗.วัดสุทัศนเทพวราราม ๘.วัดชนะสงคราม และ ๙.วัดกัลยาณมิตร ซึ่งผู้คนนิยมเดินทางกันไปทำบุญให้ครบทั้ง ๙ วัดภายใน ๑ วัน โปรโมชั่นแบบเดียวกันนี้ ในบางจังหวัด ได้มีการจัดทำบัตรและตราประทับไปไว้ตามวัดต่าง ๆ ในเครือข่าย เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้ประทับตราให้ครบเพื่อเอาไว้อวดคนอื่นหรือเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ได้

ถ้าพิจารณาโปรโมชั่น "ทำบุญ ๙ วัด" แค่ประเด็นของการทำบุญและการพัฒนาจิตใจอย่างเดียว ก็คงจะเป็นโปรโมชั่นที่ดี น่าสนับสนุน แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบภายนอก (Externalities) ของโปรโมชั่นนี้อาจจะต้องคิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัยทางการจราจร เพราะการทำบุญให้ครบ ๙ วัด ใน ๑ วัน ก่อให้เกิดการเดินทางแบบเร่งด่วนจำนวนมาก ในวันที่มีรูปแบบการเดินทางพิเศษ คือการเดินทางในวันหยุด และในบางเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือ สงกรานต์ จะมีผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาเหล้า และผู้ไปทำบุญเองส่วนใหญ่ก็ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางอาจมีการเข้าช่องผิด หยุดกระทันหัน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงอุบัติเหตุมากกว่าการเดินทางปกติ แถมยังต้องรีบเร่งให้ทำบุญได้ครบใน ๑ วัน ไม่งั้นโปรโมชั่นหมด จะไม่ได้บุญเสียเปล่า ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาคอยจัดการการจราจรให้บริเวณใกล้เคียงกับวัดเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่วันหยุดเทศกาลก็งานยุ่งมากอยู่แล้ว ผลกระทบภายนอกเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงเท่าไหร่ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากค่าทำบุญ ค่าจอดรถ ค่าพลังงาน ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก ก็ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงชีวิตและทรัพย์สินต่อไป ทำบุญเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ เสี่ยงชีวิตก็ช่างมันของให้ฉันได้ขึ้นสวรรค์ด้วยการทำบุญ ๙ วัดใน ๑ วันก็พอแล้ว

ปัญหาลิขสิทธิ์กับหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย


เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) ผู้เขียนได้พบภาพถ่ายที่เอามาโพสลงในบล็อกนี้ ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน โดยที่ไม่มีการติดต่อขออนุญาตใด ๆ จากผู้เขียนเลย ผู้เขียนจึงส่งอีเมล์ไปหาบรรณาธิการมติชน ดังนี้

เรียนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและคุณสาโรจน์ มณีรัตน์

ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ หน้า ๒๐ คอลัมน์ "ความคิดที่ออกแบบได้" เรื่อง "มุมที่แตกต่าง" โดยสาโรจน์ มณีรัตน์
ได้มีการตีพิมพ์ภาพประกอบบทความดังกล่าว เป็นภาพของคนกำลังขึ้นรถเมล์บริเวณถนนสีลม และหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ไปตามปกติ

ข้าพเจ้า เจ้าของเวปบล็อก http://citycritics.blogspot.com เป็นเจ้าของภาพถ่ายนั้น โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ถ่ายภาพนั้นด้วยตนเอง
และได้โพสภาพดังกล่าว และเขียนข้อความประกอบลงในบล็อกของข้าพเจ้าที่ http://citycritics.blogspot.com/2007/02/blog-post_3135.html เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
แต่ปรากฏว่า ข้าพเจ้ามิได้รับการติดต่อใด ๆ ทั้งสิ้นจากสำนักพิมพ์มติชนหรือผู้เขียนคอลัมน์ดังกล่าวเพื่อขออนุญาตนำภาพถ่ายของข้าพเจ้าไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของท่าน
จึงขอให้ผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวได้ติดต่อข้าพเจ้าเพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยด่วน


และที่ผู้เขียนได้รับตอบกลับมาก็คือ

เรียน เจ้าของเวปบล็อก http://citycritics.blogspot.com เจ้าของภาพป้ายรถเมล์

ต้องเรียนขอโทษด้วยที่ได้นำภาพมาลงโดยมิได้อ้างอิงแหล่งที่มา
กองบรรณาธิการ มติชน จะลงชี้แจงแหล่งที่มาของภาพอีกครั้งในหน้าวันอาทิตย์ฉบับวันที่ 24
กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 20

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
บรรณาธิการข่าว มติชน


แต่ในความเห็นของผู้เขียน มันไม่ใช่แค่การเอาภาพไปใช้โดยไม่อ้างอิง แต่เป็นการนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ จึงตอบกลับไปดังนี้

เรียนบรรณาธิการข่าวมติชน

ตามที่ท่านได้ส่งอีเมล์ขออภัยและชี้แจงเหตุผลมานั้น
ผมคิดว่าควรจะมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการสัญญาว่าจะลงที่มาให้เท่านั้น
เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่แค่การนำภาพไปลงโดยไม่ได้อ้างแหล่งที่มา
แต่ผมเข้าใจว่า มันเป็นประเด็นเรื่อง มติชนรายวัน ได้ใช้ภาพของผมไป "เพื่อการพาณิชย์"
และเป็นการนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนการนำไปใช้ในการหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
จึงควรมีการชี้แจงและเจรจากันในรายละเอียดมากกว่าการลงแหล่งที่มา

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

เจ้าของเวปบล็อก http://citycritics.blogspot.com


อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้เขียนก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด ไม่มีการตอบกลับอีเมล์ใด ๆ ทั้งสิ้น และหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ หน้า ๒๐ มุมขวาล่างสุด ก็มีข้อความในกรอบเล็ก ๆ เขียนไว้ว่า

"ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 คอลัมน์ "ความคิดออกแบบได้" ได้นำเสนอรูปคนกำลังขึ้นรถเมล์ ซึ่งได้นำมาจากเวบบล็อก http://citycritics.blogspot.com ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ทางเจ้าของคอลัมน์ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย"

ในความรู้สึกของผู้เขียน ยังตะขิดตะขวงใจอยู่มาก เนื่องจากหนังสือพิมพ์มติชนก็ยังไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนอยู่ดี การเขียนข้อความขออภัยเป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข หนังสือพิมพ์ก็ควรแบกรับต้นทุนในการหารูปถ่ายของตนเอง อาจจะมีคลังภาพ หรือศูนย์ข้อมูลที่มีการคำนึงถึงลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง ไม่ใช่หารูปเอาจากเสริขเอนจิ้น แล้วถ้าเจ้าของเขาไม่เจอก็แล้วไป ถ้าเจอเข้าก็แค่เขียนขออภัยเท่านั้นหรือ ผู้เขียนควรจะทำอย่างไรต่อไปดี