Sunday, May 27, 2007

หัวดับเพลิงหายไปไหน ??

ตามกฎหมายควบคุมอาคาร อาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะจะต้องมีน้ำดับเพลิงสำรองอย่างเพียงพอ และต้องมีหัวจ่ายน้ำดับเพลิงที่อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นและเข้าถึงง่าย ห้ามมีวัสดุหรือสถาปัตยกรรมใด ๆ มากีดขวางการเข้าถึง เพื่อให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ จะต้องสามารถเข้าถึงและใช้งานหัวจ่ายน้ำดับเพลิงได้อย่างสะดวก


แต่ที่อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ self-proclaimed ว่าตนเองเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่ทำตามกฎแห่งความปลอดภัยเสียเอง ด้วยการปล่อยปละละเลยให้นักศึกษาของคณะนี้เอาแผ่นไม้มาวางขวางหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องมาเสียเวลาย้ายไม้เหล่านั้นออกเสียก่อน จึงจะมีน้ำสำหรับดับเพลิงได้ ท่านอาจจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย จะเสียเวลาสักเท่าไหร่กันที่จะเอาไม้ไม่กี่แผ่นออก แต่ทราบกันหรือไม่ว่าการดับเพลิงในอาคารขนาดใหญ่ เขานับกันเป็นวินาทีเลยนะ เพราะเวลาที่ผ่านไปทุกวินาที เพลิงไหม้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ดับยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน (มาตรฐานต่างประเทศกำหนดไว้ว่า ทุกพื้นที่ในเมืองจะต้องเข้าถึงได้ด้วยรถดับเพลิงในเวลาไม่เกิน 480 วินาที)

เขามานั่งอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

ความปลอดภัยของเมือง ไม่ใช่อยู่แค่กับโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความปลอดภัยในชีวิต สภาพจิตใจ และทรัพย์สินของพลเมืองอีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีการแยกเอาคนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นออกจากสังคมปกติ เช่น อาชญากร และคนที่สติไม่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ขึ้นมาได้โดยไม่คาดคิด

แต่สำหรับประเทศไทย ที่คนไทยมีความเอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี โดยเฉพาะกับคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราจึงพบเห็นภาพของคนที่สติไม่ดีเดินอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นปัญหาในแง่ของความปลอดภัยทั้งกับตัวของคนที่สติไม่ดีนั้นเองและกับผู้อื่น เช่น เขาอาจคุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น หรืออยู่ ๆ ก็กระโจนลงมาบนถนน ทำให้รถต้องหักหลบแล้วเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้อื่น ซึ่งคนเหล่านี้ตามกฎของสังคมแล้วควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบปล่อยปละละเลยให้เขามาเดินอยู่บนถนน แล้วพอวันหนึ่งเกิดเหตุร้ายขึ้นก็ค่อยมาล้อมคอกกันทีหลัง

สัญลักษณ์อย่างเดียวคงไม่พอ

สัญลักษณ์การจราจรนับเป็นภาษาหนึ่งที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ใช้เส้นทาง ไม่ว่าจะเดินเท้า ขี่จักรยาน หรือรถยนต์ จะเข้าใจในแบบเดียวกัน เช่น สัญญาณไฟแดงแปลว่าหยุด การทาสีขาวแดงที่ขอบทางเท้าแปลว่าห้ามจอด เป็นต้น แต่มีหลาย ๆ สถานการณ์ที่มีสัญลักษณ์แล้วก็ยังไม่เข้าใจ จึงต้องมีข้อความระบุเอาไว้ด้วย เช่น ป้ายห้ามเลี้ยวขวา ในบางที่ที่มีการฝ่าฝืนกันบ่อย ๆ ก็จะต้องมีสัญลักษณ์ลูกศรเลี้ยวขวาและมีเส้นสีทำคาดทับ แถมด้วยข้อความว่า "ห้ามเลี้ยวขวา" อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ที่ท้ายรถประจำทางในเมืองนครปฐม สัญลักษณ์ไฟเบรคอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้รถเมล์คันนี้รอดพ้นจากการโดนชนท้าย เขาเลยต้องเอาข้อความมาติดเอาไว้ว่า "ระวังรถเมล์เบรค" ด้วย

ถนนแสนสะอาด

ถนนที่ดีและปลอดภัยจะต้องปราศจากเศษขยะขนาดใหญ่อยู่บนพื้นผิวการจราจร เพราะการที่รถวิ่งทับเศษขยะเหล่านั้นอาจทำให้รถยางแตก หรือเสียหลักได้ ผู้ขับขี่ยานพาหนะก็รู้ถึงปัญหานี้ ก็เลยพยายามหลีกเลี่ยงการขับรถทับขยะที่อยู่บนถนน ซึ่งถ้าเป็นถนนที่มีการสัญจรด้วยความเร็วสูง ก็จะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเนื่องจากมียานพาหนะเปลี่ยนช่องทางอย่างกระทันหัน เพื่อหลบขยะบนถนน

ภาพนี้ถ่ายตอนชั่วโมงเร่งด่วนเช้าบนถนนราชพฤกษ์ บนช่องทางขาออกมีขยะอยู่เต็มถนน แถมยังอยู่ในช่วงทางลงสะพานซึ่งรถมีความเร็วสูงและควบคุมรถลำบากอยู่แล้วด้วย แสดงว่าจะต้องมีรถขนขยะไม่รู้ว่าเป็นของรัฐหรือเอกชนทำถุงขยะขนาดใหญ่ตกลงบนถนนและแตกกระจายออก จึงมีขยะกระจายอยู่ทั่วทั้งถนน ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกรุงเทพฯ เสียแล้ว

Saturday, May 26, 2007

สุวรรณภูมิจากหอบังคับการบิน

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้อาศัยใบบุญของคนอื่นเขา ร่วมขบวนขึ้นไปเยี่ยมชมหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลกของสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เลยได้ภาพมาเก็บบันทึกไว้เป็นหลักฐาน





น่าสังเกตว่า การพัฒนาเมืองได้เข้ามาติดขอบรั้วของสุวรรณภูมิแล้วหละ ทำให้เกิดปัญหาด้านเสียงรบกวนจากเครื่องบิน รวมไปถึงความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางการบิน ที่มักเกิดขึ้นระหว่างการขึ้นลงของเครื่องบินอีกด้วย ตอนนี้ก็มีการประท้วงเรืองเสียงรบกวนกับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ กันให้วุ่นวายไปหมด ในฐานประชาชนผู้เสียภาษีคนหนึ่ง มีความเห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียงต้องได้รับการชดเชย แต่ไม่ใช่หน้าที่ของการท่าอากาศยานจะต้องมาจ่ายให้ แล้วมาเก็บภาษีสนามบินกับคนอื่น ๆ แพงขึ้น แต่ให้ไปเก็บกับคนที่อนุมัติให้บ้านจัดสรรเหล่านั้นสร้างได้ รวมถึงเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรที่กอบโกยผลประโยชน์ไปเรียบร้อยแล้วด้วย

ทำไมจอดติดไฟแดงจึงต้องใส่เบรคมือ

ใครที่ขับรถยนต์ส่วนตัวในกรุงเทพฯ คงสังเกตได้ว่า เวลาที่รถของท่านติดไฟแดง ท่านจะต้องใส่เบรคมืออยู่เสมอ ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ทำไมสี่แยกของเราจึงต้องมีความลาดด้วยล่ะ เคยขับรถมาหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่เมืองของเขามีความแตกต่างของระดับอยู่เยอะ ไม่ได้อยู่บนที่ราบอย่างกรุงเทพฯ ผู้ขับขี่ก็ยังไม่ต้องใส่เบรคมือเลย เพราะหลักการออกแบบทางร่วมทางแยกที่ถูกต้อง ก็คือต้องให้อยู่บริเวณที่ราบ เพราะการเข้าสู่จุดตัดถ้ามีความลาดชันมาเป็นตัวเร่งความเร็วและอุปสรรคในการมองเห็น ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าทางราบ แต่กรุงเทพฯ อยู่บนที่ราบแท้ ๆ กลับต้องใส่เบรคมือ อีกทั้งเบรคมือควรจะใช้เมื่อยามฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่กันพร่ำเพรื่อทุกสี่แยก (ในภาษาเยอรมัน คำว่า เบรคมือ คือ Notbremsen แปลตรงตัวว่าเบรคฉุกเฉิน Not = ฉุกเฉิน Bremsen = เบรค)

ผู้รู้ท่านหนึ่ง ให้ความกระจ่างกับผู้เขียนว่า ที่สี่แยกต้องมีระดับสูงกว่าถนนทั่วไป ก็เพราะเป็นการป้องกันน้ำท่วมสี่แยก คือ สี่แยกห้ามน้ำท่วม ถนนอื่น ๆ ที่เข้าสู่สี่แยกจะน้ำท่วมก็ช่างมัน ดังนั้นถ้าคนเดินเท้าจะข้ามถนนเวลาที่น้ำท่วม ขอให้ไปข้ามตรงสี่แยก ที่จะปลอดภัยจากน้ำท่วม

ป้ายรถเมล์ที่แสนสดวกสบาย

ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่าง ๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากมีปริมาณรถมากเกินกว่าที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรจะรองรับได้ ทำให้เกิดการจราจรติดขัดไปทั่วทั้งเมือง และมาตรการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ก็คือการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน เพราะเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว แต่การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนไม่ใช่สักแต่ว่าให้มียานพาหนะมารองรับเท่านั้น แต่ต้องจัดการบริการให้มีประสิทธิภาพและความสะดวกสบายเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงเอาผู้ที่ใชรถยนต์ส่วนตัวอยู่ให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและความสะดวกสบายในระดับพอสมควร ไม่เพียงแต่ตัวของยานพาหนะเท่านั้น แต่หมายรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น ป้ายรถเมล์ เป็นต้น

แต่ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เหมือนกับว่า "สักแต่ว่ามี" และถูกพิจารณาว่าเป็นการเดินทางสำหรับคนฐานะต่ำ ทำให้มีการให้บริการแบบขอไปที ดูอย่างป้ายรถเมล์บริเวณโบ๊เบ๊ ป้ายนี้ไม่มีร่มเงาให้กับผู้โดยสารแต่อย่างใด เคราะห์ดีที่ได้อานิสงส์จากร้านค้าตรงนั้นมาทำกันสาดผ้าใบให้ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ทำขึ้นเพื่อกันแดดเข้าร้านตัวเองเท่านั้น ผู้โดยสารจึงต้องยืนให้ติดกับตัวอาคารที่สุด เพื่อให้หัวได้ร่มเงาเท่านั้น แถมบนทางเท้าก็ยังมีตู้โทรศัพท์สาธารณะมาขวางทางอีกด้วย ทำให้คนเดินผ่านไปผ่านมาตรงนี้ ต้องหนีไปเดินบนพื้นผิวจราจรเสียเลย แล้วอย่างนี้ จะมาแข่งขันกับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้อย่างไร

กรุงเทพฯ แดนมิคสัญญี

หลายวันก่อน ได้นั่งลงคุยกับสารวัตรจราจรของสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สิ่งที่จับได้จากบทสนทนานั้น คือความอึดอัดใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เพราะการจับกุมยานพาหนะคันใดคันหนึ่ง ทำให้การจราจรติดขัดขึ้นมาทันที แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะโดนประชาชนด่า ว่าแค่นี้ปล่อยไปเหอะ รถจะได้ไม่ติด สิ่งที่ท่านสารวัตรโอดครวญคือ ตำรวจจราจรน่ะทำตามกฎหมายก็ถูกด่า ว่าเข้มงวดเกินไป หรือจ้องจะเอาเงินค่าปรับ แต่ถ้าไม่จับกุมก็โดนด่าอีก เขาบอกว่า ทำอะไรลำบากเหลือเกิน เพราะ "ตำรวจมีต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว"

ภาพนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับตอนชั่วโมงเร่งด่วน สังเกตที่สัญญาณไฟแดงด้านบนขวาของภาพ แล้วมามองด้านซ้ายของภาพ เห็นได้ว่าจักรยานยนต์ฝ่าไฟแดงอย่างหน้าตาเฉย มีคันหนึ่งผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกกันน็อกเสียด้วย แถมยังขับผ่านป้อมตำรวจประจำสามแยกนี้ได้อย่างสบาย นี่เป็นต้นเหตุและจุดเริ่มของอาชญากรรมต่าง ๆ ที่ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะในการประกอบอาชญากรรม เพราะโจรผู้ร้ายเห็นช่องว่าจักรยานยนต์ทำอะไรก็ได้ ตำรวจเห็นก็ขี้เกียจที่จะจับ

Friday, May 25, 2007

ขออภัยที่ไม่ค่อยได้อัพเดท

ขออภัยทุกท่านที่พยายามเข้ามาดูบ่อย ๆ และคาดหวังว่าจะมีอะไรใหม่ให้อ่านเล่นกันบ้าง แต่กลับไม่พบอะไรใหม่ ๆ เลย
ตอนนี้ ผมงานยุ่งมากมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ไม่ได้อัพเดทบล็อกนี้
ได้ไปประชุมหลาย ๆ ที่ ถ่ายรูปเก็บไว้จำนวนหนึ่ง มีเรื่องให้เขียนอีกมาก
พอกลับบ้านไปโหลดรูปลงคอมที่บ้าน บล็อกนี้ดันเข้าจากที่บ้านไม่ได้เลย
แต่ที่ทำงานเข้าได้ตามปกติ ทำให้ไม่ได้อัพเดทเอาเสียเลย
ทั้ง ๆ ที่ได้มีโอกาสขึ้นไปบนหอบังคับการบินของสนามบินสุวรรณภูมิ
มีรูปน่าสนใจมาวิพากษ์ได้อีกเยอะเลยหละ
เอาไว้แก้ปัญหาการเข้าบล็อกนี้จากที่บ้านได้แล้ว คงได้อ่านบทวิพากษ์ใหม่ ๆ กันบ้าง

ขอบคุณที่ติดตามผลงาน

ยุ่งไปหมด

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้คุยกับอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ถึงเรื่องประเด็นปัญหาการจัดการภาครัฐของประเทศไทย ว่ามีขั้นตอนมากมายทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ท่านได้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะกฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศไทย อยู่บนสมมติฐานของการจับผิด คือเริ่มต้นคิดว่าจะสร้างกฎระเบียบอย่างไรมาจับผิดคนให้ได้ดีที่สุด ผลที่ออกมาจึงมีขั้นตอนมากมายเพื่อให้สามารถจับผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎระเบียบต่าง ๆ จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่กลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน

แล้วก็เลยพาดพิงไปถึงอีกเรื่อง คือความซ้ำซ้อนกันของการทำงาน งานอย่างเดียวกัน แต่มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนั้นหลายหน่วยงาน จนไม่รู้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหนของงานนั้น ๆ แกเลยอ้างถึงงานวิจัยของชาวต่างชาติ ที่มีศึกษาเกี่ยวกับระบบราชการไทย และพบว่า แค่การจัดการกับนกเป็ดน้ำหนึ่งตัว ต้องเกี่ยวข้องกับกรมถึงสามกรม คือถ้านกเป็ดน้ำนั้นว่ายน้ำอยู่ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมง แต่ถ้านกเป็ดน้ำนั้นเดินอยู่บนบก กลายเป็นความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ ส่วนในกรณีที่นกเป็ดน้ำบินอยู่ กลายเป็นสัตว์ป่าสงวน ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ นี่แค่นกเป็ดน้ำตัวเดียว แต่ยังมีความรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องยุ่งกับหน่วยงานมากมายนี้อยู่อีกไม่รู้เท่าไหร่ในประเทศไทย สาธุ

Saturday, May 12, 2007

ผิดที่ผิดทาง

การออกแบบระบบจราจรจะต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่ชุมชนหรือบริเวณที่มีประชากรใช้พื้นที่อย่างหนาแน่นก็ควรจะมีระบบการจราจรที่มีขนาดเล็ก มีความเร็วต่ำ และไม่เป็นอันตรายต่อประชากรที่ทำกิจกรรมอยู่ใกล้เคียง แต่การออกแบบระบบจราจรในประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหลัก แต่กลับให้ความสำคัญกับความสะดวกในการสัญจร จึงเกิดความขัดแย้งกันระหว่างระบบจราจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางการจราจร

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นถนนขนาดหกช่องทางจราจรแบบมีเกาะกลางถนน และอนุญาตให้รถบรรทุกสิบล้อเข้ามาวิ่งบนถนนดังกล่าวได้ด้วย ทำให้การสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดใหญ่ มีความเร็วสูง มาใช้ถนนเส้นเดียวกับจักรยานยนต์ที่มีความเร็วต่ำ จึงเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ก็ช่างมันเหอะ ไม่เห็นมีนักศีกษามหาวิทยาลัยนี้คนไหนออกมาเรียกร้องสิทธิในความปลอดภัยนี้สักคน เขาคงพอใจที่จะได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาล หรือไปงานศพเพื่อที่วัดมากกว่า ออกมาเรียกร้องให้เหนื่อยเล่น

รถขนปลา

ผู้บริโภคทุกคนคงอยากรับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่มีความสดใหม่ ซึ่งจะมีรสชาติดีและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้ขายสัตว์น้ำจะต้องมีเทคนิคในการขนส่งสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ขายอาหาร แต่เทคนิคเหล่านั้นมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเหมาะสมเพียงใด

นี่คือรถกระบะที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับขนส่งสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค โดยมีถังน้ำสำหรับบรรจุสัตว์น้ำเป็น ๆ และมีมอเตอร์ซึ่งใช้สำหรับส่งออกซิเจนลงไปในถัง เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัตว์น้ำสด ๆ แต่เรื่องความปลอดภัยในการขับขี่คือปัญหาสำคัญ เพราะมีแรงกระทำอยู่บนรถตลอดเวลา ทั้งการเคลื่อนที่ของน้ำ และการขยับตัวจากการทำงานของมอเตอร์ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมรถ ที่ต้องการการคำนวณและออกแบบทางวิศวกรรมมารับประกันความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่สาธารณะ แต่ในประเทศไทย ความปลอดภัยนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับต้นทุนการขนส่งที่จะต้องถูกที่สุดที่จะทำได้ เพื่อให้ราคาขายของสินค้าไม่แพงนัก ก็เลยต้องเอาความปลอดภัยสาธารณะให้เป็นเรื่องยกเว้น และเรื่องของเวรกรรมของคนที่ร่วมทางกับรถคันนี้แล้วกัน

เอาหูไปนาเอาตาไปไร่

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ ดูแลและควบคุมพฤติกรรมของคนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการกระทำผิดต่อหน้าโดยไม่ได้สนใจจะเข้าจับกุม ซึ่งพบได้ตามถนนทั่วกรุงเทพฯ

ผู้เขียนถ่ายภาพนี้ที่แยกเจริญผลขณะที่กำลังติดไฟแดงอยู่ มีจักรยานยนต์รับจ้างคันหนึ่งมาติดไฟแดงอยู่ร่วมกัน ซึ่งจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีการกระทำผิดกฎหมายอยู่หลายข้อ เช่น การโดยสารถึงสามคน อีกทั้งผู้โดยสารสองคนไม่ได้สวมใส่หมวกนิรภัย พ้นจากไฟแดงนี้ไป จะเห็นว่าจักรยานยนต์คันนี้ต้องผ่านหน้าป้อมตำรวจจราจร และมีจราจรอยู่แน่นอน เพราะมีรถจักรยานยนต์ของตำรวจจราจรจอดอยู่ (ด้านขวาสุดของภาพ) ผู้เขียนถ่ายภาพนี้เอาไว้และคิดในใจว่า จักรยานยนต์ที่มีเรื่องผิดกฎหมายอยู่เต็มคันนี้ คงจะขับขี่ผ่านป้อมตำรวจไปอย่างสะดวกเป็นแน่ และผู้เขียนก็เดาไม่ผิดแต่อย่างใด สงสัยจะใกล้วันพืชมงคลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ป้อมจึงต้องรีบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เสียให้เหมาะกับเทศกาล